เหรียญครูบาเจ้าศรีวิชัย รุ่นศรีวิชัยยาชนะ พ.ศ.2539
เหรียญครูบาเจ้าศรีวิชัย รุ่นศรีวิชัยยาชนะ สร้างในปี พ.ศ.2539 เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เช่าบูชา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้ในการจัดสร้างอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ รอยต่อบริเวณถนนสายลี้-เถิน อ.ลี้ จ.ลำพูน โดยครูบาชัยวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เป็นผู้ตั้งชื่อรุ่นนี้ ว่า “ศรีวิชัยยาชนะ” พิธีพุทธาภิเษก วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2539 ณ วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน
รายการวัตถุมงคลที่จัดสร้าง มี รูปเหมือนอนุสาวรีย์ เนื้อโลหะผสม มี 3 ขนาด คือ ขนาดสูง 19 นิ้ว สร้างตามสั่งจอง ขนาดสูง 9 นิ้ว สร้าง 499 องค์ ขนาดสูง 3.9 นิ้ว สร้าง 4,999 องค์ เหรียญพิมพ์รูปไข่ ชุดกรรมการ ชุดใหญ่ 5 กษัตริย์ (ทองคำ เงิน นวโลหะ ฝาบาตร และทองแดง) จำนวนสร้างตามสั่งจอง ชุดกรรมการ ชุด 4 กษัตริย์ (เงิน นวโลหะ ฝาบาตร และทองแดง) สร้าง 499 ชุด เนื้อเงิน สร้าง 499 เหรียญ นวโลหะ สร้าง 999 เหรียญ ฝาบาตร สร้าง 7,999 เหรียญ ทองแดง สร้าง 9,912 เหรียญ เหรียญพิมพ์รูปบัวสิบเอ็ดดอก ชุดกรรมการ ชุดใหญ่ 5 กษัตริย์ (ทองคำ เงิน นวโลหะ ฝาบาตร และทองแดง) จำนวนสร้างตามสั่งจอง ชุดกรรมการ ชุด 4 กษัตริย์ (เงิน นวโลหะ ฝาบาตร และทองแดง) สร้าง 499 ชุด เนื้อเงิน สร้าง 499 เหรียญ นวโลหะ สร้าง 999 เหรียญ ฝาบาตร สร้าง 7,999 เหรียญ ทองแดง สร้าง 9,912 เหรียญ
สำหรับวัตถุมงคลประเภทเหรียญ ที่มี 2 แบบ ลักษณะคือ แบบเหรียญรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปครูบาเจ้าศรีวิชัย รูปครึ่งองค์ แบบห่มคลุมผ้าจีวร หลังเหรียญยันต์ด้านหลังแถวบนสุดเรียกว่ายันต์พระเจ้าห้าพระองค์ และ แบบที่สองคือเหรียญบัวสิบเอ็ดดอกด้านหน้าเป็นรูปครูบาเจ้าศรีวิชัยนั่งขัดสมาธิ หลังเหรียญยันต์ด้านหลังเรียกว่ายันต์กระบองไขว้ ด้านหลังของเหรียญทั้งสองแบบเขียนไว้ว่า “รุ่นสร้างอนุสาวรีย์ศรีวิชัยยาชนะ 11 มิ.ย.39 วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน” จุดพิจารณาที่สำคัญคือ โค้ดรูปตัวอักษรไทย เลข ๙ ที่ตอกไว้หลังเหรียญ โดยชุดกรรมการจะมีหมายเลขแต่ละชุดกำกับไว้ ด้วยอักษรตัวเลขไทยเช่นกัน พบว่าส่วนใหญ่ชุดกรรมการจะตอกโค้ดเลข ๙ กำกับไว้จำนวน 2 ตัว แต่บางครั้งก็พบว่าเหรียญชุดกรรมการ ตอกโค้ด ๙ ไว้ตัวเดียวก็มี การแยกเหรียญแต่ละเนื้อ พิจารณาจากตำแหน่งที่ตอกโค้ด เลข ๙ เหรียญเนื้อทองคำตอกสองโค้ดบริเวณด้านบนซ้าย-ขวา เหรียญเนื้อเงินตอกโค้ดบริเวณด้านล่างขวา นวโลหะตอกบริเวณด้านล่างซ้าย เนื้อฝาบาตรตอกโค้ดบริเวณด้านบนขวา เนื้อทองแดงตอกโค้ดบริเวณด้านบนซ้าย ส่วนนี้สำคัญเพราะพบว่ามีการนำเหรียญทองแดงมาทำกาไหล่เนื้อเงิน หากไม่จดจำตำแหน่งโค้ดที่จำแนกเหรียญแต่ละเนื้อให้ดีจะทำให้เช่าหาผิดราคาได้
ตามประวัติการสร้างรุ่นนี้ สร้างในปี พ.ศ.2539 ผ่านมา 20 ปี (ปีนี้ พ.ศ.2559) P.som ส.สกุณา จำได้ เมื่อปี พ.ศ.2539 ย่างเข้าปี 2540 ยุคนั้น ฟองสบู่แตกดังโพล๊ะ! เพราะพิษเศรษฐกิจ ข่าวว่าเพราะค่าเงินบาทถูกโจมตี รัฐแก้เกมส์ไม่ทัน คนตกงานกันครึ่งประเทศ มีการออกกฎหมายให้ดำเนินการกับผู้ที่สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจ แต่ความจริงผู้ที่ย่ำแย่สุดก็คือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ส่วนพวกที่ถูกฟ้องให้ล้มละลาย ตามข่าวก็ว่า “แค่ล้มบนฟูก?” ที่ปรับตัวไว ปรับตัวเก่งก็หาทางหนีทีไล่ แก้สถานการณ์เฉพาะหน้ากันจ้าละหวั่น ....มีคำกล่าวจากนักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง กล่าวไว้ว่า “ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเดิม” (พระรุ่นศรีวิชัยยาชนะ สร้างขึ้นในปี 2539 แถมโค้ดยังใช้เลข 9 )หรือว่าเลข 9 จะเป็นเลขอาถรรพ์ คนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าเลข 9 เป็นเลขมงคล “หมายถึงความก้าวหน้า” แต่อีกมุมถ้าลองกลับหัวเลข 9 ลง ก็จะกลายเป็นเลข 6 ทีนี้ความหมายไม่สู้ดีนัก หมายถึง “หกคะเมนตีลังกา” หรือครั้งนี้เหตุการณ์จะซ้ำรอยเดิมเหมือนปี 39 ? ใครจะไปรู้ ก็คงคงต้องติดตามกันต่อไป แต่สำหรับชาวพระเครื่องที่มีเหรียญรุ่นศรีวิชัยยาชนะ ทราบแบบนี้แล้วคงต้องร้อง โอลั้นล้า!! เพราะรุ่นนี้ มีคนซุ่มเก็บ แถมได้ความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้จะไม่ร้อนแรงเหมือน 4-5ปีก่อน โดยเฉพาะปี 2554 ที่หนังสือตามรอยจอบแรกครั้งที่4 ได้ลงเผยแพร่ข้อมูลพร้อมประวัติการสร้างพระรุ่นนี้อย่างชัดเจน ทำให้ในวงการเกิดความตื่นตัว มาปีนี้ ถ้าจะมองอนาคตเศรษฐกิจจะดีไม่ดีก็ไม่รู้ แต่รู้ว่าใครมีพระรุ่นนี้แล้ว ดีแน่ๆ...อู้แต้ บ่าได้อู้เล่นๆ !
|