หลวงปู่ครูบาอินตา ธนกฺขันฺโธ มาหาเถระแห่งนครหริภุญชัย |
คัดลอกจากหนังสือ “สยามอมูเล็ท” |
“หลวงปู่ครูบาอินตา ธนกฺขนฺโธ คนพื้นมักเรียกท่านว่า “ครูบาวัดวังทอง” มีอายุเกือบทศวรรษ เป็นพระมหาเถระที่มีอายุพรรษา อาวุโสเป็นลำดับที่ ๒ ในแผ่นดินล้านนา รองจาก ครูบาดวงดี สุภทฺโท วัดท่าจำปี อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และครูบาอินตาท่านยังอาวุโสสูงสุด ในจังหวัดลำพูน อายุ ๑๐๐ ปี ๗๘พรรษา ปัจจุบันท่านยังดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดวังทอง ต.เหมืองง่า อ.เมือง จ.ลำพูน วัดวังทอง ต.เหมืองง่า อ.เมืองลำพูนหลังสถานีรถไฟลำพูน และยังมีมีสุขภาพแข็งแรงผิดกับผู้สูงอายุทั่วๆไปไม่มีโรคร้ายมาเบียดเบียน มีก็แต่เพียงเป็นหวัด เป็นไข้ธรรมดาเท่านั้น ยังสามารถปฏิบัติกิจของสงฆ์และยังรับนั่งอธิษฐานจิตวัตถุมงคลตามวัดต่างๆในบางโอกาสหากสุขภาพของหลวงปู่ยังอำนวย อัตชีวประวัติของท่านต่อไปนี้ส่วนใหญ่ผู้เขียนได้ตัดตอนมาจากวัดวังทองซึ่งเป็นบันทึกของสามเณรเหมันต์ สุนทร ผู้อุปัฏฐากหลวงปู่ ดังนี้ |
|
ครูบาอินตา เกิดวันเสาร์ แรม ๑๐ ค่ำเดือน ๒ ตรงกับวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๔๕๓ ปีจอ (ปีเส็ด ) ซึ่งอยู่ในช่วง แผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ครูบาอินตาเกิดที่บ้านเหมืองง่า ม.๒ ต.เหมืองง่า อ.เมือง จ.ลำพูน โยมพ่อชื่อนายตา โยมแม่ชื่อนางบัวแก้ว นามสกุล ธนาขันธรรม ท่านเป็นหลานท่านเจ้าคุณพระญาณมงคล (ครูบาปวน อภิชโย ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูนรูปที่ ๔ อดีตเจ้าคณะแขวงลี้อดีตเจ้าอาวาสวัดเหมืองง่า ท่านอยู่ในครอบครัวชาวนาซึ่งในขณะนั้นเป็นอาชีพที่มีฐานะยากจนมากมีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๕ คน พระเดช พระคุณหลวงปู่เป็นคนสุดท้อง(ภาษาล้านนาเรียกว่า “ลูกคนหล้า”) และมีน้องบิดาเดียวกันแต่ต่างมารดาอีก ๕ คน |
หลวงปู่เมื่อเป็นเด็กชาย “อินตา” ธนาขันธรรม อายุ ๗ ขวบ (พ.ศ. ๒๔๖๐) โยมพ่อแม่นำมาฝากกับครูบา ปวน อภิชโย ขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะแขวงชั้นเอกราชทินนามที่พระครูมหาศีลวงค์ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงเมืองลำพูนเจ้าอาวาสวัดเหมืองง่าครูบาฯได้เป็น “ขะโยม”หรือเด็กวัดนั่นเอง และได้เรียนหนังสือครั้งแรกกับครูบาปวน และได้เรียนหนังสือพื้นเมือง (ภาษาล้านนา) และเรียนภาษาไทยด้วยในวัด สมัยนั้นที่โรงเรียนวัดเหมืองง่า ซึ่งเป็นโรงเรียนแรกในตำบลเหมืองง่า ยังเปิดสอนอยู่ในวัด จนกระทั่งเด็กชายอินตา ธนาขันธรรม เรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๖๔ |
|
สู่ร่มกาสาวพัสตร์ เด็กชายอินตาได้ใช้ชีวิตผูกพันกับวัดเหมืองง่า จนกระทั่งอายุได้ ๑๖ ปี พ.ศ.๒๔๗๐ แม่อุ๊ยของท่านได้ถึงแก่กรรมลงครูบาปวนจึงให้หลวงปู่บวชหน้าไฟเพื่อเป็นการตอบแทนคุณ และได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนาเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ ศึกษาวิทยาคมกับอาจารย์องค์แรก ระหว่างเป็นขะโยมและบวชเป็นสามเณรอยู่นั้น ครูบาฯ ได้เรียนคาถาและวิทยาคมจาก |
“ครูบาปวน” เล่ากันว่าท่านเป็นผู้ที่ถือของขลังและเก่งทางวิทยาคมเป็นอย่างมากจนทำให้พ่อเจ้าเหนือหัวพลตรี มหาอำมาตย์โทเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหอคำเมืองนครลำพูนถึงกับมีความเลื่อมใสเป็นพิเศษ ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยอาจารย์องค์ที่สอง หลังออกพรรษาของปี พ.ศ.๒๔๗๑ ครูบาปวนได้ฝากสามเณรอินตา ไว้เป็นศิษย์ติดตามสหธรรมมิกของท่านคือ “ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย”หลังจากได้เป็นศิษย์ท่านแล้ว สามเณรอินตาได้ร่วมบุญในการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุในสถานที่ต่างๆ นอกจากนั้นยังได้สืบทอดคาถาและวิทยาคมจากครูบาศรีวิชัยอีกด้วย หลังจากอยู่รับใช้ครูบาศรีวิชัยได้ ๓ ปี ท่านได้กราบลาครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินทางกลับวัดเหมืองง่า เพื่อที่จะเข้าพิธี ญัตติจตุถกรรมวาจาเป็นพระภิกษุ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ในครั้งนั้น ครูบาปวน รักษาการเจ้าคณะนครลำพูนเป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาสุดใจ ญาณวุฒิ วัดพระธาตุหริภุญชัย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูสมุห์จรูญ วัดพระธาตุหริภุญชัย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า “ธนกฺขนฺโธ” หลังจากอุปสมบถได้ไม่นานท่านก็กราบลาครูบาปวน พื่อมาร่วมบุญกับครูบาศรีวิชัยอีกครั้งเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัดบุปผารามสวนดอกไม้ โดยการนิมนต์ของเจ้าดารารัศมี และเหนือหัวมหาอำมาตย์โทเจ้าหลวงแก้วนวรัฐ เนื่องจากวัดนี้เป็นวัดที่มหากษัตริย์ของล้านนาสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งขณะนั้นได้ชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมากขนาดที่ว่าเถาวัลย์รกพันองค์พระบรมธาตุเจดีย์เลยทีเดียว วัดบุปผารามสวนดอกไม้นี้ต่อมาเจริญงอกงามได้รับแต่งตั้งเป็นพระอารามหลวงเรียกขานกันว่า “วัดสวนดอก” |
|
เป็นกำลังสำคัญในการสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ สืบเนื่องจากหลวงศรีประกาศสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ได้มาอาราธนารูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นประธานในการสร้างทางขึ้นสู่ดอยสุเทพ ตั้งแต่วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๗ ถึงวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๘ ผู้มีศรัทธาต่อครูบาศรีวิชัยทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสโดยเฉพาะชาวกระเหรี่ยงจากอำเภอลี้ จังหวัดลำพูนได้มาร่วมกันเป็นจำนวนมาก หลวงปู่ครูบาอินตา ได้เดินทางจากวัดเหมืองง่ามาร่วมทำบุญกับครูบาเจ้าศรีวิชัยด้วยตั้งแต่วันแรกที่ดำเนินการก่อสร้างเลยทีเดียว เมื่อการก่อสร้างได้สำเร็จลุล่วงได้เพียงสิบวันครูบาศรีวิชัยก็ถูกคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองของเชียงใหม่นำโดยเจ้าคุณโพธิรังสี บารมีศานธิการ(พระศรีโหม้) อดีตเจ้าคณะเชียงใหม่ตั้งข้อกล่าวหาครูบาศรีวิชัยหลายข้อหา เช่นทำให้พระสังฆาธิการเมืองเชียงใหม่จำนวน ๖๐ วัดไม่ยอมขึ้นตรงกับการปกครองคณะสงฆ์จังหวัด และ เป็นพระอุปัชฌาย์ เถื่อนโดยบวชให้พระอภิชัย(ครูบาอภิชัยขาวปี) เมื่อเรื่องครูบาศรีวิชัยได้ติดต่อให้ เหนือหัวมหาอำมาตย์โทเจ้าหลวงแก้วนวรัฐ และ หลวงศรีประกาศ ช่วยเข้าชี้แจงเหตุผลกับเจ้าคุณโพธิรังสี แต่ท่านทั้งสองไม่ยอมมาพบครูบาทั้งที่ท่านสองเป็นผู้นิมนต์ให้ครูบามาช่วยแผ่บารมีในการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ โดยแท้ ปล่อยให้ครูบาท่านถูกกล่าวหาแต่ข้างเดียวจนได้ถูกควบคุมตัวไปยังจังหวัดลำพูน |
ครูบาศรีวิชัยลั่นอมตะวาจา หลังจากที่ครูบาศรีชัยต้องถูกสอบสวนพบว่าครูบาศรีวิชัยพ้นข้อหาทั้งหมด หลวงศรีประกาศ ท่านเดิมได้มากราบเรียนขอนิมนต์ครูบาศรีวิชัยไปช่วยงานปฏิสังขรณ์สถานที่สำคัญในเมืองเชียงใหม่ซึ่งท่านให้เหตุผลว่าชาวเชียงใหม่ต้องขอพึ่งบารมีครูบาอีกมากในการนั้นๆ แต่ครูบาศรีวิชัยได้บอกปฏิเสธและเป็นต้นเหตุให้ท่านต้องกล่าวอมตะวาจาว่า “ตราบใดที่แม่น้ำปิงไม่ไหลย้อนขึ้นเหนือ จะไม่ขอเหยียบย่างเข้าแผ่นดินเมืองเชียงใหม่อีก” |
เจ้าอาวาสวัดวังทองอาจารย์องค์ที่สาม ครูบาติกขะ อดีตเจ้าอาวาสวัดวังทอง เจ้าจักรคำฯ ให้ความนับถือศรัทธาเป็นพิเศษ หลังจากเจ้าจักรคำถึงแก่พิราลัย พ.ศ. ๒๕๘๔ พระครูบาติกขะเป็นพระผู้ที่เข้มงวด ในเรื่องการปฏิบัติและเป็นผู้ที่ถือของขลัง ในครั้งนั้นได้มีชาวบ้าน ไปแจ้งพ่อแคว่น (กำนัน) ว่าครูบาติกขะได้ฆ่าวัวของชาวบ้านว่ามากินหญ้าหน้าวัด เพราะวัวของชาวบ้านได้มาทำความเสียหายแก่วัดวังทอง ครูบาติกขะได้ถือก้อนหินเท่าลูกกำปั้นปาถูกกะโหลกหัวของวัวเสียชีวิตกำนันในสมัยนั้นได้มาสอบสวนหาสาเหตุท่านไม่ยอมพูด กำนันได้ใช้กำลังชกต่อยครูบาติกขะ ท่านไม่ได้ตอบโต้แต่พอตอนกลางคืนกำลังพักผ่อน ได้ล้มพับลงกับที่แล้วมีเลือดไหลออกปาก จมูก เสียชีวิตกับที่ สร้างความแปลกใจให้แก่ลูกบ้าน ครอบครัว เป็นอย่างยิ่ง ทำให้ทุกคนสงสัยว่า