เหรียญหลวงปู่สีมั่น เทพอินโท ผู้สร้างวัดห้วยหลาด ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ปี 2509 รวบรวมจากคำบอกเล่าของผู้รู้ ชาวบ้าน นักสะสมหลายๆ ท่าน และเท่าที่ได้พบเจอ พอสังเขปได้ว่า จัดสร้างโดยคุณปิ่น พาณิชการ (เสียชีวิตแล้ว) คหบดีแห่งเยาวราช กทม. ที่มีความนับถือหลวงปู่สีมั่น เทพอินโท เป็นอย่างสูง เพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชนและทหารหาญที่ร่วมรบในสมรภูมิเวียดนาม จนเกิดเป็นประสบการณ์มากมายทั้งคงกระพัน แคล้วคลาด มหาอุตม์ แยกเนื้อเหรียญเป็นชนิดต่างๆ คือ 1.เนื้อกะไหล่ทอง ได้แก่ 1.1 กะไหล่ทองธรรมดา 1.2 แบบชุบทองคำ มีจำนวนน้อยมากประมาณหลักสิบ สันนิษฐานว่าคุณปิ่น จัดสร้างเป็นพิเศษสำหรับแจกจ่ายบุคคลใกล้ชิดและบุคคลในครอบครัว 2.เนื้ออัลปาก้า ได้แก่ 2.1 อัลปาก้าเปรือย 2.2 อัลปาก้ากะไหล่เงิน 2.3 อัลปาก้าชุบนิกเกิ้ล (ชาวบ้านบางคนเรียกว่าเนื้อช้อนส้อมเนื่องจากเหรียญมีความสวยและมันวาว) 3.เนื้อฝาบาตร 4.เนื้อทองแดง ได้แก่ 4.1ทองแดงธรรมดา 4.2 ทองแดงรมดำ 4.3 ทองแดงผิวไฟ (ทั้งผิวสีออกส้ม และเป็นเกร็ดหรือที่นิยมเรียกกันว่าลายเสือ) ปลุกเสกโดยคณาจารย์สายหลวงปู่สีมั่น คณาจารย์ในอำเภอรัตภูมิ คณาจารย์ในจังหวัดสงขลาและคณาจารย์จากจังหวัดพัทลุง อาทิเช่น พระครูวีระโสภณ (ลพ.ลอย เจ้าคณะอำเภอรัตภูมิและเจ้าอาวาสวัดเขาตกน้ำในขณะนั้น) ลพ.ขาว ติสสวังโส (เจ้าอาวาสวัดห้วยหลาดรูปที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น และคือผู้ที่หลวงปู่เข้าประทับทรง) พระครูโกวิทธรรมสาร (ลพ.กลาย เจ้าคณะอำเภอรัตภูมิและเจ้าอาวาสวัดห้วยหลาดในปัจจุบัน) ลพ.เจียร มณีรักษ์ (อดีตเจ้าอาวาสวัดควนรู ผู้บันทึกธรรมะคำสั่งสอน ลป.สีมั่น ขณะมาประทับทรง) ลพ.คล้าย วัดเบตง ฯลฯ สำหรับบล็อกของเหรียญนั้นขอกล่าวเฉพาะในส่วนที่พบเจอขออนุญาตไม่กล่าวถึงบล็อกของการสร้างที่เกี่ยวข้องกับความนิยมเล่นหา ที่มีการพบเจอได้แก่ 1.บล็อกธรรมดา สภาพเหรียญสมบูรณ์ตามการแกะบล็อก 2.บล็อกยันต์แตก คือ ปลายอุณาโลมหลังเหรียญด้านขวาแตก ข้างยอดยันต์กลางมีจันทร์เสี้ยว 2 วง และกึ่งกลางยันต์ตัวกลางกับยันต์ทางขาวมีเส้นคล้ายเครื่องหมายมากกว่า บางคนก็เรียกว่ายันต์ 7 ตำหนิริ้วรอยต่างