ประวัติการสร้าง
พระชุดจตุรพรนี้จัดสร้างขึ้นในปีพ.ศ. ๒๕๒๐ โดยที่คณะกรรมการวัดและคณะศิษยานุศิษย์มีดำริที่จะหาทุนสร้างอุโบสถวัดต้นยางหลวง จึงขออนุญาตครูบาจัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นชุดหนึ่ง ทางคณะศิษย์ได้รวบรวมวัสดุต่าง ๆ เพื่อนำมาสร้างวัตถุมงคลดังกล่าว ที่เป็นพระเนื้อผงก็ใช้ผงพุทธคุณจากหลายพระคณาจารย์ และผงว่านนับพันชนิด อาทิ ผงวิเศษเจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทรฯ กรุงเทพ, ผงวัดสามปลื้ม กรุงเทพ, ผงหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ชลบุรี, ผงท่านเจ้าคุณวรพรตปัญญาจารย์ วัดป่า ชลบุรี, ผงหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ระยอง เป็นต้น
ส่วนที่เป็นโลหะ เช่น เหรียญจตุรพร ก็มีการนำมวลสารศักดิ์สิทธิ์มาผสมกันแล้วหลอม รีดออกมาเป็นแผ่นแล้วถึงจะปั๊มเป็นเหรียญ ทำให้เนื้อเหรียญออกไปทางสัมฤทธิ์ ชนวนหลัก ๆ ก็มีดังต่อไปนี้
1. ชนวนพระกริ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพ
2. ชนวนพระกริ่งชินบัญชร หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จ.ระยอง
3. ชนวนพระกริ่งอรหัง หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่
4. ชนวนพระกริ่งไตรลักษณ์หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง
5. ชนวนพระกริ่งหลวงพ่อบุญเย็น วัดพระเจ้าพรหมมหาราช จ.เชียงใหม่
6. ชนวนพระวัดราชบพิธ พ.ศ. ๒๔๘๑
7. ชนวนพระวัดสัตตนารถปริวัตร ราชบุรี
8. ตะกรุดโทน หลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่ จ.ระยอง
9. ตะกรุดโสฬส หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม วัดสะพานสูง จ.นนทบุรี
10. ตะกรุดมหาปราบหลวงพ่อคง ธัมมโชโต วัดบางกะพ้อม จ.สมุทรสงคราม
11. ตะกรุดโทนหลวงพ่อดิ่ง คังคสุวัณโณ วัดบางวัว จ.ฉะเชิงเทรา
12. ตะกรุดโทนหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย จ.สมุทรปราการ
13. ตะกรุดโทนพระอาจารย์นำ ชินวโร วัดดอนศาลา จ.พัทลุง
14. ตะกรุดโทนหลวงพ่อเหมือน อินทโชโต วัดกำแพง จ.ชลบุรี
15. ตะกรุดเก่านับร้อยดอก
16. แผ่นทองคำ แผ่นเงิน แผ่นทองแดง หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท วัดจุฬามณี จ.สมุทรสงคราม
17. แผ่นจารเจ้าคุณวรพรตปัญญาจารย์ (เฮี้ยง ปุณณัจฉันโท) วัดอรัญญิกาวาส (วัดป่า) จ.ชลบุรี
18. แผ่นจารหลวงพ่อจวน สุจิตโต วัดหนองสุ่ม จ.สิงห์บุรี
19. แผ่นจารหลวงพ่อเชื้อ สุกกวัณโณ วัดใหม่บำเพ็ญบุญ จ.ชัยนาท
20. แผ่นจารครูบาพรหมจักรรักษา (พรหมา พรหมจักโก) วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน
