ครูบาแก้ว อินทจักโก
อดีตเจ้าอาวาสวัดเขื่อนคำลือ ต.เวียงทอง อ.สูงเม่น จ.แพร่
ครูบาแก้ว อินทจกโก เดิมชื่อ นายแก้ว นามสกุล ธรรสุข นามบิดาชื่อนายใจขาว มารดาชื่อนางน้าว ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๘ เมื่ออายุครบบวชได้เข้าสู่ร่มกาสาวพักตร์ ณ พัทธสีมา วัดฝั่งหมิ่น อ. สูงเม่น จ. แพร่ โดยมีพระครู นิวิฐศรัทธาคุณ วัดร่องกาศ เป็นอุปัชฌาย์ พระพรหม พรหมจกโก วัดร่องกาศเป็นกรรมวาจารย์ ให้นามฉายาว่า " อินทจกโก"
เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้จำพรรษา ณ วัดฝั่งหมิ่นมาโดยตลอด จนได้เป็นเจ้าอาวาสวัดฝั่งหมิ่นมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเขื่อนคำลือ
เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ท่านมีความรู้ และความชำนาญทางการสร้าง การเขียนรูปภาพต่าง ๆเป็นอย่างดี ตลอดเวลาท่านได้อบรมสั่งสอนศรัทธาประชาชน ทายกทายิกา อยู่เสมอ จะเห็นได้ว่าแม้ในพรรษา จะมีศรัทธาชาวบ้านมาทำบุญกันเป็นประจำทุกวันมิได้ขาด ผลงานของท่านที่ปรากฎคือสร้างพระอุโบสถ ๑ หลัง กุฎิ ๒ หลัง หอไตร ๑ หลัง หอกอง ๑ หลัง ศาลาการเปรียญ ๑ หลัง หอฉัน ๑ หลัง และกุฎิเล็กอีก ๒ หลังโดยกุฏิเล็ก ๒ หลังท้าย ท่านได้สละทรัพย์ส่วนตัวของท่านเองเป็นส่วนใหญ่ และยังได้ดำริสร้างกำแพงรอบวัดด้วย ส่วนพื้นที่ในบริเวณวัด เดิมไม่สม่ำเสมอท่านได้สละทรัพย์ส่วนตัวท่านจ้างรถเกรดปรับระดับพื้นที่บริเวณวัดจนเสร็จเรียบร้อย เมื่อปี ๒๕๒๒ และได้ผุกพัทธสีมา เพื่อจะได้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของสงฆ์ และเป็นสถานที่อุปสมบทกุลบุตรของศรัทธาทั่วไปอีกด้วย
ในสมัยที่ครูบายังหนุ่มอยู่นั้น ท่านเป็นคนชอบศึกษาในวิชาไสยศาสตร์โดยไปขอฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง ในสมัยที่ครูบามาบูรณะพระธาตุช่อแฮ และได้ตำราลงทอง ๑๐๘ แผ่นมา และต่อมาได้เข้าฝากตัวเป็นลูกศิษย์ กับครูบา สุรินทร์ สิรินโท วัดน้ำอ่าง จ.อุตรดิตถ์ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ครูบาคันธา คนธาโร วัดโพธิสุนทร เพื่อศึกษาวิชาอยู่ยงคงกระพันและการลงตระกรุด และผ้ายันย์ต่างๆ ได้ไปศึกษาวิชาปั้นพระหล่อพระเขียนรูปภาพวิชาโหราศาสตร์จากครูบาชัยลังกา วัดพระหลวง อ. สูงเม่น จ. แพร่ ท่านเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดแพร่ มีพลังจิตสูง พร้อมด้วยความรู้ทางด้านไสยศาสตร์เป็นเยี่ยมจนได้รับอาราธนาให้ไปร่วมพิธีพุทธาภิเษกกับเกจิอาจารย์อื่น ๆ ในต่างจังหวัดบ่อยครั้ง
ด้านการสร้างวัตถุมงคลของครูบาแก้ว อินทจกโก นั้นได้สร้างขึ้นไม่มากนักจะ เด่นดีทางด้านเมตตามหานิยมแคล้วคลาด มหาอำนาจ เสริมวาสนา หน้าที่การงานก้าวหน้าเยี่ยมยอด
รุ่นแรกปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เหรียญรูปเหมือนแปดเหลี่ยมสร้าง ๒๐๐๐ เหรียญ
รุ่นที่สองในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ (รุ่นแก้วสารพัดนึก) มีทั้งมหาฤาษี หนุมานแผลงฤทธิ์และเหรียญรูปไข่ พิธีมหาพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘
รายละเอียดจำนวนการสร้าง
๑. มหาฤาษี จัดสร้างจำนวน ๙๙๙ องค์ ตอกเลขเรียงลำดับ ๑ - ๙๙๙
๒. เหรียญรูปไข่ครูบาแก้ว อินทจากโก
. เนื้อเงิน สร้างจำนวน ๙๙๙ องค์ ตอกเลขเรียงลำดับ
. เนื้อนวโลหะสร้างจำนวน ๑๙๙๙ องค์ ตอกเลขเรียงลำดับ
.เนื้อทองแดง กะไหล่ทองสร้างจำนวน ๔๙๙๙ องค์ตอกเลขเรียงลำดับ
. เนื้อทองแดงสร้างจำนวน ๕๙๙๙ องค์ตอกเลขเรียงลำดับ
๓. หนุมานแผลงฤทธิ์สร้างขึ้น ๒ เนื้อเท่านั้นคือ
. เนื้อเงิน สร้างจำนวน ๒๙๙ องค์
. เนื้อนวโลหะสร้างจำนวน ๙๙๙ องค์
รุ่นที่สาม ในปีพ.ศ.๒๕๒๒ รุ่นผูกพัทธสีมา วัดเขื่อนคำลือ สร้างน้อยหาชมยากมากเป็นเหรียญรุ่นสุดท้ายของหลวงพ่อลูกศิษย์เก็บหมด ประสบการณ์เยี่ยมยอดอีกรุ่น หลวงพ่อท่านได้ละสังขารเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ปีพ.ศ. ๒๕๒๙ สิริรวมอายุได้ ๘๑ ปี พรรษา ๖๒
พญาไม้แพร่
|