พระกริ่งรุ่นแรกของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ใช้รูปแบบพระกริ่งปวเรศ ของวัดบวรนิเวศ เป็นการสร้างภายในกลุ่มลูกศิษย์ตลาดพลู โดยเริ่มต้นจาก ด.ต.(ยศในขณะนั้นเป็น จ.ส.ต.)มานิต สมะบุณยะ มีความคิดจะสร้างพระกริ่ง ให้เหมือนกับพระกริ่ง 16 ของเจ้าคุณนรรัตนฯ จึงปรึกษากับหัวหน้า(ในกองคดี กรมตำรวจฯ)พ.ต.อ.ชวลิต พลเจริญ และนายประกอบ เล้าพานิช เจ้าของร้านโชคชัย เสาชิงช้า จากนั้นได้ไปติดต่อกับลูกศิษย์ก้นกุฏิของพระอาจารย์ฯคือคุณมานิต ลิ้มเลิศเจริญวนิช ร่วมกันจัดสร้างโดยได้มีการทำหนังสือ เพื่อขออนุญาตพระอาจารย์สร้างพระกริ่งรุ่นนี้ขึ้น
จากนั้นจึงร่วมปรึกษากัน ว่าจะใช้รูปแบบพระกริ่งปวเรศ ของวัดบวรฯ ส่วนการเททองหล่อพระกริ่งนั้น ให้อาจารย์สวน จามรมาน (ผู้ออกแบบและดำเนินการสร้าง พระกริ่ง “ นเรศวรวังจันทร์ “ เมื่อปี 2514-15 ) เป็นผู้จัดทำ โดยใช้เนื้อนวะโลหะกลับดำ และพระทุกองค์แต่งพิมพ์ที่ละองค์ ตอกโค็ตเม็ดงา ที่ด้านหลังของฐานองค์พระกริ่ง ใต้ฐานปะด้วยแผ่นโลหะแล้วใช้เครื่องกรอฟัน ลงอักขระ ยันต์นกยูงทอง รอบขอบใต้ฐานพระกริ่งและฉายาของท่านอาจารย์ “ อาจาโร “ อยู่ตรงกลาง (บางองค์จะเห็นรอยดินสอ เขียนคำว่า อาจาโร ติดอยู่ลางๆ) ทุกองค์ เมื่อทำการตกแต่งเสร็จ ได้นำไปให้พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เมตตาอธิฐานจิตให้เรียบร้อย และทำการแบ่งให้กับลูกศิษย์ที่ร่วมสร้างทุกคน (องค์พระกริ่ง จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย องค์ละ 150-บาท ในขณะนั้น )
|