"เจ้าอาวาสวัดหัวฝายที่มีชื่อเสียง คือ ครูบาคำปัน เดิมเป็นชาวจังหวัดลำพูน คุ้นเคยกับตุ๊เจ้าอ้าย เจ้าอาวาสวัดนันทารามและเจ้าอาวาสองค์ต่อมา คือ ครูบาอิ่นแก้ว(พระครูศิริรัตนสุนทร) ก็คุ้นเคยกันอย่างดี ครูบาคำปัน มีชื่อเสียงด้านทำยันต์ปรอทและยันต์กาสะท้อน
"ยันต์ปรอทช่วยด้านถูกสัตว์มีพิษเช่นแมงป่องต่อย ใช้ยันต์ปรอททาที่แผล ว่ากันว่าสามารถดูพิษได้ รวมทั้งหากเด็กอ่อนร้องไห้เวลากลางคืนซึ่งอาจถูกรบกวนจากสิ่งอัปมงคลเมื่อนำยันต์ปรอทมาห้อยคอเด็ก เด็กก็จะหายเป็นปกติไม่ร้องไห้ นอกจากนี้ยังใช้กันภูตผีได้อีกด้วย คนนับถือกันมาก ส่วนยันต์กาสะท้อนใช้คาดที่เอว เด่นทางหนังเหนียวยิงไม่เข้า ลักษณะเป็นการเขียนยันต์ในแผ่นทองแดงแล้วนำมาม้วนใช้เชือกสีแดงร้อย ผู้ที่ได้รับมาใช้ผูกที่เอวติดตัวไป
"สมัยก่อนพระวัดต่างๆ จะมาลงอุโบสถที่วัดนันทารามทั้งสิ้น เจ้าอาวาสวัดนันทารามจะออกหนังสือ ๑ ฉบับนิมนต์วัดที่เกี่ยวข้องมาร่วมลงอุโบสถ ส่งที่วัดหัวฝาย วัดหัวฝายทราบแล้วจะแจ้งวัดป่าพร้าวนอก นำส่งต่อๆกันไป วัดอื่นก็มีวัดป่าแดด วัดวังสิงห์คำ วัดท่ามะอิ เรียกว่าหัวหมวดมาลงอุโบสถที่วัดนันทาราม"
ชื่อเสียงอีกด้านหนึ่งของบ้านหัวฝาย คือ เป็นบ้านลิเก
"หากวัดมีงานต้องไปจ้างลิเกที่หัวฝาย ที่อื่นไม่มี ลิเกอำเภอสารภีมีมาทีหลัง สมัยประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๐-๒๕๑๐ งานวัดจะจัดมหรสพ มักจะมีหนังกลางแปลงและลิเก หากมีเงินมากก็จะจัดเพิ่ม คือจ้างดนตรีมาเล่น สมัยนั้นมีคณะศรีสมเพชร คณะซีเอ็ม คณะลูกระมิงค์ หนังกลางแปลงจะหาหนังขายยามาฉาย ไม่ต้องว่าจ้าง ส่วนใหญ่เป็นหนังของขี้ผึ้งยาหม่องบริบูรณ์บาร์มมาฉายให้ชมฟรี เขาจะขายยา ฉายแล้วช่วยบำรุงวัดครั้งละ ๕๐ บาทด้วย บางคราวก็ไปขอหนังผู้แทน คือผู้สมัคร ส.ส.จะจัดหนังไว้ฉายตามวัดและพูดหาเสียง สมัยนั้นมีของคุณปรีดา พัฒนถาบุตร ส่วนค่าจ้างลิเกหัวฝาย คือ คณะลุงมัย ค่าจ้าง ๕๐๐-๑,๐๐๐ บาท
"ละแวกวัดหัวฝายเป็นทุ่งนา หากยืนอยู่บนกำแพงดินหลังวัดนันทาราม มองไปเป็นทุ่งนาทั้งหมด สมัยยังไม่ได้ตัดถนนมหิดล มองเห็นถึงป่าแดด เห็นวัดหัวฝายและวัดป่าพร้าวนอกอยู่กลางทุ่งนา ทุ่งนาส่วนใหญ่เป็นของเจ้าโย ตระกูลเจ้าอยู่ละแวกวัดฟ่อนสร้อย ใกล้ประตูเชียงใหม่ ที่นาของเจ้าโยแถวหมู่บ้านพลอยบุรินทร์ พื้นที่เก็บรถของเทศบาลรวมถึงที่ของเจ้าขุนศึกเม็งรายด้วย
"ด้านทิศใต้ของวัดหัวฝายเป็นบ้านศรีปิงเมือง สมัยก่อนบ้านไม่มาก ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำจักสาน ทำแล้วนำมาลงรักที่บ้านนันทาราม มักเขียนลายทอง และหากจะทำลายควัด(ลายขูด)มักไปที่บ้านระแกงสมัยก่อนเรียกหล่ายแกงอยู่ด้านหลังวัดพวกช้าง
"สมัยก่อนจะมีประเพณีจุดบ้องไฟที่วัดพระนอนหนองผึ้ง เจ้าอาวาสวัดนันทารามองค์ก่อนจะไปร่วม ออกจากวัดผ่านประตูก้อม ผ่านวัดหัวฝาย ชาวบ้านส่วนหนึ่งจะช่วยกันแบกส่วนหางไปล่วงหน้า ๑ วันเช้าวันรุ่งขึ้นหลวงพ่อเจ้าอาวาสกับกลุ่มชาวบ้านจะเดินไป มีหลัวไหหาบไปเพื่อทำอาหาร มีฆ้องกลองแห่กันไป ประเพณีนี้มีทุกปีประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนอีกแห่งหนึ่งที่มีงานจุดบ้องไฟ คือ วัดพระนอนขอนม่วง อำเภอแม่ริม ประเพณีประมาณเดือนกรกฎาคม สมัยก่อนวัดเราไปกันเกือบร้อยคน ไปเอาบุญกัน"
ประวัติของครูบาคำปัน มหาวัณโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดหัวฝาย เดิมเป็นชาวประตูลี้ อำเภอเมืองลำพูน เคยมาบวชอยู่วัดศรีโสดา ต่อมาทางวัดหัวฝายขาดเจ้าอาวาส พระสงฆ์ที่มีอยู่ส่วนหนึ่งไม่ได้อยู่ประจำวัดหัวฝาย มักอยู่วัดอื่นและไปๆ มาๆ ขณะนั้นหลวงพ่อจู จิสาโร เป็นพระประจำวัดหัวฝายจึงไปนิมนต์ครูบาคำปันจากวัดศรีโสดามาเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวฝายตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๐ ชาวบ้านทั่วไปต่างศรัทธาในตัวของครูบาคำปันเนื่องจากมีความรู้ด้านเวทมนต์คาถาขับไล่ภูตผีปีศาจ อีกทั้งมีความรู้ด้านยาสมุนไพรที่มาสามารถเป็นที่พึ่งของชาวบ้านทั่วไปได้
เรื่องเวทมนต์คาถา ชาวบ้านข้างวัดหัวฝายเล่าว่า สมัยก่อนมีเรื่องผีมาเกี่ยวข้อง หากถูกผีเข้าญาติพี่น้องจะพามาหาครูบาคำปัน รายหนึ่งผีตายโหงเข้า ญาติพามาวัดหัวฝาย ขณะนั้นครูบาคำปันติดนิมนต์ด้านนอก คนถูกผีเข้าเอะอะโวยวายเสียงดัง ญาติพี่น้องช่วยกันจับ ๓ คน ๔ คนยังจับไม่ค่อยอยู่ พอครูบาคำปันมาถึงวัด ชาวบ้านที่มาดูเหตุการณ์ร้องบอกว่าตุ๊ลุงมาแล้ว ผีออกทันที คนถูกผีเข้าหงายหลังตึงเลย ตุ๊ลุงจะพกตะกรุดปรอทติดตัวไว้ ตุ๊ลุงจะนำตะกรุดจี้ตามตัวคนถูกผีเข้า จุดนั้นบ้างจุดนี้บ้าง เชื่อกันว่าผีจะหลบอยู่ตามส่วนของร่างกาย เมื่อจี้ถูกจุดที่ผีอยู่เช่นใต้รักแร้ คนถูกผีเข้าจะร้อง ดิ้น จนผีออก
"สมัยตุ๊ลุงอยู่จะสนุก ชาวบ้านมามุงดูกันเวลาที่คนถูกผีเข้ามาให้ตุ๊ลุงไล่ผี มาทุกเวลา กลางคืนก็มา เวลาผีเข้าญาติมาส่งที่วัดเวลากลางคืนก็จะรู้สึกกลัวมากกว่าปกติ สมัยก่อนวัดนี้เปลี่ยว คนถูกผีเข้ามาก็จะร้องเสียงดัง น่าแปลกที่ปัจจุบันไม่มีผีเข้าแล้ว"
ด้านสมุนไพรรักษาโรคที่ครูบาคำปันเชี่ยวชาญและช่วยชาวบ้านได้
"เมื่อชาวบ้านเจ็บป่วยจะมาหาตุ๊ลุงให้รักษา หรือมาไม่ได้ก็ให้ญาติมาขอยา เรียกกันว่า ยาถีบ แก้ไข้ร้อนใน ปวดท้อง กินแล้วตัวเย็นลง ยาเป็นสมุนไพรรากไม้หลายชนิด บรรจุอยู่ในถุงผ้า เมื่อบอกอาการและรับยาจากตุ๊ลุงแล้ว ญาติพี่น้องจะนำสมุนไพรฝนกับหิน ใส่ในขันไปให้คนไข้กินก็จะหายจากโรค หากมีอาการปวดข้อ ปวดกระดูก ตุ๊ลุงจะรักษาด้วยการนำเหล็กแหลมมาทิ่มรอบบริเวณที่ปวดให้เลือดซึมออกมา แล้วก็นำยาผสมเหล้าขาวทาให้ตัวยาซึมเข้าแผล โรคก็จะหาย"
ครูบาคำปัน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหัวฝายตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๐ จนมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘.
|