ครูบาติกขะเป็นผู้ที่ให้กำนันเสียชีวิต เพราะเชื่อในวิทยาคมของครูบาติกขะซึ่งชาวล้านนาเรียกพิธีนี้ว่า "การตู้ของใส่ของ" สาเหตุอย่างหนึ่งที่ครูบาติกขะถูกบังคับให้สละสมณเพศ เพราะว่าครูบาติกขะเป็นผู้ไม่เกรงกลัวอำนาจการปกครอง ทำให้คณะกรรมการและคณะสงฆ์ยำเกรง จนทำให้คณะสงฆ์ชั้นปกครองไม่สามารถทำงานได้สะดวกเพราะเกรงในวิทยาคมของครูบาติกขะ แต่ครูบาติกขะรูปนี้ถูกก็ถูกบังคับให้สละสมณเพศจนได้ หลังจากหลวงจักรคำฯ ถึงแก่พิราลัย ครูบาปวนเจ้าคณะจังหวัดขณะนั้นจึงได้แต่งตั้งให้หลวงปู่ครูบาอินตา ปกครองวัดรักษาการเจ้าอาวาสแทน |
บุญฤทธิ์ครูบาวัดวังทอง |
|
ครูบาอินตามรณภาพแล้วฟื้น เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑ หลวงปู่ครูบาอินตา ธนกฺนันฺโธได้อาพาธหนัก และเข้ารักษา ณ โรงพยาบาลลำพูน จนถึงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ อาการยังไม่ดีขึ้นและทรุดหนักลงจนกระทั่งไม่รู้สึกตัวแพทย์จึงนำส่งโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการด่วน ไปถึงแพทย์ได้นำครูบาอินตาเข้าห้อง ไอ.ซี.ยู. และ ซี.ซี.ยู เป็นระยะๆไม่รู้สึกตัวถึง ๘ วัน พอถึงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๓๒ เวลา ๑๒.๐๕ น. แพทย์ได้ออกมาบอกกับคณะศรัทธาวัดวังทองว่า “ไปช่วยกันทำความสะอาดวัดเถิด หลวงปู่ครูบาอินตา มรณภาพแล้ว” คณะศรัทธาต่างเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมากได้มาช่วยกันทำความสะอาดวัด พร้อมด้วยคณะสงฆ์จังหวัดลำพูนมาที่วัดวังทองเป็นจำนวนมาก ครั้นถึงเวลา ขณะที่แพทย์จะฉีดยาศพของครูบาบาท่าน เมื่อแทงเข็มฉีดยาเข้าไป ปรากฏว่าเข็มฉีดยากับแทงไม่เข้า เหมือนกับเอาเข็มแทงกับหินอย่างไรอย่างนั้น แลเข็มได้หักงอลงในทันที เป็นที่ฉงนสนเท่ห์แก่คณะแพทย์อย่างยิ่ง คณะแพทย์จึงตัดสินใจไม่ฉีดยาศพ และเมื่อจะอาราธนาศพขึ้นรถเพื่อไปส่ง ณ วัดวังทอง หลวงปู่ครูบาอินตาก็รู้สึกตัวขึ้นมาทันที คณะแพทย์ตกใจมากและได้อุทานขึ้นว่า “หลวงปู่คงจะมีดีในตัวเป็นแน่แท้ ถ้าเป็นรูปอื่นคงจะไม่ได้แล้ว” หมายถึงคงไม่รอดแบบนี้ แพทย์ก็นำหลวงปู่ครูบาอินตากลับเข้ามารักษาในห้อง ไอ.ซี.ยู. ตามเดิม และหลวงปู่ท่านได้เมตตาเล่าให้คณะศรัทธาฟังว่า “ผมไม่รู้สึกตัว แต่ว่าผมได้ไปที่เมืองไหนก็ไม่รู้สวยงามมาก มีปราสาทราชมณเฑียรเหมือนพระราชวังติดแก้ว ลงรักปิดทองสวยงามเป็นอันมากและได้ไปดูเขาชนช้างกัน ช้างเมืองที่เห็นก็ไม่เหมือนช้างที่บ้านเรา ช้างมีลักษณะเหมือนช้างเผือกแต่งองค์ทรงเครื่องประดับทองคำทั้งหมดสวยงามมาก และไปที่นั่นไม่หิวอาหารเลย เหมือนกับว่าได้อาหารมาแล้ว และได้รู้สึกตัวอีกครั้งหนึ่ง ก็มานอนอยู่ ตรงนี้แล้ว” |
