1. พุทธลักษณะโดยรวม.
พระพุทธรูปศิลปะลังกา แบ่งเป็น 2 แบบ แบบแรกเรียกว่า"ลังกานอก" เป็นศิลปะที่ไม่ได้มีการผสมผสานกับเชียงแสน แต่ศิลปะอีกแบบที่กำลังจะกล่าวถึงในที่นี้คือ พระพุทธรูปเชียงแสนลังกาวงศ์ หรือบางท่านเรียก"ลังกาใน" พระพุทธรูปแบบนี้ได้รับอิทธิพลจากลังกา ถึงแม้จะเป็นสิงห์หนึ่งหรือไม่ก็ตามจะต้องเป็นแบบนั่งราบเท่านั้น คือนั่งขัดสมาธิแบบขาขวาทับบนขาซ้าย.
2. กรรมวิธีการสร้าง.
การหล่อพระพุทธรูปในแบบเชียงแสนลังกาวงศ์ พระพุทธรูปมีเนื้อบางกว่าการหล่อพระ พุทธรูปเชียงแสนแท้ๆ โดยจะสังเกตุได้ว่าพระพุทธรูปเชียงแสนลังกาวงศ์บางองค์มีการเทสัมฤทธิ์เพิ่มเติมเข้าไปเพื่อให้นิ้วมือ หรือบางจุดที่เป็นจุดเทสัมฤทธิ์เข้าไปได้ยากให้เต็ม แต่ไม่ได้ถือเป็นความผิดพลาด หรือบ่งบอกว่าพระองค์นั้นๆ เป็นพระซ่อมเนื่องจากรอยซ่อมเป็นการซ่อมแต่เดิม เนื้อสัมฤทธิ์มีความเก่าแก่เท่ากับเนื้อสัมฤทธิ์ในจุดอื่นๆ ผิวมีความเสมอกัน ซึ่งแตกต่างไปจากการซ่อมใหม่ ซึ่งเนื้อสัมฤทธิ์มีสีแตกต่างไปจากสีเดิม.
3. เม็ดพระศก.
พระพุทธรูปเชียงแสนลังกาวงศ์สามารถแบ่งลักษณะของเม็ดพระศกได้เป็น 2 แบบ ตามลักษณะการปั้นองค์พระของช่างในสมัยนั้น
แบบที่ 1 เรียกกันเป็นที่ติดปากว่าเม็ดสาคู ลักษณะของการปั้นพระ จะปั้นเป็นเศียรพระก่อน หลังจากนั้นจะปั้นเม็ดพระศกแปะลงบนเศียรวางเรียงอย่างเป็นระเบียบ ศิลปะแบบนี้ถือได้ว่ามีความจัดจ้านมากกว่าแบบที่ 2 มาก และอายุของพระที่สร้างจะมากกว่า แบบที่ 2
แบบที่ 2 ลักษณะการทำต่างกัน โดยการปั้นเศียรพระขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นเม็ดพระศกจะใช้การตอกเม็ดพระศกลงบนเศียรพระ ส่วนการจัดเรียงเม็ดพระศก ขึ้นอยู่กับความเพียรของช่างปั้นคนนั้นๆ.
4. พระวรกาย
จำนวน 95 % ของพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลจากลังกา นั่งขัดสมาธิราบตามแบบของลังกาเดิม แม้ว่าจะเป็นสิงห์หนึ่งหรือสิงห์สามก็ตาม แต่พระพุทธรูปบางองค์หรือน้อยองค์ที่อยู่ในจำนวน 5 % นั่งขัดสมาธิเพชร ความจัดจ้านของศิลปะในจุดอื่นๆ สังเกตได้จากเส้นสังฆาฏิ ที่มีรายละเอียดงดงามกว่าหาได้ยากกว่าแบบธรรมดา เส้นสังฆาฏิตามปกติของศิลปะแบบลังกา เส้นด้านหลังจะพาดลงไปจนเกือบถึงฐานพระ แต่พระพุทธรูปจะไม่นั่งทับเส้นสังฆาฏิเหมือนกับพระพุทธรูปเชียงแสนธรรมดา เส้นจีวรต่างๆ มีความคมชัดและครบถ้วน แม้กระทั่งเส้นที่พาดอยู่บริเวณหน้าแข้ง .
5. ฐานพระ
ฐานเขียงหรือฐานเรียบที่ไม่มีความวิจิตรพิศดาร ถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปเชียงแสนลังกาวงศ์ที่สร้างขึ้นมาในยุคแรก ๆ รูปบัวที่ฐานของพระรุ่นแรกๆ จะใช้วิธีการขีดเป็นลายรูปบัว ส่วนรุ่นหลังจะใช้การปั้นแบบพิมพ์แล้วหล่อเป็นบัวที่สวยงาม หรือแม้กระทั่งการสร้างเป็นฐานฉลุลายรูปเทพพนม ช้าง หรือม้า ทำให้ดูแปลกตา.
Cr. Tae Siamboran