วันนี้มาพูดถึงลูกอมเทียนชัยครูบาดอนตันกันสักหน่อย แต่มีหลายครั้งที่ทางร้านเคยนำเสนอไปอาจจะไม่ครอบคลุมทั้งหมด ลูกอมครูบาดอนตันจัดสร้างมีหลายชนิด(มวลสาร) แต่วันนี้ขอพูดถึงลูกอมที่ทำมาจากเทียนชัยโดยเฉพาะ
ประวัติลูกอมเทียนชัย
ลูกอมเทียนชัยครูบาดอนตันแบ่งได้2แบบคือ เทียนชัยในพิธีสร้างวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ กับเทียนชัยที่ท่านใช้ห่อเหล็กไหล
ลูกอมเทียนชัยที่เป็นเทียนชัยในพิธีสร้างวัตถุมงคลรุ่นต่างๆของครูบาดอนตัน ที่พบเห็นจะเป็นแบบเทียนชัยที่ผ่านการจุด(ขี้เทียน) สีของเทียนจะออกเหลืองเข้มๆมีปนดำเพราะผสมกับเขม่ากับไส้เทียนที่ไหม้ กับเทียนชัยที่ไม่ผ่านการจุดคือส่วนที่ไฟจุดไม่หมดที่ยังเป็นแท่งๆ สีของเทียนจะสีเหลืองใส เทียนชัยพวกนี้สมัยก่อนได้นำมาแบ่งปันกัน ชาวบ้านสมัยก่อนปั้นแจกกันเองจึงมีขนาดต่างๆ เล็กบ้างใหญ่บ้าง(แต่นิยมปั้นให้กับเท่าลูกแก้ว) บางคนที่พอมีเงินก็จะนำไปให้ช่างเลี่ยมพลาสติก(สมัยนั้นค่าเลี่ยมลูกละ1บาท) คนที่นำไปเลี่ยมพลาสติกก็อาจจะใส่เส้นเกศา ชานหมากหรืออื่นๆไว้ในลูกอม แล้วแต่ว่าใครมีอะไรก็ใส่ลงไป บางคนไม่ได้เลี่ยมพลาสติกแต่ว่าจะห่อด้วยกระดาษฟรอยสีทองแทน บางคนไม่ได้เลี่ยมพลาสติกหรือห่อหุ้มใดๆทั้งสิ้น ก็เป็นลูกอมเทียนชัยเปล่าๆก็มี
ส่วนลูกอมเทียนชัยอีกแบบคือเทียนชัยที่ครูบาดอนตันใช้ห่อเหล็กไหลไว้ เหล็กไหลตามความเชื่อนั้น เหล็กไหลจะกินนำผึ้ง เวลาได้มาจะให้เหล็กไหลอยู่กับตัว คนสมัยก่อนจะใช้ขึ้ผึ้งแท้ๆที่มาจากรังผึ่ง(ที่เรียกว่าเทียนผึ่ง)นำมาห่อเหล็กไหลไว้ ครูบาดอนตันท่านมีเหล็กไหลติดตัว ท่านยังฝนเหล็กไหลให้ลูกศิษย์นำไปผสมตอนสร้างเหรียญรุ่น1ด้วย ท่านคงได้เหล็กไหลมาสมัยที่ไปธุดงค์ ครูบาดอนตันจะใช้ขึ้ผึ้งห่อเหล็กไหลไว้ เมื่อครบ1ปีถึงจะเปลี่ยนขี้ผึ้งครั้งหนึ่ง โดยท่านจะเปลี่ยนขี้ผึ้งช่วงเดือนเมษาในวันพญาวัน ขี้ผึ้งที่ห่อเหล็กไหลนั้น คนที่ได้ไปก็จะนำไปทำลูกอมเทียนชัยเหมือนกันกับเทียนชัยในพิธี การที่จะแยกว่าลูกอมอันไหนเป็นลูกอมเทียนชัยในพิธีหรือลูกอมเทียนชัยที่ใช้ห่อเหล็กไหล อันนั้นแยกยากครับ ไม่ต้องแยกเลยเพราะมันเหมือนกันหมดครับ
วิธีดูลูกอมเทียนชัยครูบาดอนตันว่าเป็นลูกอมเทียนของครูบาดอนตันหรือไม่นั้น วิธีการดูนั้นพอจะแยกวิธีการดูจากการเลี่ยมกับจากแหล่งที่มาของลูกอม ที่ลูกศิษย์ได้เเก็บไว้เยอะๆ วิธีการดูมีดังนี้ครับ
