เหรียญหน้าพี่หลังน้องหรือเหรียญตองโข่สมเด็จพระนเรศวร ดอยไตแลง ไทใหญ่จัดสร้าง ปี2543 เหรียญประสบการณ์สมรภูมิฐานป่าไม้และฐานเนินกองคา ชายแดนไทย -รัฐฉาน พม่า
ในช่วงการสู้รบครั้งใหญ่บริเวณชายแดนไทย-รัฐฉาน เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๘ ระหว่างกองกำลังว้าแดง (UWSA-United Wa State Army) -กองพล ๑๗๑ ของเหว่ยเซียะกังที่มีเป้าหมายขึ้นยึดพื้นที่ดอยไตแลงของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ (SSA-Shan State Army) ภายใต้การนำของพันเอกเจ้ายอดศึก
ระหว่างช่วงสงครามครั้งนี้ สื่อมวลชนไทยและสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งทั้งเอพี รอยเตอร์ บีบีซี ได้มีโอกาสขึ้นไปยอดดอยไตแลง ที่ตั้งของกองบัญชาการสูงสุดกองทัพ SSA และได้เข้าไปจนถึง "หน้าศึก" หรือ "จุดสู้รบ" บริเวณฐานป่าไม้ และฐานเนินกองคา ซึ่งไม่กี่วันก่อนคือสนามรบอันดุเดือด มีทหารว้าแดงขึ้นมาตายนับร้อยศพ และทางว้าแดงกับพม่าเพิ่งใช้ปืน ค. ๑๒๐ ปืน ค. ๘๑ ปืน ค. ๘๒ ยิงถล่ม บางวันมากกว่า ๓,๐๐๐ ลูก ร้อยเอกจายกอน ซึ่งรับผิดชอบควบคุมดูแลฐานป่าไม้เล่าให้ฟังว่า ลูกปืนใหญ่ตกทั่วไปหมด พอทหารไทใหญ่ได้ยินเสียงปล่อยลูกปืนก็วิ่งลงบังเกอร์ กลางคืนถึงค่อยเงียบลง รุ่งเช้าพอแสงสว่างพ้นขอบฟ้าก็เริ่มยิงกันใหม่
การรบยืดเยื้ออยู่เป็นเดือน ร้อยเอกจายกอนยังยืนยันด้วยความมั่นใจ "เป็นไปไม่ได้ที่ดอยไตแลงจะแตก ไม่มีทางที่เขาจะยึดได้ เพราะเราเป็นคนรักชาติ เราต้องป้องกัน"
ถามว่าสิ่งใดเล่าที่ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ทหารไทใหญ่ สามารถต่อสู้อย่างอดทนเข้มแข็ง และตรากตรำมาได้ยาวนานหลายสิบปีอย่างนี้
ร้อยเอกจายกอนยิ้มสดใส หยิบเหรียญทองแดงรมดำให้ดูและบอกว่า ขุนศึกต้องมีพระดี แต่ "ของดี" สำคัญที่สุดที่คุ้มครองทหารไทใหญ่ให้มั่นใจและปลอดภัยกันทั่วทุกคนก็คือ "เหรียญสมเด็จพระนเรศวรฯ"
สมเด็จพระนเรศวรฯ ในประวัติศาสตร์ไทใหญ่
สำหรับคนไทยสยามยุคปัจจุบัน เมื่อได้เห็นภาพการบวงสรวงบูชาไหว้ศาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ที่ฐานเนินกองคาของทหารไทใหญ่ และได้เห็นหนุ่มน้อยทหารไทใหญ่ต่างมีเหรียญทองแดงรมดำรูปสมเด็จพระนเรศวรฯ แขวนเชือกป่านห้อยคอเป็น "ของขลัง" ประจำตัวนั้น ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจยิ่ง ว่าเหตุใดชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะทหารไทใหญ่ จึงได้เคารพนับถือสมเด็จพระนเรศวรฯ บุรพกษัตริย์นักรบอย่างหนักแน่นมั่นคงเช่นนี้
ทั้งที่สมเด็จพระนเรศวรฯ เป็นกษัตริย์ไทยและเสด็จสวรรคตล่วงผ่านไปแล้วถึง ๔๐๐ ปี!
