มีสาวญี่ปุ่นทำงานเกี่ยวกับหนังสือแนะนำข้อมูลของเชียงใหม่ให้นักเดินทางและชาวญี่ปุ่นที่พำนักในเชียงใหม่ หลังจากทำงานอยู่พักหนึ่งพบว่าเธอสนใจในเรื่องราวของล้านนาลึกซึ้งกว่าคนเชียงใหม่หลายคน เธอเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับเครื่องเขิน ช่วงที่มาขอถ่ายรูป
เธอถามว่า “ทำไมถึงสนใจเครื่องเขิน
และเสน่ห์มันอยู่ตรงไหน?” นั่งงงคิดหาคำตอบที่ดีพอสำหรับคำถามนี้แล้วพอจะสรุปตามความเห็นส่วนตัวได้ดังนี้
เนื่องมาจากการได้อาศัยหาเลี้ยงชีพ
ในที่สุดก็เห็นว่าเครื่องเขินนั้นเกี่ยวข้องกับมิติกาลเวลา
การใช้ปัญญาประดิษฐ์สิ่งของมารองรับประโยชน์ใช้สอยทั้งในชีวิตประจำวันและรับใช้ด้านศาสนา
สอดแทรกสภาพความเป็นไปทางสังคมจึงมีเรื่องราวให้คิดค้นหาคำตอบและจินตนาการได้กว้างขวางน่าสนใจ
เสน่ห์ของเครื่องเขิน
1. มีความงามได้ในสภาพแสงที่ต่างกัน อย่าลืมว่าสมัยก่อนแสงที่มีใต้ชายคาคือแสงสลัวๆจากภายนอก แม้จะมีเทียน
ตะเกียงก็ไม่ได้จุดกันสวางไสวพร่ำเพรื่อ เครื่องเขินที่ประณีต ไม่จำเป็นต้องมีลวดลายละเอียดยิบ แต่ความงามของชาดแดง
แต้มทองที่พอเหมาะจะงามเรื่อเรืองแม้ในแสงสลัว
2. มีความรู้สึกแตกต่างกันได้ด้วยการสัมผัส การได้จับและลูบสัมผัสจะบอกได้ถึงความประณีตของงานชิ้นนั้น เมื่อได้ดื่มน้ำจากกจอกเขินที่บางและขัดเนียนลื่นมือกว่าจะรู้สึกแตกต่างจากจอกถ้วยหนาๆ
3. การใช้งานมายาวนานจะมีความงามในร่องรอยการใช้ จุดที่ถูกจับสัมผัสมากกว่าจะมีผิวที่มันเงาและชาดที่เคลือบทับรักอยู่จะสึกไปทำให้มี”จังหวะ” ที่สวยงาม บอกได้ถึงอายุการใช้งาน ความมันเงานี้จะไม่เสมอกันเหมือนความเงาของกระจก
พลาสติก แลคเกอร์เคมี ยูรีเทน ฯลฯ สมัยใหม่
4. งามจากประโยชน์ใช้สอย หลังจากสำนึกในความงามตามติดประโยชน์
ความงามที่ลงตัวกับประโยชน์จะผสานกันเป็น”เสน่ห์”
|