ลูกอมเทียนชัยครูบาดอนตันที่ดูง่ายที่สุด ให้ดูชิ้นที่เลี่ยมพลาสติกมา ให้ท่านดูภาพแรกตรงร้าน ดูศิลป์การเลี่ยมนะครับเพราะบางลูกเป็นลูกอมที่ไม่ใช่เทียนชัย แต่ทางร้านนำมาให้ดูพลาสติกในเรื่องการเลี่ยม จะเห็นศิลป์2ลูกซ้ายมือ ลักษณะเลี่ยมแบบนี้จะไม่มีรอยตะไบที่เป็นยั่กๆ ศิลป์นี้จะเจอบ่อยและลูกอมจะมีขนาดเท่าลูกแก้ว ส่วนขวามือเป็นศิลป์แบบมีตะไบให้เป็นยั่กๆ
ลูกอมเทียนชัยภาพที่สองนั้น ลูกอมเทียนชัยชุดนี้เป็นของลุงกู้ หลายคนคงคุ้นชื่อเพราะผมจะกล่าวถึงบ่อย คนนี้เป็นลูกศิษย์ครูบาดอนตัน ท่านมีฐานะค่อนข้างมีอันจะกิน สมัยนั้นสามารถมีรถรับส่งครูบาดอนตันไปที่ต่างๆได้ และคลุกคลีกับครูบาดอนตันจึงได้วัตถุมงคลเก็บสะสมไว้เยอะมาก หนึ่งในนั้นที่ท่านได้มาคือเทียนชัย เมื่อท่านได้มาแล้วนำมาทำลูกอมเทียนชัยเหมือนกันคนอื่นๆ โดยลูกอมของลุงกู้นั้นสีจะออกเหลืองเข้ม(ที่พบเห็น) ข้างในบางลูกถ้าส่องดูจะมีกระดาษชิ้นเล็กๆเขียนอักขระอยู่ในเทียนชัย บางลูกก็จะมีเส้นเกศาครูบาดอนตันอยู่ข้างใน เป็นลูกอมที่ไม่มีการเลี่ยมแต่อย่างใดครับ
และแบบสุดท้าย ทางร้านไม่ได้มีรูปมาให้ชม เป็นลูกอมเทียนชัยที่ถูกห่อด้วยกระดาษฟรอยสีทอง (กระดาษฟรอยที่ใช้ปิดสิ่งของต่างๆที่เป็นเครื่องถวายวัด) ในความคิดของทางร้านนะ สมัยก่อนเมื่อได้เทียนชัยมาแล้วปั้นเป็นลูกอมแล้ว บางคนไม่มีเงินเลี่ยมเพราะค่าเลี่ยมลูกละ1บาทถือว่าแพงมาก ไม่รู้จะเอาอะไรห่อ พอดีที่วัดมักจะมีกระดาษฟรอยพวกนี้อยู่คงจะเอาหุ้มลูกอมไว้ หรือเพื่อความสวยงามก็เป็นไปได้ จะเจอลูกอมที่ห่อฟรอยเยอะมาก ลูกอมแบบนี้จะมีทั้งถูกนำไปเลี่ยมพลาสติกอีกทีและไม่ได้เลี่ยมห่อกระดาษฟรอยไว้เฉยๆก็มี
ลูกอม ที่เลี่ยมเดิมพลาสติกกับที่เป็นของลุงกู้นั้น2แบบนี้พอที่จะเช่าหากันได้ แต่ว่าต้องให้คนที่ชำนาญเคยเห็นลูกอมของจริงๆดูให้ ในความคิดของทางร้านถือว่ายังดูยาก ถ้าประกอบการได้มาจากบ้านดอนตันด้วยแบบนี้สบายได้
ส่วนลูกอมที่ห่อด้วยกระดาษฟรอยแบบนี้ถ้าได้ในพื้นที่จะชัวกว่า
ส่วนภาพที่สามที่เป็นลูกอมเทียนชัยไม่มีอะไรห่อหุ้มเลย ลูกอมแบบนี้ไม่แนะนำไปเช่าหาหรือซื้อขายเพราะไม่รู้จะอธิบายยังงั้ย แอบอ้างของครูบาดอนตันได้ แต่ถ้าได้จากคนที่ยืนยันได้หรือไปได้ชาวบ้านดอนตันหรือคนที่ได้มาจริงๆ แบ่งปันให้กันฟรีๆแบบนี้พอได้ ลักษณะแบบนี้ให้กันฟรีๆดีกว่า
แต่ว่าลูกนี้เป็นลูกอมที่อยู่ใต้ฐานพระบูชาครูบาดอนตันรุ่น1ปี2519 ที่เจ้าของนำยันต์แหนบกับชานหมากไว้ในฐานพระบูชาแล้วนำเทียนชัยมาอุดไว้ แล้วเมื่อมีขายต่อๆมือกันไป ได้มีการนำเทียนชัยออกมาปั้นแบ่งปันกัน ถ้าเห็นกับตาแบบนี้ถือว่าดี ถึงไม่สามารถดูอะไรจากตัวลูกอมได้เลย แต่ดูจากที่มาแบบนี้ได้ครับ
|