21. แผ่นจารครูบาอินทจักรรักษา วัดน้ำบ่อหลวง จ.เชียงใหม่
22. ชนวนพระ ๒๕ พุทธศตวรรษ
23. ชนวนพระกริ่งนเรศวรวังจันทร์
24. ฆ้องลงพระยันต์สำหรับตีรอบโบสถ์เพื่อห้ามลมห้ามฝนของครูบากองแก้ว ญาณวิชโย
25. พระบูชาเก่าชำรุด และวัสดุมงคลอื่น ๆ มากมาย
ในการสร้างเหรียญ ผู้สร้างได้ทำการถอดแบบเหรียญนั่งพานของหลวงปู่ทิมมาเฉพาะด้านหน้าเพียงด้านเดียว โดยกำหนดให้ลักษณะของเหรียญเป็นเหรียญรูปใบเสมามีหูในตัว
ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนครูบากองแก้วเต็มองค์นั่งสมาธิบนโต๊ะฐานขาสิงห์ภายในซุ้มนาคเกี้ยว ปลายหางนาคจะไขว้กันไปยังด้านบนสุด โดยโอบรอบพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ ที่อยู่เกือบบนสุดของเหรียญ
ด้านหลัง ครูบาจะเป็นเสมาธรรมจักร มีตัวหนังสือล้อมรอบว่า “ครูบากองแก้ว ญาณวิชโย วัดต้นยางหลวง ต.ไชยสถาน อ.สารภี จ.เชียงใหม่” มีลายกนกที่อยู่ถัดลำตัวพญานาค สำหรับด้านล่างโต๊ะจะมีรูปไก่สองตัวหันหน้าชนกัน และตอกโค้กว่า”กก” สำหรับพื้นล่างสุดเขียนว่า “ครบรอบ ๘๑ ปี ๒๕๒๐”
และยกขอบขึ้นมาเป็นสัน ตรงกลางเป็นยันต์อิติปิโส ๘ ทิศ
สำหรับอักขระเลขยันต์นั้น ครูบากองแก้วได้กำหนดให้ใช้ยันต์แบบเดียวกับที่ท่านใช้ลงฆ้องห้ามลมห้ามฝนของท่าน โดยครูบาเป็นผู้เขียนต้นแบบยันต์ด้านหลังให้คณะกรรมการเอง เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมด้านหลังของเหรียญจึงมียันต์อิติปิโส ๘ ทิศเช่นเดียวกับด้านหลังของเหรียญนั่งพานของหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ทั้ง ๆ ที่ครูบาไม่เคยเห็นเหรียญนั่งพานของหลวงปู่ทิมมาก่อน นอกจากนี้ยังบรรจุยันต์พระเจ้า ๑๖ พระองค์ซึ่งเด่นทางคงกระพันชาตรีลงไปอีกด้วย ด้านบนเขียนว่า “ที่ระลึกในการสมทบทุนสร้างพระอุโบสถ” สำหรับด้านล่างสุดเขียนว่า “จตุรพร คณะศิษย์สร้างถวายบูชาพระคุณ รุ่นแรก”
หลังจากสร้างเหรียญสัมฤทธิ์เสร็จ ครูบากองแก้วก็ได้นำไปแผ่เมตตาจิตจนครบไตรมาส และทางผู้สร้างได้จัดพิธีพุทธาภิเษกใหญ่ที่วัดต้นยางหลวงในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ โดยอาราธนาพระเกจิอาจารย์ชื่อดังทางเชียงใหม่, ลำพูน และ ลำปางมาร่วมในพิธี อาทิ
ครูบาคำแสน อินทจักโก วัดสวนดอก เชียงใหม่, ครูบาพรหมา พรหมจักโก วัดพระพุทธบาทตากผ้า ลำพูน, ครูบาธรรมชัย ธัมมชโย วัดทุ่งหลวง เชียงใหม่, ครูบาหล้า จันโทภาโส วัดป่าตึง เชียงใหม่ และครูบาดวงดี สุภัทโท วัดท่าจำปี เชียงใหม่ เป็นต้น
จำนวนจัดสร้าง มีดังนี้
1. เหรียญเนื้อทองคำ (ชุดกรรมการ) สร้าง ๙ เหรียญ
2. เหรียญเนื้อเงินสร้าง ๙๙ เหรียญ
3. เนื้อสัมฤทธิ์ สร้างจำนวน ๒๙,๙๙๙ เหรียญ
|