ครูบาอินทวงศ์ อินทวังโส วัดอินทขิล อำเภอป่าซาง
จากการเก็บข้อมูลและภาพถ่ายในพื้นที่อำเภอป่าซาง ผมพบว่าผู้คนตามบ้านในย่านการค้าในตลาดป่าซางเดิมมักจะมีภาพถ่ายรูปของคนในพื้นที่ถ่ายรูปร่วมกับเมรุศพ หรือเป็นภาพเมรุศพ เมื่อสอบถามจึงรู้ว่าเป็นเมรุศพของครูบาอินทวงศ์ อินทวังโส อดีตเจ้าอาวาสวัดอินทขิล หลายๆคนบอกว่าท่านเป็นพระที่ปฎิบัติดีปฎิบัติชอบ เป็นที่เคารพ และนับถือของชาวป่าซางในยุคที่การค้าของตลาดอำเภอป่าซางเจริญรุ่งเรือง แต่พอถามถึงเรื่องประวัติของครูบาอินทวงศ์ ก็บอกว่าไม่ทราบ ยิ่งถามว่าวันเดือนปีที่ท่านมรณภาพก็บอกไม่รู้เหมือนกัน แต่เท่าที่พยายามรวบรวมภาพถ่ายเมรุครูบาเจ้าอินทวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดอินทขิล ต.ป่าซาง อ.ป่าซาง จังหวัดลำพูน โดยมากจะระบุอยู่ในช่วงวันที่ของเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๑๓ และภาพถ่ายเกือบจะทั้งหมดอัดรูปภาพโดยร้านประดิษฐ์ศิลป์ป่าซาง สำหรับประวัติของท่านที่ได้จากเพจวัดอินทขิล มีดังนี้
ครูบาอินทวงศ์ อินฺทวํโส
เดิมชื่อว่า อิ่นแก้ว เอ๊ะคำโย เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๗ ตรงกับเดือนยี่เหนือ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีกาบเส็ด จุลศักราชได้ ๑๒๓๖ เวลา ๑๘.๓๐ น. ณ บ้านป่าซางน้อย ต.บ้านแป้น อ.เมือง จ.ลำพูน บิดาชื่อ พ่อตุ่น เอ๊ะคำโย มารดาชื่อ แม่วันดี เอ๊ะคำโย อาชีพทำนา บ้านเดิมบิดาอยู่บ้านสันมะโก บ้านเดิมมารดาอยู่ป่าซางน้อย มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน รวม ๕ คน
๑. ด.ญ.ขันแก้ว เอ๊ะคำโย เป็นบุตรคนหัวปี (แม่เฒ่าขันแก้ว)
๒. ด.ช.อิ่นแก้ว เอ๊ะคำโย (ครูบาอินทวงศ์ อินฺทวํโส)
๓. ด.ช.อิ่นคำ เอ๊ะคำโย (ป้อน้อยอิ่นคำ)
๔. ด.ช.คำสม เอ๊ะคำโย (ป้อน้อยคำสม)
๕. ด.ช.คำณวล เอ๊ะคำโย (ป้อหนานณวล อาจารย์วัดพานิชสิทธิการาม)
ต่อมาพวกญาติพี่น้อง ได้ยื่นขอเปลี่ยนนามสกุล ต่อฝ่ายบ้านเมือง จาก “เอ๊ะคำโย” เปลี่ยนเป็น “วงศ์สุรินทร์” พ่อตุ่นก็นำเอา ด.ช.อิ่นแก้ว ผู้ลูกไปไว้กับวัดอินทขิล ไปมอบให้เป็นศิษย์ของครูบาจันทร์ จนฺทรํสี เจ้าอาวาสวัดอินทขิล พออย่างเข้าอายุ ๑๒ ปี ตรงกับปีเส็ด (ปีจอ) จุลศักราชได้ ๑๒๔๘ พุทธศักราช ๒๔๒๙ บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดอินทขิล โดยมีครูบาอุปละ วัดบ้านก้อง เป็นพระอุปัชฌาย์ ให้นามอันเป็นมงคลว่า “สามเณรอินทวงศ์”พอถึงปีสัน (ปีวอก) จุลศักราชได้๑๒๕๘ พุทธศักราช ๒๔๓๙ ได้อุปสมบทสามเณรอินทวงศ์ ให้เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ อุโบสถวัดป่าซางงาม ครูบาอุปละ วัดบ้านก้อง เป็นพระอุปัชฌาย์ ครูบาจันทร์ จนฺทรํสี วัดอินทขิล เป็นพระกรรมวาจารย์ ครูบาชินนะชัย วัดป่าซางงาม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ให้นามฉายาว่า “อินฺทวํโสภิกขุ”
หากท่านใดมีข้อมูลและภาพถ่ายของครูบาเจ้าอินทวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดอินทขิล ต.ป่าซาง อ.ป่าซาง จังหวัดลำพูน ลงเพิ่มเติมให้เป็นความรู้ได้เลยนะครับ
# หลงหละปูน
# ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองลำพูน
# หมายเหตุหริภุญไชย
|