พันเอกเจ้ายอดศึกผู้นำกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ยุคปัจจุบัน ตอบคำถามสั้นๆ ถึงที่มาทางประวัติศาสตร์อันทำให้ทหารไทใหญ่นับถือสมเด็จพระนเรศวรฯ อย่างที่สุดว่า
"พระนเรศวรฯ กับเจ้าคำก่ายน้อยเจ้าฟ้าของไทใหญ่ ท่านเป็นเพื่อนกัน มีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน คือต้องการรบพม่า ต้องการขับไล่พม่าออกจากแผ่นดินไทยและแผ่นดินไทใหญ่ คนไทใหญ่ถือว่าถ้าพระนเรศวรฯ ยังอยู่ ไทใหญ่จะไม่ลำบากอย่างนี้ เพราะท่านมีนโยบายปราบพม่าให้หมดสิ้น คนไทใหญ่ทุกคนรู้เรื่องนี้ ผมศึกษาประวัติศาสตร์ ได้รู้ และเชื่อถือมาก ทหารไทใหญ่ทุกคนเชื่อเพราะรู้ประวัติศาสตร์ ผมอธิบายให้ฟังทุกคน"
"เจ้าคำก่ายน้อย" ที่พันเอกเจ้ายอดศึกกล่าวถึง คือเจ้าฟ้าวีรบุรุษคนหนึ่งของชาวไทใหญ่ ผู้เป็นสหายร่วมรบมากับสมเด็จพระนเรศวรฯ มีปรากฏในประวัติศาสตร์ที่คนไทใหญ่รับรู้มายาวนาน
ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับชนกลุ่มน้อย ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะกับมอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่นั้น มีความแนบแน่นลึกซึ้ง มอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ คือ "ชาวด่าน" ที่คอยป้องกันขอบขัณฑสีมาจากการรุกรานของพม่า หลักฐานทางไทใหญ่กล่าวย้ำถึงสัมพันธภาพแน่นแฟ้นนี้ว่า จนแม้ไทใหญ่ที่ถูกกุมตัวเป็นเชลยอยู่กลางเมืองพม่าเอง ก็พร้อมจะแข็งขืนไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจพม่า แต่มาฝักฝ่ายอยู่กับฝ่ายไทยซึ่งเป็นเชื้อชาติเดียวกัน ดังที่ "เคอแสน" นักประวัติศาสตร์ชาวไทใหญ่บันทึกไว้ในบทความ "สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเจ้าคำก่ายน้อยแห่งไทใหญ่" ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๔๕ ว่า ครั้งที่กษัตริย์บุเรงนองยกทัพเข้ามาตีเมืองไทย ลาว เชียงใหม่ เชียงห่ม ในปี พ.ศ. ๒๑๐๘ นั้น
"เจ้าฟ้าไทใหญ่และทหารไทใหญ่ที่ถูกจับเป็นเชลยอยู่ในเมืองหงสาวดีนั้นถือโอกาสจุดไฟเผาหอ, วังในเมืองหงสาวดีเสียหาย จนกระทั่งพวกอำมาตย์ของพม่าต้องหนีไปอยู่ที่ "เมืองทละ" การเผาหอ, วัง ในครั้งนี้เจ้าฟ้าไตย (ไทใหญ่) ให้เหตุผลว่า เพราะพม่าทำการรุกรานนำทัพเข้าตีเมืองพี่เมืองน้องของไตย หลังจากบุเรงนองทราบข่าวจึงรีบยกทัพกลับเมืองหงสาวดีทันที และจับเจ้าฟ้าไตยและคนไตยหมื่นกว่าคนทำการเผาทั้งเป็นที่เมืองหงสาวดี"
และ "เคอแสน" ยังกล่าวไว้อีกด้วยว่า สมเด็จพระนเรศวรฯ คือบุรพกษัตริย์ที่รวบรวมก่อตั้งอาณาจักรไทใหญ่ โดยที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงปรึกษากับเจ้าคำก่ายน้อย เจ้าฟ้าไทใหญ่ เพื่อจะสร้างกองทัพราชอาณาจักรไทย-ไทใหญ่ ให้เข้มแข็งถาวรต่อไปในวันข้างหน้า โดยทางไทใหญ่นั้นเจ้าคำก่ายน้อยรับอาสาที่จะเจรจากับเจ้าฟ้าไทใหญ่ทุกเมือง
ในปี พ.ศ. ๒๑๔๓ สมเด็จพระนเรศวรฯ มีรับสั่งให้เจ้าคำก่ายน้อยนำกำลังทหารส่วนหนึ่งเข้าไปเมืองปั่น เมืองนาย ยองห้วย ไปจนถึงภาคกลาง และเจ้าฟ้าไทใหญ่ทุกเมืองพร้อมกันจัดตั้งเป็นพระราชอาณาจักรขึ้น โดยมีสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงเป็นผู้นำ ส่วนช่วงที่สมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จขึ้นไปสวรรคตที่เมืองหางหลวง ในแผ่นดินรัฐฉาน ประวัติศาสตร์ไทใหญ่ระบุว่า ในครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ทรงยกทัพขึ้นไปช่วยเจ้าคำก่ายน้อย ที่กำลังทำศึกกับทหารจีนและทหารพม่าซึ่งรุกรานเมืองไทใหญ่ แต่สมเด็จพระนเรศวรฯ สวรรคตเสียก่อน เจ้าคำก่ายน้อยจึงสู้รบต่อไปเพียงลำพัง และสิ้นพระชนม์กลางสนามรบที่เมืองแสนหวี ในปี พ.ศ. ๒๑๔๘ หลังการสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรฯ ไม่นานนัก
เหรียญรุ่นนี้หายากมาก หากไม่ใช่นักรบไตหรือที่เป็นพี่น้องชาวไต ที่ข้ามฝั่งมาร่ำเรียนในฝั่งไทยพกติดตัวมาด้วย ก็ไม่มีโอกาสเจอครับ ผมพยายามตามหาสนามพระมานานเพิ่งเจอเหรียญเดียว คิดว่าเผื่อฟลุ๊คและก็ได้มาแบบฟลุ๊คๆครับ คนขายยังไม่รู้ที่ไหนเลย ตาคนนี้เขามักไปเหมาพระมาจากเชียงใหม่ คาดว่าคงเป็นของพี่น้องชาวไตที่มาเรียนในเมืองไทยนำติดตัวมา
|