พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร จ. น่าน ปี 2533
องค์พระสูง 11 นิ้ว เฉพาะฐานสูง 2.5 นิ้ว เส้นผ่านศูนย์กลางฐานวงกลม 3.5 นิ้ว
สูงรวมฐานทั้งสิ้น 13.5 นิ้ว
จัดสร้างในปริมาณจำกัดเพื่อเป็นที่ระลึกงานบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎก และปรับปรุงเป็นวิหารที่ประดิษฐาน "พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี"
น่าน เดิมชื่อ นันทบุรี เป็นจังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนสุดขอบฟ้าล้านนาตะวันออก นอกจากจะเป็นเมืองแห่งศิลปะวัฒนธรรมอันเก่าแก่แล้ว ยังเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์จากความสวยงามทางธรรมชาติ และด้วยความที่ตัวเมืองน่านอุดมไปด้วยวัดวาอารามที่เก่าแก่มากมาย
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นวัดหลวงประจำเมืองที่เจ้าเมืองใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนา และพิธีสำคัญของบ้านเมือง "พระธาตุเจดีย์วัดช้างค้ำวรวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ" นับเป็นปูชนียสถานสำคัญ โดยเป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะจากเจดีย์ทรงลังกา
พงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า เจ้าผู้ครองนครน่าน ชื่อพญาภูเข่ง หรือภูเข็ง เป็นผู้สร้างวัดนี้เมื่อปีจุลศักราช 768 ตรงกับ พ.ศ. 1949 เรียกชื่อในครั้งนั้นว่า วัดหลวง ตามหลักฐานดังกล่าวนี้ อายุของวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร นับถึงปัจจุบัน ก็จะมีอายุถึง 612 ปี (ถึง พ.ศ. 2561)
พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี คือพระพุทธรูปลีลาสมัยสุโขทัยหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์อย่างดี มีส่วนผสมของทองคำประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสูง 145 เซนติเมตร
มีข้อความจารึกไว้ที่ฐานว่าพระเจ้างั่วฬารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์ภูคา เป็นผู้สร้างเมื่อวันพุธ เดือน 6 เหนือ เดือน 8 ใต้ จุลศักราช 788 พ.ศ. 1969 คำนวณอายุได้ 592 ปีล่วงมาแล้ว เดิมลงรักพอกปูนหุ้มไว้ทั่วองค์ และประดิษฐานอยู่ภายในโขงพระเจดีย์ทิพย์ทางด้านทิศตะวันออก เพิ่งค้นพบเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 โดยนายไกรศรี นิมมานเหมินทร์ และนายอเล็กซานเดอร์ เบราว์ กริสโวสด์ นักโบราณคดีชาวอเมริกัน ซึ่งมาศึกษาและค้นคว้าศิลปกรรมในจังหวัดน่าน วินิจฉัยว่าไม่ใช่พระปูนปั้น จึงใช้ฆ้อนกระเทาะปูนที่หุ้มแตกออก ปรากฏว่าพระวรกายทารักทับไว้อีกชั้นหนึ่ง เมื่อขูดดูจึงเห็นเนื้อทองสุกปลั่ง ได้เคาะเอาปูนออกหมดทั้งองค์ แล้วตกแต่งขัดผิวใหม่จนเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณ์งดงามมาก
เจ้าอาวาสสมัยนั้นคือ "พระชยานันทมุนี" (พรหม) จึงได้ถวายพระนาม สันนิษฐานว่าตามชื่อเมืองน่านในอดีต (ตามที่กล่าวไว้เบื้องต้น) หรืออีกนัยยะหนึ่งตามตำแหน่งสมณศักดิ์ของเจ้าคณะจังหวัดน่านว่า
" พ ร ะ พุ ท ธ นั น ท บุ รี ศ รี ศ า ก ย มุ นี "
ปัจจุบันประดิษฐานไว้ในหอพระไตรปิฎก ซึ่งได้บูรณะปรับปรุงให้เป็นวิหารพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ถือเป็นพระอันศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองน่าน เลยทีเดียว
แต่เนื่องจากพระเกตุโมลีของพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนีถูกตัดมาแต่เดิม ต่อมาใน พ.ศ. 2522 สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท โดยนายอนันต์ สงวนนาม เลขาธิการเร่งรัดฯ รับพระราชทานกฐินพระราชทานมาทอดถวาย ณ ที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ได้ปรารภถึงยอดพระโมลีควรจะได้หล่อสวมให้สมบูรณ์ ได้ฝากกับ พ.ท.อุดม เพชรศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมกับข้าราชการแผนกต่างๆ ด้วยศรัทธาประชาชนในจังหวัดได้ร่วมกันบริจาคทองเพื่อหล่อพระเมาลี โดยมาร่วมพิธีหล่อพระเมาลีและพุทธาภิเศกพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี พร้อมด้วยเหรียญจำลองขึ้น ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ในวันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2523
เมื่อหล่อพระเมาลีเสร็จเรียบร้อยแล้วทางผู้ว่าราชการจังหวัดน่านได้นำยอดเมาลีไปเก็บรักษาไว้ที่ธนาคารกสิกรไทย ทางผู้ว่าฯจังหวัดน่านได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร (ในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินสวมพระเมาลีพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี แทนพระองค์ ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2524
เมื่อทรงสวมพระเมาลีเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ได้นำไปประดิษฐาน ณ ห้องพระที่สร้างขึ้นใหม่ติดกับกุฎิเจ้าอาวาส ปัจจุบันทางวัดได้บูรณะหอพระไตรปิฎก และปรับปรุงเป็นวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี
ที่มาของข้อมูลเวปไซด์โอเคเนชั่น
|