จากบันทึกทศชาติ เรื่อง มหาเวชสันดรชาดก กลายมาเป็นเครื่องรางของขลัง ที่สร้างความศรัทธาให้กับผู้คนมากมายในปัจจุบัน เนื่องจากเสียงร่ำลือของ "เฒ่าชูชก" ที่ว่ากันว่า เครื่องรางของขลังเฒ่าชูชก" นี้มีความยอดเยี่ยมด้านโชคลาภ และเมตตามหานิยมสูง ค้าขายร่ำรวย
"ชูชกเขามีดี อาศัยปากที่ขอและมือที่ยื่นไปรับ เขาขอร้อยอย่างเขาก็ได้ร้อยอย่าง เขาขอพันอย่างก็ได้พันอย่าง"
ทั้งนี้ ที่บอกว่า เฒ่าชูชก เป็นเจ้าแห่งการขอ ก็เพราะในตำนาน มหาเวชสันดรชาดก เล่าว่า เฒ่าชูชก เป็นพราหมณ์อยู่ในเมืองกลิงคราษฎร์ มีอาชีพขอทาน และแม้จะเป็นผู้เฒ่าที่อัปลักษณ์ในรูปสังขาร แต่ เฒ่าชูชก กลับมากล้นไปด้วยเสน่ห์เมตตามหานิยม รู้จักเจรจาได้ไพเราะอ่อนหวาน ไปเอ่ยปากขอทานที่ไหนก็ไม่มีใครรังเกียจ มีแต่เมตตารักใคร่ ให้ทานตามที่เอ่ยปากขอ
และด้วยนิสัยที่ประหยัด มัธยัสถ์ รู้จักใช้รู้จักเก็บของ เฒ่าชูชก เงินที่ขอมาได้จึงมีมากถึงขั้นเป็นเศรษฐี ชูชก จึงนำไปฝากเพื่อนพราหมณ์ไว้ ครั้นเมื่อกลับไปทวงถาม ปรากฎว่าเพื่อนได้ใช้เงินหมดไปแล้ว จึงยกลูกสาว คือ นางอมิตดา สาววัยแรกรุ่นสวยงามให้เป็นภรรยาของ ชูชก แทน ซึ่งนางอมิตดา ขยันปรนนิบัติสามีเป็นอย่างดี ตักน้ำ ตำข้าว หุงหาอาหาร และดูแลบ้านเรือนไม่มีขาดตกบกพร่อง
ความประพฤติที่ดีเพียบพร้อมของนางอมิตดานี้เอง ทำให้เป็นที่สรรเสริญของบรรดาพราหมณ์ทั้งหลายในหมู่บ้านนั้น ในไม่ช้าบรรดาพราหมณ์เหล่านั้นก็พากันตำหนิติเตียนภรรยาของตน ที่มิได้ประพฤติตนเป็นแม่บ้านแม่เรือนอย่างภรรยาของ เฒ่าชูชก ทำให้พวกภรรยาพราหมณ์อิจฉาริษยา มาด่าทอนางอมิตดาอยู่ทุกวัน นางอมิตดา จึงไปเล่าให้ ชูชก ฟัง ชูชก จึงบอกว่า ต่อไปนี้นางไม่ต้องทำการงานสิ่งใด ชูชก จะเป็นฝ่ายทำให้ทุกอย่าง นางอมิตดา จึงตอบกลับว่า...