กาสะท้อนสายวัดวังทองพระเวทย์ข่ามคงเมืองเหนือที่ถูกซ่อนเร้น ตระกรุดกาสะท้อน,ก่าสะท้อน หรือ ก๋าสะท้อนนี้ เป็นวิชาสำคัญของสาสตร์ข่ามคงของล้านนาไทย คำว่า “ก่า” หรือ “ก๋า” เป็นภาษาล้านนาแปลว่า ป้องกัน,ไม่ให้เกิดขึ้น ดังนั้นคุณวิเศษของยันต์ก่าสะท้อนนั้นสามารถใช้ป้องกันทุก ๆ อย่าง ได้ เช่น คุณผี,คุณวิชาอำนาจคุณไสย, อันตรายต่าง ๆ , คุณคนคิดไม่ดี และสามารถสะท้อนที่เลวร้ายนั้นกลับไปด้วย ก่อนจะเดินทางกลับจากวัดวังทองผู้เขียนมีโอกาสได้สนทนากับ “พระอาจารย์แสนชัย นาถปุญฺโญ” |
|
ลูกศิษย์ของหลวงปู่ครูบาอินตาที่ได้ร่ำเรียนสืบสานวิชาตระกรุดกาสะท้อนจากหลวงปู่ครูบาอินตาโดยตรง เกี่ยวกับวิชากาสะท้อน พระอาจารย์ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า วิชาตระกรุดกาสะท้อน ของสายวัดวังทองไม่เหมือนกับวิชาก๋าสะท้อนของสำนักอื่นๆคือ “ตัวตะกรุดจะจารได้เฉพาะโลหะที่เป็นเงินเท่านั้น ตีตารางเป็นกระดูกยันต์ มีอยู่ ๒ บั้ง แผงยันต์พระคาถากาสะท้อนเต็มสูตร บั้งแรกจะลงเพื่อดูซับความชุ่มเย็น ความเจริญงอกงาม บั้งนี้ในตำราของหลวงปู่จะพรางอักขระไว้ ๑ ตัว เพื่อป้องกันคนที่ไม่ดีนำไปใช้ในทางที่ผิดหรือคัดอักระถอนวิชา ส่วนบั้งที่สองลงเพื่อใช้สะท้อนกลับความชั่วร้าย,มนต์ดำ ไสยดำปล่อยมาทางไหนก็ให้มันกลับไปทางนั้น ระหว่างกลางเป็นพระคาถาพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์” ผู้ที่มีตระกรุดกาสะท้อนของวัดวังทองบูชาติดต้องจะต้องภาวนาพระคาถาดังนี้ “ตั้ง นะโม ๓ จบ แล้วว่าวะนะตะ สังตะนะ วะนะตะตะ เขชะมะมะ ยะชะ ยะชะสะละ สวาเท๊ก” ผู้ใช้จะต้องบูชาตะกรุดกาสะท้อน ให้ท่องก่อนออกจากบ้านอย่าให้ขาดจึงจะปรากฎผลแล |
|
นอกจากตระกรุดก๋าสะท้อนแล้วหลวงปู่ยังเคยทำ ตะกรุดไม้ไผ่รวกตัน,ตะกรุดพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ เนื้อชินตะกั่วใช้ในทางป้องกันภยันตรายต่างๆนา,ตะกรุดดอกนี้เป็นตะกรุดพระพุทธเจ้าปัดเคราะห์(หลีกเคราะห์)หลวงปู่จารก่อนจะใช้ครั่งพุทธาซึ่งมีความเหนียวมาพอกและป้องกันเหงื่อและความชื้น เป็นตะกรุดพอกครั่งชนิดเดี่ยวที่หลวงปู่สร้าง ตัวอักขระทั้ง๒ข้าง เป็นมนต์ยันต์ป้องกัน ปัดเป่า บังภัย ตรงกลางเป็นมนต์ยันต์ธาตุ๔ และพระเจ้า ๕ พระองค์ จารลงในแผ่นเงิน ม้วนแล้วพอกครั่งตะกรุดพอกครั่งพระพุทธเจ้าหลีกเคราะห์ครูบาอินตา วัดวังทอง จำนวนสร้าง ๑๘๐ ดอก ปัจจุบัน หาไม่ได้แล้วครับ,ตะกรุดมหาอำนาจ วาสนา เป็นหนึ่งในมนต์ยันต์พิชัยสงคราม “นารายณ์สะกดทัพ” สร้าง ๙๙ ดอก เป็นทองแดง และทองเหลือง สำหรับคาดเอว สมัยก่อนหลวงปู่มักจะทำแจกเฉพาะทหาร,ตำรวจ ที่จะไปออกรบเท่านั้น “หลวงปู่จะหวงมาก” ท่านบอกอยู่เสมอว่า “ท่านจะไม่ให้ใคร”เพราะมนต์ยันต์นี้เป็นของร้อนคนที่มีบารมีเท่านั้นที่จะรักษาได้,แผงมนต์ยันต์เรียกทรัพย์ เรียกว่า“น้ำบ่อแก้วจืมทราย” มีไว้กับตัวไม่มีวันอดมีกินมีใช้ตลอด นิยมทำเป็นหลอดคาดเอว และติดประตูบ้าน ร้านค้า,พระยันต์ธรรมวัฒน์ เป็นยันต์ธาตุปรับไปตามลักขณาราศีเกิดของผู้ครอบครอง นิยมทำเป็นหลอดพกติดตัว ช่วยบรรเทาสิ่งหนักร้ายแรง ให้บรรเทาเบาบาง |
|
ปาฎิหาริย์เหรียญรุ่นแรก สร้างปี พ.ศ.๒๕๔๕ เป็นเหรียญรูปไข่ด้านหน้าแกะเป็นรูปหลวงปู่ครูบาอินตาครึ่งองค์สวมประคำจารึกชื่อ และฉายา ธนกฺขนฺโธ ของหลวงปู่ ด้านหลังประทับด้วยยันต์ตาราง “หัวใจธาตุคาถา”และ “หัวใจแก้วสารพัดนึก” ด้านบนล้อมด้วยอักขระคาถาล้านนาด้านอยู่คงและแคล้วคลาด เหรียญรุ่นแรกนี้เป็นที่เสาะแสวงหาของชาวบ้านชาววังทองและกลุ่มนักสะสมพระเครื่องชาวลำพูนเป็นอย่างมากเนื่องจาก โยมนิดนักการเมืองท้องถิ่นและศิษย์วัดวังทองได้เกิดอุบัติเหตุขับรถไปชนกับรถไฟบริเวณทางข้ามรถไฟลำพูน เรื่องนี้คุณนิดผู้ประสบเหตุเล่าว่าขณะที่ตนขับรถชนกับรถไฟนั้นเวลาผ่านไปเร็วมากมารู้สึกตัวอีกทีก็อยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว สภาพรถของคุณนิดเรียกได้ว่าขาดไปครึ่งท่อน คือครึ่งท่อนหลัง คุณนิดเชื่อว่าที่ตนรอดมาได้ก็เพราะบารมีของเหรียญหลวงปู่ครูบาอินตารุ่นนี้ที่มีติดตัวอยู่เท่านั้น เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไปทำให้ค่านิยมในเหรียญรุ่นแรกนี้สูงขึ้นทันที |
หลังจาก พ.ศ.๒๔๗๕ หลวงปู่ครูบาอินตาสอบได้ประโยคธรรมชั้นนวกภูมิได้ตามหลักสูตรประโยคนักธรรมชั้นตรีแล้ว ท่านได้ว่างเว้นจากการศึกษาปริยัติธรรมนานถึง ๑๐ ปีเต็ม เพราะท่านได้แต่ติดตามครูบาศรีวิชัยไปบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนาต่างๆ และได้ทำงานในตำแหน่งเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดลำพูนด้วย จึงทำให้ไม่มีโอกาสที่จะศึกษาพระปริยัติธรรมต่อในชั้นนักธรรมโท ในปี พ.ศ.๒๔๘๖ หลวงปู่ครูบาอินตาจึงได้เข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นมัชฌิมมภูมิประโยคนักธรรมชั้นโท ที่สำนักเรียนวัดเหมืองง่า ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูนและท่านสอบนักธรรมโทสำเร็จได้ในปีนี้นั่นเอง |
|
พ.ศ.๒๔๘๙ หลวงปู่ครูบาอินตาได้เข้าสอบนักธรรมสนามหลวงประโยคนักธรรมชั้นเถรภูมิตามหลักสูตรประโยคนักธรรมชั้นเอก ณ สำนักเรียนวัดพระธาตุหริภุญชัย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน และสอบได้ในปีนั้น |
เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๗ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก(วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์แต่งตั้งพระครูชั้นประทวนสมณศักดิ์ สมเด็จพระสังฆราชจึงมีพระบัญชาแต่งตั้งให้หลวงปู่ครูบาอินตาเป็นพระครูชั้นประทวนสมณศักดิ์ที่ “พระครูอินตา ธนกฺขันโธ”และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ในวาระเฉลิมพระชนม์พรรษาเช่นเดียวกัน หลวงปู่ท่านได้รับพระราชทานเป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชันโท ในราชทินนามที่ “พระครูถาวรศีลคุณ” ได้เข้าเฝ้ารับประทานสมณศักดิ์จากพระหัตถ์สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๕ ณ วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร จังหวัดแพร่ |
|
การปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ พระอาจารย์แสนชัย นาถปุญโญ ศิษย์เอกของหลวงปู่เล่าให้ฟังว่า “การปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ก็เฉกเช่นเดียวกับพระสาวกของพระพุทธเจ้า หากจะแปลกแตกต่างก็คงจะเป็นวัตรปฏิบัติที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน สมถะ สันโดษ เรียบง่าย ไม่ยึดติด ปฎิปทาของหลวงปู่เป็นประจักษ์แก่ศิษย์ แก่ผู้ที่มาพบเห็น ว่าการจะเอาธรรมะสอนใครสักคน ให้รู้จักสอนตัวเองก่อนเสมอ ธรรม คือ ธรรมชาติ อยู่รอบตัวท่าน อยู่รอบตัวเรา หลวงปู่บอกกับลูกศิษย์ใกล้ชิดเสมอว่า ธรรมะมีหลายอย่าง หลายประเภท แต่ทว่าธรรมะมีรสเดียว เมื่อใครเข้าถึงธรรมทุกคนไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ เศรษฐี ยาจก พระ สามเณร ย่อมได้ลิ้มรสพระธรรมรสเดียวกันคือ สว่าง,สะอาด,สงบกล่าวคือพระนิพพานคือการหลุดพ้นนั่นเองเรื่องการปฏิบัติของหลวงปู่ท่านไม่ค่อยสอนใคร แต่จะให้ลูกศิษย์คอยดูคอยสังเกต และจดจำ ส่วนมากแล้วท่านก็จะเปรียบเปรยกับเหตุการณ์ก่อนหน้าที่เคยเกิดขึ้น ว่าดีไม่ดี แล้วให้เราเอามาพิจารณาดู ท่านบอกเสมอว่า คำตอบอยู่ในนั้นแล้ว เรื่องวัตถุมงคลที่ท่านสร้าง พระคาถาอาคมที่ท่านมี ท่านไม่ได้ มีไว้เพื่ออวดใครท้าใคร แต่มีไว้เพื่อระลึกนึกถึงครูบาอาจารย์ มีไว้เพื่อช่วยคนอื่น ที่เดือดร้อน อันไหนร้อนช่วยผ่อนคลาย ท่านยังบอกอยู่เสมอว่า “เราต้องอยู่เหนือปัญหา ไม่ใช่ให้ปัญหาอยู่เหนือเรา” วัตถุมงคลเป็นเพียงแค่สิ่งปลุกปลอบให้เราสบายใจขึ้น อุ่นใจขึ้น เป็นบุคคลาธิษฐาน เป็นความเชื่อของคน เพราะพื้นฐานของความศรัทธามาจากความเชื่อนั่งเองถ้าถามว่าหลวงปู่ท่านสำเร็จธรรมขั้นไหน อันนี้ไม่สามารถที่จะตอบให้กระจ่างได้ เป็น “ปัจจัตตัง” แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงห้ามเหล่าพระสาวกประกาศเรื่องเกี่ยวกับการสำเร็จธรรมของตัวเอง เพื่อเป็นการป้องกันภัยอันจะพึงมีมาในรูปแบบต่างๆ” |
|
ทางไปวัดวังทองนั้นหาง่ายไปไม่ยาก วัดอยู่ในตัวเมืองลำพูนใกล้กับสถานีรถจังหวัดลำพูน และที่ขาดไม่ได้ก็คือขอขอบคุณคณะสงฆ์วัดวังทองทุกท่านอันได้แก่ พระอาจารย์แสนชัย นาถปุญฺโญ ที่มีความกรุณาเล่าประวัติของหลวงปู่ครูบาอินตา ขอบคุณทุกท่านจริงๆครับ |