พระเครื่องในชุดสกุลลำพูนที่จะกล่าวต่อไปคือ พระลือหน้ามงคล มีคำกล่าวเล่าขานของผู้เฒ่า ผู้แก่ของเมืองลำพูนว่า “ถ้าหากไม่มีพระรอดของวัดมหาวันให้ใช้พระลือหน้ามงคลแทน” คำกล่าวที่ว่านี้ถูกต้องอย่างไม่ผิดเลย เพราะเท่าที่ได้คุยกับผู้ที่มีพระลือหน้ามงคลไว้ในความครอบครอง ทุกคนต่างยืนยันและประจักษ์ถึงพุทธคุณทางแคล้วคลาด อยู่รอดปลอดภัย และเมตตามหานิยมสูงเด่นเช่นพระรอดของวัดมหาวัน พระลือหน้ามงคลขุดพบมากที่วัดประตูลี้และวัดกู่เหล็กบริเวณทุ่งกู่ล้านอำเภอ เมือง ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบที่เคยเป็นเนื้อที่ของวัดโบราณ ได้กลายเป็นหมุ่บ้านจัดสรรไปแล้ว ต่อๆไปจะพบหาพระลือหน้ามงคลหรือพระลือโขง จากกรุนี้จะเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง
พระลือหน้ามงคลได้รับความนิยมสูงสุดรองจากพระรอด พุทธคุณของพระลือเป็นที่ยอมรับกันโดยแท้ โดยเฉพาะบรรดาพ่อค้าวานิช ข้าราชการ ครูบาอาจารย์ ทหาร ตำรวจ พระลือหน้ามงคลมีอยู่หลายพิมพ์มีความแตกต่างของรายละเอียดอยู่บ้างต้องสังเกตุ ความแตกต่างนั้นคือ รายละเอียดของลวดลายของดอกบัวรอบๆองค์พระ สังเกตุให้ดีลวดลายประดับเป็นดอกบัวที่ประกอบไปด้วย ก้านบัว ใบบัวไม่ใช่เป็นใบโพธิ์หรือก้านโพธิ์เหมือนกับของพระคง พระเปิมพระบาง ดูกันให้ดีและละเอียดกันหน่อย ฐานที่ประทับ เป็นบัวคว่ำ บัวหงาย มองดูเผินๆเหมือนกับบัวเหลี่ยม
เรื่องของบัวประดับในองค์พระลือหน้ามงคลนี้ ได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธนิกายมหายานที่ได้เข้ามาแพร่หลายในช่วงเวลานั้น ศิลปะในองค์พระจะเป็นตัวบ่งบอกถึงพุทธคุณที่เต็มไปด้วยความเมตตาบารมีโดยแท้ พระลือมีลักษณะพิมพ์ทรงคล้ายปลายนิ้วมือ ที่มีส่วนปลายมน มีขนาดใหญ่กว่าพระคง พระบางเล็กน้อย แต่มีขนาดย่อมกว่าพระเปิม องค์พระประทับนั่งบนฐานที่มีผ้าปูเป็นรูปครึ่งวงกลม องค์ที่ติดพิมพ์จะเห็นหน้าตาหูปากจมูกติดพิมพ์อย่างชัดเจน องค์พระห่มจีวรในลักษณะห่มดอง มีสังฆาฏิเล็กๆพาดลงมาจากไหล่ ลงมาเกือบจะถึงเอว เศียรพระจะมองดูโล้นไม่มีเม็ดพระศก มีกระจังหน้าดูท่าทางขึงขังและจริงจัง