พระรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย รุ่นอัฐิหลังย่น หรือที่เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า พระครูบาหลังย่น เป็นพระเครื่องเนื้อดินเผาผสมเถ้าอัฐิครูบาเจ้าฯ อัฐิ ในที่นี้น่าจะหมายถึง ขี้เถ้ามากกว่าส่วนที่เป็นกระดูก คนล้านนาเรียกว่า เถ้าเฝ่าหรือดินเฝ่า เถ้าเฝ่าหรืออัฐิที่ใช้เป็นมวลสารสร้างพระเครื่องรุ่นนี้ได้จากบริเวณที่ตั้งเมรุชั่วคราวในงานพระราชทานเพลิงศพครูบาเจ้าศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนา ณ วัดจามเทวี ลำพูน เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ผสมกับเศษพระสกุลลำพูนป่นและมวลสารอื่นๆ การสร้างพระเครื่องรุ่งดังกล่าวนี้ มีผู้บันทึกไว้ชัดเจนว่า สร้างเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๙ จนถึงต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ถือว่าเป็นรุ่นที่ ๑ โดยมีพระครูประสาสน์สุตาคม เป็นองค์ประธานจัดสร้าง รุ่นที่ ๒ สร้างเมื่อ วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๖ และกล่าวกันว่า รุ่นที่ ๓ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยครูบาทึม พรหมเสโน รุ่นนี้ที่ใต้ฐานเจาะรูบรรจุเส้นเกศาครูบาเจ้าฯ ส่วนรุ่นสุดท้าย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ รุ่นนี้ด้านหลังจะมีชื่อวัดจามเทวีประทับเป็นเครื่องหมาย ลักษณะของพระรุ่นอัฐิหลังย่นนี้ทุกรุ่นมีขนาดใกล้เคียงกันเท่ากัน มีหลายสี เช่น สีเขียว สีดำ สีแดง สีเหลือง สีอมเทา สีขาว องค์ที่สีเข้มมักจะมีขนาดย่อมกว่า และพบจำนวนน้อยกว่า มีรูปครูบาเจ้าศรีวิชัยนั่งขัดสมาธิเต็มองค์ เห็นลูกประคำ ผ้ารัดอก บางองค์เห็นใบหน้าชัดเจน ด้านหลังองค์พระตกแต่งให้ดินพูนพองาม เนื้อดินมีลักษณะเหี่ยวย่นคล้ายผิวหนังคนมีอายุ จึงได้ชื่อว่า รุ่นหลังย่น เนื่องจากเป็นพระเครื่องเนื้อดินเผาสายสกุลลำพูนวิธีการคัดสรรเนื้อดินจึงได้เนื้อพระที่มีวรรณะไม่ต่างจากพระสกุลลำพูนโดยทั่วไป โดยเฉพาะพระอัฐิหลังย่นรุ่นแรกๆ ดูจะพิถีพิถันเป็นพิเศษ จุดประสงค์การสร้างพระครูบาเจ้าฯ รุ่นนี้ กล่าวกันว่าเพื่อหาทุนสร้างกู่ธาตุที่บรรจุอัฐิธาตุครูบาเจ้าฯ ในที่ต่างๆ ธุเจ้าเอาพระเครื่องใส่พานไว้กลางวิหาร วัดจามเทวี ใครต้องการเช่าบูชาก็หยอดเงินในตู้ องค์ละ ๕๐ สตางค์ หรือ ๑ บาท ตามกุศลเจตนา พอพระเครื่องใกล้จะหมดก็สร้างขึ้นอีกตามเวลาที่กล่าวข้างต้น ด้วยว่าพระเครื่องรุ่นนี้ มีส่วนผสมสำคัญคือเถ้าอัฐิของครูบาเจ้าฯ ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ในตัวอยู่แล้ว เช่นเดียวกับพระเกศาครูบาเจ้าศรีวิชัยที่มีความศักดิ์สิทธิ์และน่าสะสม บูชา เป็นยิ่งนัก
|