มีรายละเอียดเกี่ยวกับ พระขุนแผนเคลือบกรุวัดใหญ่ ฝากกรุวัดบ้านกลิ้ง มาฝากครับ
ผมได้มาจาก website หนึ่ง ดีมากๆๆ ข้อมูลน่าจะเชื่อได้ครับ...
แต่เดิมมีเรือนไม้โบราณแห่งหนึ่ง ซึ่งเรือนหลังนี้เดิมทีอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สันนิษฐานว่า เป็นตำหนักของเจ้านาย สร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ (สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ภายหลังได้รื้อไปปลูกไว้ที่ วัดบ้านกลิ้ง อยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับ อำเภอบางปะอิน เดิมมีอยู่ด้วยกัน ๒ หลัง คือ หอไตร เป็นห้องมีระเบียงรอบ และหอเขียน เป็นศาลาไม้มีฝา ๓ ด้าน ทุกฝามีภาพลายรดน้ำประกอบเต็มทุกฝา ต่อมาเนื่องจากอาคารทรุดโทรมลงมาก ชาวบ้านจึงได้รื้อ แล้วรวมเอาไม้ปลูกขึ้นใหม่เป็นหลังเดียว แต่เนื่องจาก ภาพลายรดน้ำได้จางไปมากแล้ว การประกอบจึงไม่ได้เรียงตามลำดับเนื้อเรื่อง เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๐๒ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต หรือ เสด็จในกรมฯ ทรงเป็นพระนัดดา (หลาน) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าสุขมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ได้ทรงทราบว่าที่วัดเล็กๆ ซึ่งเกือบจะร้างอยู่แล้วแห่งนี้ มีเรือนโบราณเก่าแก่อยู่หลังหนึ่งที่ชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่มีผู้ใดบูรณะรักษาเลย แต่มีสิ่งสวยงาม พระองค์ท่านจึงทำผาติกรรม ไถ่ถอนย้าย มาไว้ที่วังสวนผักกาด และได้ทรงโปรดให้มีการบูรณะพระประธานที่วัดชาวบ้านเรียกขานกันว่าหลวงพ่อขาว ระบุปีไว้ที่ฐานขององค์หลวงพ่อขาวว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๑๔๓ ( สมัยพระนเรศวรมหาราช ) ทั้งทรงโปรดให้สร้างศาลาสวดมนต์และศาลาท่าน้ำ ถวายวัดบ้านกลิ้งเป็นการทดแทน พร้อมกับได้จ่ายเงินในการซ่อมแซมตัวอาคารและภาพลายรดน้ำไปเป็นจำนวนมาก เสด็จในกรมฯ ทรงประทานหอเขียนเป็นของขวัญแก่ "คุณท่าน" เมื่ออายุครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ และได้เชิญชาวบ้านกลิ้งมาทั้งหมดซึ่งขณะนั้นชาวบ้านวัดบ้านกลิ้งมีอยู่เพียงประมาณ ๑๐๐ คน เพื่อให้มาชมหอเขียนที่ย้ายมาจากวัดบ้านกลิ้ง และได้ปลูกสร้างใหม่นี้ (ปัจจุบันสามารถชมได้ที่พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด)
นอกจากการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ในปี ๒๕๐๒ แล้ว เสด็จในกรมฯ ท่านได้ทรงสร้างขุมทรัพย์ไว้ในฐานชุกชี ซึ่งมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่คือหลวงพ่อขาวประดิษฐานอยู่กลางแจ้งมีพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ อีก ๗ องค์เรียงรายอยู่โดยรอบ โดยไม่มีใครในสมัยนั้นคาดคิดถึงมาก่อน การบูรณะซ่อมแซมในสมัยนั้นพระสงฆ์และชาวบ้านได้นำ พระเครื่องที่เก็บรักษาไว้ในวัดซึ่งมีพระพุทธรูปสมัยอยุธยาจำนวนมาก พระโคนสมอ พระขุนไกร แม้แต่พระแผงใบขนุนก็ยังมี นอกจากนี้ยังมีพระขุนแผนเคลือบที่สมัยนั้นค่านิยมในการแลกเปลี่ยนเป็นเงินทองยังไม่มีค่ามากมายอะไรนัก เข้าบรรจุในฐานชุกชี รวมไปถึงใต้ฐานพระองค์เล็ก ๆ ที่ประดิษฐานอยู่รายรอบพระประธานองค์ใหญ่ กลายเป็นขุมทรัพย์ที่มีค่ามหาศาล ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน การบูรณะในเวลานั้นรวมถึงครั้งต่อ ๆ มา เป็นการบูรณะโดยชาวบ้านวัดบ้านกลิ้งเอง มีการโบกปูนทับ ทาสีใหม่ จากการสังเกตพระพุทธรูปปูนปั้นคราวแตกกรุพบว่ามีการเคลือบปูนปิดอยู่หลายชั้น
วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๐ ได้มีการพบพระขุนแผนเคลือบบริเวณฐานชุกชีของพระองค์เล็กที่เป็นองค์บริวาร องค์หนึ่ง (จากรูปองค์ขวามือสุดของเรา) พร้อมกับพระขุนไกรอีก ๒ องค์ เหตุที่มีการเคลื่อนย้ายพระเนื่องจากทางวัดต้องการสร้างวิหารครอบทับพระหลวงพ่อขาว และพระที่ตั้งอยู่กลางแจ้งทั้งหมด ซึ่งส่วนหลังของวิหารจะไปชนกับด้านหน้าโบสถ์ จึงต้องเคลือนย้ายพระที่อยู่กลางแจ้งเลื่อนออกไปทางด้านหน้า พระขุนแผนเคลือบที่ขึ้นมาองค์แรก เวลานั้นยังไม่มีใครรู้ว่าเป็นพระอะไร หลังจากนั้นได้พบพระใต้ฐานชุกชีพระองค์ใหญ่อีกหลายองค์ ได้มีการนำพระที่ได้มาแจกจ่ายกันในหมู่พระสงฆ์และกรรมการวัด
จนมีพระรูปหนึ่งเป็นรองเจ้าอาวาสวัดโปรดสัตว์ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดบ้านกลิ้ง ได้นำพระมาวางอุบายให้เซียนพระเข้ามาพิจารณาดูอ้างว่าเป็นพระมรดกตกทอดมีอยู่ด้วยกันหลายองค์แต่ยังไม่ได้แบ่งปันกันระหว่างพี่น้อง จนเมื่อได้รับทราบความจริงว่าเป็นพระที่มีค่ามหาศาลเช่าหากันหลักล้าน เกิดการเจรจาซื้อขายกันในหมู่พระและกรรมการวัดด้วยกัน รวมถึงมีเซียนพระท้องถิ่นเข้ามามีส่วนในการขุดพระออกมาจำหน่าย หลายต่อหลายองค์ ทำให้มีพระหลุดไปจากวัดในช่วงแรกนั้นจำนวนหนึ่ง
(พระขุนแผนเคลือบพิมพ์แขนอ่อน ติดแน่นอยู่กับด้านหลังของพระขุนไกร และป้ายที่ฐานชุกชีที่เพิ่งขุดพบ ตัวเลขภาษาขอม ระบุปี ๒๑๔๓)
จนข่าวแพร่กันไปปากต่อปาก ถึงมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น ปิดกันไม่อยู่จึงมีการขุดค้นอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ ๔ กันยายน โดยความยินยอมของเจ้าอาวาส และกรรมการวัด เกิดความขัดแย้งการขโมยพระที่ขุด การลักลอบจำหน่ายไปแบบส่วนตัวก็มี เมื่อถึงวันที่ ๖ กันยายนทางคณะกรรมการวัดได้ลงมติให้มีการนำพระที่เหลือทั้งหมดออกจำหน่าย รวม ๑๐ องค์ โดยมีการตั้งมูลค่าไว้สูงถึง ๑๐ ล้านบาท
นับรวมพระที่มีการจำหน่ายอย่างลับ ๆ จนถึงการซื้อขายอย่างเปิดเผย มีพระขุนแผนเคลือบวัดใหญ่จำนวนทั้งสิ้น ๓๓ องค์ ในจำนวนนี้รวมพระแตกหักเกินกว่า ๑๐ องค์ เป็นการเสียหายเนื่องจากการขุดค้นโดยเร่งรีบและผิดวิธีการทั้งสิ้น และพระขุนแผนไม่เคลือบ (ขุนแผนวัดจักรวรรดิ์) ๒องค์
จากหลักฐานทั้งหมดที่มาของขุนแผนเคลือบจึงสันนิษฐานได้ ๒ กรณี
๑. เป็นพระที่บรรจุไว้ในฐานชุกชี ตั้งแต่สมัยพระนเรศวรมาแล้ว (ตามปีที่ระบุไว้ที่พระหลวงพ่อขาวว่าสร้างขึ้นสมัยพระนเรศวรมหาราช) เมื่อการบูรณะต้นปี ๒๕๐๐ นำขึ้นมาลงรักปิดทองไว้แล้วบรรจุไว้ตามเดิม ความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระพุทธรูปที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่าหลวงพ่อขาว ต้องมีการสืบค้นกันต่อไป
๒. เป็นพระที่ชาวบ้านวัดบ้านกลิ้ง ซึ่งขณะนั้นมีประมาณ ๑๐๐ คน ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านของช่างฝีมือ (พิจารณาจากคำบอกเล่า และเรื่องของการบูรณะเรือนไม้ประวัติศาสตร์) ซึ่งได้ไปทำการบูรณะวัดใหญ่ชัยมงคล นำพระขุนแผนเคลือบติดไม้ติดมือมา ลงรักปิดทองและบรรจุไว้ที่ฐานหลวงพ่อขาวคราวบูรณะในปี พ.ศ. ๒๕๐๐
ขุนแผนเคลือบวัดใหญ่ในฐานชุกชีหลวงพ่อขาว เมื่อค้นคว้าโดยละเอียดจึงมีความสำพันธ์กับ พระนเรศวรมหาราช รวมไปเชื้อพระวงศ์ซึ่งมีศักดิ์เป็น พระราชนัดดา (หลาน) ของสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว มหาราช อีกทั้งเรือนไทยที่มีความสวยงามติดอันดับต้น ๆ ของโลกก็ยังได้สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งทรงเป็นมหาราชอีกองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย |