พระกริ่ง ภปร. ปี08 ออกวัดบวรนิเวศ ฐานตะไบหยาบ สวยเดิมๆค่ะ
ประวัติเล็กๆน้อยๆค่ะ
พระกริ่ง ภปร วัดบวรนิเวศวิหารปี พ.ศ. 2508 ซึ่งสร้างพร้อมกับพระพุทธรูป ภปร ของวัดบวรนิเวศวิหารเนื่องจากในปี พ.ศ. 2506 ทางวัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับพระบรมราชนุญาตสร้างพระพุทธรูป ปางประทานพร ภปร ในครั้งนั้นเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนที่ต้องการไว้สักการบูชาเป็นอย่างมาก จนพระพุทธรูป ภปร ไม่เพียงพอแก่ประชาชนผู้ประสงค์อยากได้ไว้สักการบูชา ต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงทราบ จึงได้พระราชทานพระราชดำริว่า น่าจะได้มีการสร้างพระพุทธรูป ภปร นี้ขึ้นอีกที่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อให้เพียงพอในการพระราชทานแก่หน่วยงานราชการ ทหาร ตำรวจ
เมื่อทางวัดเทวสังฆารามได้รับพระราชทานพระดำริดังนี้ จึงได้ดำเนินการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระพุทธรูป ภปร ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยจักนำรายได้ทูลเกล้าฯถวายเพื่อพระราชทานบูรณะพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร และเพื่อพระราชทานองค์การสาธารณกุศลตามพระราชประสงค์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต และทรงพระราชทานพระราชดำริให้ช่างศิลป์ กรมศิลปากรปั้นหุ่นขึ้นใหม่ อีกทั้งได้ทรงพระราชทานภาษิตสำหรับจารึกที่ฐานพระพุทธรูปว่า "ทยฺยชาติยา สามคฺคิยํ สติสญฺชานเนน โภชิสิยํ รกฺขนฺติ" แปลความว่า "คนชาติไทย จะรักษาความเป็นไทยอยู่ได้ ด้วยมีสติสำนึกอยู่ในความสามัคคี"
พระพุทธรูป และพระกริ่ง ภปร ได้จัดสร้างโดยในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ได้มีพิธีพุทธาภิเษก โดยคณาจารย์ทำการปลุกเสกโลหะต่างๆ เริ่มพิธีตั้งแต่เวลา 14.00 น. ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เวลา 16.20 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเข้าพระอุโบสถทรงประเคนผ้าไตร แก่พระราชาคณะ จากนั้นพระสงฆ์ได้เจริญพระพุทธมนต์ และลงจารแผ่นโลหะที่จะผสมหล่อพระพุทธรูปและพระกริ่ง ภปร
วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2508 เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายังปะรำพิธีมณฑล และทรงหย่อนทองสำหรับหล่อพระพุทธรูป และพระกริ่ง ภปร ในเตาตลอดจนครบ 32 เตา พระสงฆ์รอบพิธีมณฑลทั้ง 8 ทิศ และพระสงฆ์ในวิหารเจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์แตร ดุริยางค์
พระพุทธรูป ภปร ในครั้งนี้ได้จัดสร้างเป็น 3 ขนาดคือ พระพุทธรูปบูชาขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว พระพุทธรูปบูชาขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว ผิวโลหะรมดำ และพระกริ่ง ภปร เนื้อโลหะผสม ผิวรมดำ
|