พระบูชาสมเด็จพระยุพราช หน้าตักห้านิ้ว พระประจำโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ด้วยพิธีพุทธาภิเศกที่ยิ่งใหญ่โดยมี สมเด็จฯพระญาญสังวรฯ สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานในพิธีพุทธาภิเศก ณ. วิหารหลวงวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่ พร้อมด้วยพระคณาจารย์ล้านนา นำโดยครูบาเจ้าชัยวงศ์ วัดพระบาทห้วยต้ม ครูบาอิน วัดฟ้าหลั่ง ครูบาเจ้าดวงดี วัดท่าจำปี ครูบาสิงหวิชัย วัดฟ้าฮ่าม หลวงปู่ทอง วัดพระธาตุศรีจอมทอง ครูบาคำปัน วัดหม้อคำตวง และที่สำคัญได้นำไปขอบารมี หลวงพ่อเกษม เขมโก ลงแผ่นทองชนวนร่วมอธิษฐานจิต เมื่อวันที่ 23-24 ธันวาคม 2528
มูลเหตุเนื่องจากการบูรณะวัดนางเหลียว ในมงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยได้รับกุศลจิตศรัทธา จากศาสตราจารย์ นายแพทย์ทองน่าน นางสมศรี วิภาตะวณิช จัดสร้างพระพุทธรูปนวโลหะ เชียงแสนสิงห์หนึ่ง หน้าตัก ๓๙ นิ้ว ซึ่งชื่อว่า "สมเด็จพระยุพราช" และ พันเอก(พิเศษ) ทรงธรรม นางเหรียญ วิภาตะวณิช จัดสร้างพระอัครสาวก ๒ องค์ มอบให้เป็นพระพุทธรูปประจำโรงเรียน ตามนโยบายจัดหาพระพุทธรูปประจำสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนั้นนายเจริญ และนางสุดารัตน์ นววัฒนทรัพย์ นักธุรกิจหนุ่มสาวจากกรุงเทพฯ มีจิตศรัทธาอุปการะด้านการเงินส่วนหนึ่ง ในการบูรณะและสร้างถนนหน้าวัดนางเหลียว ตามจิตอธิษฐานที่เคยตั้งใว้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ เมื่อสมัยที่มาพักที่โรงแรมสุมิตต์ ใกล้ๆ วัดนางเหลียว และได้เห็นสภาพปรักหักพังของวัดนางเหลียวในขณะนั้น
ส่วนการซ่อมพระเจดีย์วัดนางเหลียวนั้น โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยได้รับความอนุเคราะห์จากนายทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ได้มอบหมายให้นายสุรพล ดำริห์กุล เจ้าหน้าที่จากหน่วยศิลปากรที่ ๔ จังหวัดเชียงใหม่ มาซ่อมแซมองค์พระเจดีย์ เสริมปลีปล่องไฉน ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ลานดินหน้าองค์พระเจดีย์ได้รับการปรับ และเริ่มปลูกต้นไม้ใหญ่นานาพรรณ โดยผู้ใหญ่ของบ้านเมืองปลูกเป็นที่ระลึก ในโอกาสฉลอง ๘๐ ปี โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
งบประมาณในการดำเนินการบูรณะซ่อมแซมวัดนางเหลียวครั้งนี้ ได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศและจากต่างประเทศด้วย ในการหางบประมาณสมทบกับเงินบริจาคดังกล่าวคณะกรรมการได้จัดสร้างวัตถุมงคลสองครั้ง กล่าวคือ
ครั้งแรกสร้างพระสมเด็จพระยุพราชจำลอง เนื้อนวโลหะ เป็นพระพุทธรูปบูชา หน้าตัก ๙ นิ้ว จำนวน ๕๒๙ องค์ หน้าตัก ๕ นิ้ว จำนวน ๒,๐๐๐ องค์ และเหรียญบูชา อีก ๘๔,๐๐๐ เหรียญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระราชลัญจกรตราแผ่นดินประจำรัชกาลที่ ๖ จารึกไว้ที่ฐานพระพุทธรูป และด้านหลังของเหรียญบูชา ตามหนังสือที่ รล ๐๐๐๓/๑๑๗๕๑ ลงวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๒๘ ผู้ออกแบบและปั้นองค์พระ คือ นายนพวัฒน์ (สนั่น) สมพื้น หัวหน้างานหัตศิลปและช่างสิบหมู่ กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร คณะกรรมการได้จัดพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลดังกล่าว ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๒๘ เวลา ๑๘.๐๙ น. ได้ราชาฤกษ์ เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมตตาเสด็จมาเป็นองค์ประธานจุดเทียนชัยและนั่งปรก พร้อมด้วยพระเกจิอาจารย์ทั่วภาคเหนือ หลังจากนั้นสาธุชนได้หลั่งไหลมาบูชาพระสมเด็จพระยุพราชจำลองดังกล่าว หมดสิ้นภายใน ๓ เดือน
การสร้างวัตถุมงคลครั้งที่สอง ได้นำเศษผงปูน อิฐหักจากองค์พระประธานวัดนางเหลียว ที่ต้องสกัดออกบางส่วนเพื่อตกแต่งองค์ใหม่ ได้นำส่วนนี้มาบดอัดรวมกับผงอิทธิเจจากวัดสำคัญทุกภาค และได้รับเมตตาประทานพระเกศา และจีวรที่ใช้แล้ว จากสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นเป็นส่วนผสมเพื่อจัดสร้างเป็นพระเครื่องเรียกว่า "พระสมเด็จพระยุพราช" ประดิษฐานในเรือนแก้วแบบล้านนา ตามหนังสือที่ ชม ๐๐๓๐.๐๑/๑๑๓๒ ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๓๐ การประกอบพิธีพุทธาภิเษกพระสมเด็จพระยุพราช ได้จัดขึ้นที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยมี ม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็นประธานดำเนินการ และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้แทนพระองค์มาเป็นประธานจุดเทียนชัย และได้รับความเมตตาจาก ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เป็นประธานฝ่ายสงฆ์นั่งปรก พร้อมด้วยพระเกจิอาจารย์จากทั่วประเทศ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๒ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร กทม.
ข้อมูลจากหนังสือ "พระบารมีปกเกล้าฯ ยุพราชวิทยาลัย ๑๐๐ ปี นามพระราชทาน"
หนังสือ ยุพราชวิทยาลัย "รุ่น ยูงทอง"