โชว์พระกรุล้านนา
๙๙๙ พระจอมธรรมถ้ำขุนตาน ๙๙๙
|
|
|
|
|
|
รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้า เจ้าอยู่หัวเป็นช่วงที่มีการริเริ่มดำเนินกิจการรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรกใน ประเทศไทย ทรงโปรดฯ ให้สร้างทางรถไฟสายหนึ่งเพื่อเชื่อมเส้นทางคมนาคมระหว่างภาคกลางกับภาคเหนือ และเพื่อย่นระยะทางในการก่อสร้างครั้งนั้นให้สั้นลง ได้มีการขุดเจาะอุโมงค์รถไฟทะลุผ่านเข้าไปในดอยงาช้างของเทือกเขาขุนตาน ซึ่งเป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ที่ทอดยาวขวางกั้นเส้นทางจากจังหวัดลำปางสู่ จังหวัดลำพูน โดยได้เริ่มขุดเจาะในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ มีวิศวกรชาวเยอรมันชื่อ มร.อีมิล ไอเซ่น โฮเฟ่อร์ เป็นผู้ควบคุม ใช้เวลาในดำเนินการ ๘ ปีจึงแล้วเสร็จ
เนื่องจากบริเวณที่จะสร้างทางรถไฟในสมัยนั้นเป็นดินแดนทุรกันดาร เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ อยู่ในเขตป่าทึบและโขดเขาสูงตระหง่าน ทำให้ต้องใช้เวลาดำเนินงานยาวนานรวมทั้งสิ้นถึง ๑๔ ปี (พ.ศ. ๒๔๕๐ – ๒๔๖๓) จึงสามารถสร้างทางรถไฟไปสุดปลายทางที่จังหวัดเชียงใหม่ และเปิดให้ขบวนรถไฟแล่นผ่านได้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งล่วงเข้าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากเส้นทางรถไฟในครั้งนั้นจะทำให้เกิดอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดใน ประเทศไทย ซึ่งเรียกขานกันต่อมาว่า “ถ้ำขุนตาน” แล้ว ยังทำให้พระพิมพ์กลุ่มหนึ่งซึ่งถูกพบตามวัดร้างบริเวณเขตติดต่อระหว่าง จังหวัดลำปางและลำพูนแพร่กระจายออกจากพื้นที่ กลายเป็นที่รู้จักของบุคคลภายนอกในเวลาต่อมาในชื่อ “พระถ้ำขุนตาน”
พระถ้ำขุนตาน หรือพระยอดขุนพลถ้ำขุนตาน หรือพระลำพูนซุ้มขุนตาน เดิมเรียกว่า “พระจอมธรรม” เนื่องจากกล่าวกันว่าเคยขุดพบภายในกรุของวัดม่อนจอมธรรม อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน
พระถ้ำขุนตานที่พบส่วนมากเป็นพระพิมพ์ขนาดค่อนข้างใหญ่ เนื้อชินหรือตะกั่ว บางองค์ปิดทองล่องชาดประดับอย่างงดงาม ที่ทำเป็นพระพิมพ์ดินเผามีพบบ้างเป็นส่วนน้อย จัดเป็นพระพิมพ์ศิลปะล้านนายุคปลายที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย มีทั้งที่ทำเป็นพระพุทธรูปยืนและพระพุทธรูปนั่ง
พระพุทธรูปยืนหรือที่มักเรียกกันว่าพิมพ์เปิดโลก ลักษณะเป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถยืนตรง พระกรทั้งสองข้างปล่อยลงเบื้องล่างขนานกับลำพระองค์ พระหัตถ์มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ทรงครองจีวรห่มเฉียงทิ้งชายลงเบื้องล่าง ปรากฏขอบสบงเบื้องล่างใกล้พระบาท มีสังฆาฏิพาดผ่านพระอังสาซ้ายปลายทอดยาวลงมาจรดพระนาภี พระรัศมียาวแหลม พระเศียรรูปไข่ บนพระพักตร์ปรากฏพระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ชัดเจน
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|