"ภรรยาที่ดีจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร จะปล่อยให้สามีมาปรนนิบัติรับใช้ เราทำไม่ได้หรอก ลูกหญิงที่พ่อแม่อบรมสั่งสอนมาดี ย่อมจะไม่นั่งนอนอยู่เฉยๆ ดีแต่ชี้นิ้วให้ผู้อื่นปรนนิบัติตน นี่แน่ะ ชูชก ถ้าท่านรักเราจริง ท่านจงไปหาบริวารมาปรนนิบัติรับใช้เราดีกว่า"
เมื่อ ชูชก ได้ฟังดังนั้น ก็อัดอั้นตันใจ ไม่รู้จะไปหาข้าทาสหญิงชายมาจากไหน นางอมิตดา จึงแนะว่า "ขณะนี้พระเวสสันดรเสด็จออกมาจากเมืองสีพี มาทรงบำเพ็ญพรตอยู่ในป่า พระองค์เป็นผู้ใฝ่ในการบริจาคทาน ท่านจงเดินทางไปขอบริจาคพระชาลี กัณหา โอรสธิดาของพระเวสสันดรมาเป็นข้าทาสของเราเถิด"
ครั้นได้ฟังดังนั้น ชูชก จึงไปทูลขอพระโอรส-ธิดาพระเวสสันดร เพื่อเป็นข้าทาสรับใช้ภรรยา พระเวสสันดร ทรงมีพระทัยยินดีที่จะทรงกระทำบุตรทาน คือ การบริจาคบุตรเป็นทาน เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ชูชก จึงได้ตัวพระชาลี กัณหา มา ซึ่งในระหว่างเดินทางกลับ ชูชก บังเอิญผ่านไปหน้าที่ประทับพระเจ้าสญชัย พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นพระนัดดาทั้งสอง ก็ทรงจำได้ จึงให้เสนาไปพาเข้ามาเฝ้า
เฒ่าชูชก ทูลว่า พระเวสสันดร ทรงบริจาคพระชาลี กัณหา ให้เป็นข้าทาสของตนแล้ว พระเจ้าสญชัยก็โปรดให้เบิกสมบัติท้องพระคลังมาไถ่ตัวพระนัดดาจากชูชก และโปรดให้จัดข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงดู ชูชก แต่ เฒ่าชูชก ไม่เคยได้บริโภคอาหารดี ๆ จึงไม่รู้จักยับยั้ง บริโภคมากจนทนไม่ไหว ถึงแก่ความตายในที่สุด
จากตำนาน มหาเวสสันดร จะเห็นได้ว่า ชูชก แม้จะรูปชั่วตัวดำแก่ชราน่าเกลียด แต่มีข้อดีตรงที่ ขออะไรจากใครเขาก็ได้หมด ขอร้อยอย่างได้ร้อยอย่าง ขอพันอย่างได้พันอย่าง ขอแม้กระทั่งลูกในอกเขาก็ให้ งานไม่ต้องออกแรงทำ ไม่ต้องออกความคิด อาศัยแค่เพียงปากกับมือที่ยื่นไปรับก็ได้ดังใจหวัง แถมยังได้ดีมีภรรยาสวยช่างปรนนิบัติเอาใจ เป็นที่อิจฉาแก่หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ ซึ่งด้วยคุณสมบัติที่ดีของ เฒ่าชูชก เหล่านี้ จึงเกิดเป็นที่มาที่ทำให้พระเกจิอาจารย์ในอดีต นำไปสร้างเป็นเครื่องรางของขลัง และ เฒ่าชูชก ก็กลายเป็นวัตถุมงคลที่มีเสียงร่ำลือกันในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ สร้างความขลังให้กับผู้ที่นำไปบูชาอย่างมากมาย
สำหรับ เฒ่าชูชก ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับมากที่สุดเห็นจะเป็นของ หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน จ.สมุทรสาคร ซึ่งหายาก และมีมูลค่าสูง ต่อมาก็เป็น เฒ่าชูชก ของหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จ.ระยอง และยังมีอีกหลายองค์ที่สร้าง ชูชก ออกมา เช่น หลวงพ่อแล วัดพระทรง จ.เพชรบุรี หลวงพ่อไสว วัดปรีดาราม จ.นครปฐม หลวงพ่อสาคร วัดหนองกรับ จ.ระยอง หลวงพ่อมี วัดมารวิชัย จ.พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ
ทั้งนี้ รูปแบบของเครื่องราง เฒ่าชูชก จะมีลักษณะเกล้าผมมวยแบบพราหมณ์ มีหนวดเครา หลังค่อม ไม่สวมเสื้อ ถือไม้เท้าและสะพายย่าม เคล็ดลับการใช้ชูชก ว่ากันว่า หากอยากได้อะไรให้กลั้นใจ แล้วภาวนาว่า "เอา........ให้กู ชูชกขอนะ ขอนะ" แล้วสิ่งที่อยากได้จะเข้ามาหาเอง
|