พระหลวงพ่อทวด วัดพระสิงห์ มี ๕ พิมพ์ คือ ๑.พิมพ์ใหญ่ ฐานรอยพระบาท องค์หลวงพ่อทวดคล้ายกับพระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ รุ่นลอยน้ำ ปี ๒๕๐๒-๒๕๐๘ นั่งบนฐาน ประทับด้วยรอยพระบาท พิมพ์นี้มีเอกลักษณ์ ออกแบบได้สวยงาม ไม่ซ้ำพิมพ์กับพระหลวงพ่อทวดที่สร้างจากวัดไหนเลย เป็นพิมพ์นิยม
๒.พิมพ์ใหญ่ ฐานบัว องค์พระฟอร์มเดียวกับพิมพ์ฐานรอยพระบาท ต่างกันแค่ฐานรองรับองค์พระ เป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย มี ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์ลึก และพิมพ์ตื้น
๓.พิมพ์กลาง ฟอร์มองค์พระเหมือนกับพระหลวงพ่อทวด พิมพ์หลังเตารีดใหญ่ เข้าใจว่าถอดพิมพ์จากพิมพ์หลังเตารีดของวัดช้างให้ พิมพ์นี้มีน้อย
๔.พิมพ์เล็ก ฟอร์มองค์พระเหมือนกับพระหลวงพ่อทวด พิมพ์หลังตัวหนังสือ น่าจะถอดพิมพ์มา เหมือนพิมพ์กลาง พระพิมพ์นี้ส่วนใหญ่จะสวย และคมชัด ด้านหลังเรียบ
๕.พิมพ์จิ๋ว ขนาดเล็กกว่าทุกพิมพ์ เข้าใจว่าแกะพิมพ์ขึ้นมาใหม่ เจตนาสร้างสำหรับให้เด็กใช้แขวน ความสวยงามและรายละเอียดมีน้อยกว่าพิมพ์อื่นๆ ความนิยมก็เลยเป็นรอง
นอกจากนี้ พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก พระอาจารย์ทิมยังนำไปแจกที่วัดไทร จ.นครสวรรค์ อีกด้วย
วัสดุที่ใช้สร้าง เป็นพระเนื้อว่านผสมดินละเอียด และผงเกสรดอกไม้ เป็นเทคนิคการสร้างพระของสำนักเขาอ้อ จ.พัทลุง สีของพระขึ้นอยู่กับปริมาณว่านที่ใช้ผสมว่ามากหรือน้อย เนื้อพระสีออกดำ เพราะผสมว่านและดินกากยายักษ์มาก และสีจะออกเทา ถ้าผสมดิน และผงมากกว่าว่าน สีน้ำตาลก็มี แต่จำนวนน้อย
ต้นทุนการสร้าง พระเนื้อว่านจะสูงกว่าเนื้อดิน เนื้อผง หรือผงคลุกรัก ที่ทางเหนือนิยมสร้างพระเกศาครูบาเจ้าศรีวิชัย
แหล่งวัสดุว่านที่ใช้ เป็นพืชที่หาได้ง่ายตามภูเขาในภาคใต้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมคนใต้นิยมสร้างพระเนื้อว่านกันมาก
นับเป็นข้อดีของพระหลวงพ่อทวด วัดพระสิงห์ ที่สร้างด้วยว่าน เป็นวัสดุหลัก อายุการสร้างมาถึงวันนี้ พ.ศ.๒๕๕๓ ร่วม ๔๗ ปี พิจารณาแล้วมีความแห้ง และเก่า ดมดูแล้วก็ไม่มีกลิ่นว่านยา
|