คตอากาศช้าง(คตสมองช้าJ)
… เป็นคตที่เกิดในตัวสัตว์อีกชนิดหนึ่ง สิ่งนี้จะเกิดอยู่ในโพรงอากาศบริเวณหัวช้าง ต้องรอจนช้างตายถึงจะเอามาได้ มีคุณทางโชคลาภอย่างสูง ช้างที่มีอากาศช้างเกิดในตัว จะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหาร ช้างอื่นจะเกรงอำนาจบารมี ต้องคอยมาแวดล้อมรับใช้ช่วยเหลือ
คตจากโพรงอากาศช้างนี้ จะเป็นก้อนแข็งเหมือนหิน ไม่ได้มีอยู่ในช้างทุกเชือก มีคุณวิเศษในตัวโดยที่ไม่ต้องปลุกเสกแล้ว หรือจะเอาไปให้พระปลุกเสกเพื่อเพิ่มพลังก็ย่อมได้ เป็นทนสิทธิ์ประเภทเดียวกันกับ เขี้ยวหมูตัน เขี้ยวเสือกลวง ราคาซื้อขายนั้น ถ้าคนที่รู้คุณค่า จะยอมสู้ราคาพอ ๆ กับซื้องาช้างงาม ๆ คู่หนึ่งเลยทีเดียว
ได้ยินมาว่าในสมัยรัชกาลที่หก มีพ่อค้าท่านหนึ่ง คุมกองเกวียนไปค้าขายทางเมืองเหนือ ระหว่างการเดินทางได้พักค้างคืนในป่าแห่งหนึ่ง บริเวณนั้นไม่ทราบว่าว่ามีช้างล้ม (ตาย) อยู่ตั้งแต่เมื่อใด เพราะเหลือแต่โครงกระดูกที่เก่ามากแล้ว
ตอนกลางดึกพ่อค้าท่านนี้ตื่นขึ้นมาใส่ฟืน เพื่อให้กองไฟลุกสว่าง จะได้ป้องกันสัตว์ร้าย เมื่อจะนอนลงใหม่ก็ได้ยินเสียงกุกกักมาจากทางโครงกระดูกช้าง ด้วยความสงสัยจึงจุดไต้ไปดู ปรากฏว่าเสียงนั้นดังมาจากกะโหลกช้าง เหมือนมีอะไรกลิ้งอยู่ข้างใน
ท่านจึงลองพลิกกะโหลกช้างขึ้นมา ก็มีของสิ่งหนึ่งสัณฐานค่อนข้างกลมคล้ายก้อนหิน มีสีขาวเหลืองเหมือนกระดูก หลุดตกลงมาจากในโพรงกะโหลก ด้วยความที่พ่อค้าผู้นี้มีประสบการณ์มาก จึงทราบว่านี่คืออากาศช้าง หรือคตในโพรงสมองช้าง
ท่านจึงเก็บเอาอากาศช้างนี้ติดตัว ทำการเซ่นด้วยหญ้าสดและน้ำ ปรากฏว่าการค้าของท่านเจริญรุ่งเรืองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ว่าขนอะไรไปขายทางเหนือ ก็ขายได้หมดสิ้นในเวลาอันรวดเร็ว
ครั้นนำเอาสินค้าของป่าจากทางเหนือลงมาขายทางใต้ ก็เป็นที่ต้องการมากจนไม่พอจำหน่าย ร่ำรวยกลายเป็นเศรษฐี ภายหลังได้รับพระราชทานตราตั้งจากในหลวงรัชกาลที่หก ให้เป็นพระยาพานทอง ส่งลูกหลานไปเรียนเมืองนอกตั้งหลายคน มีชื่อเสียงเกียรติคุณเป็นที่นับหน้าถือตาแก่คนทั่วไป.
|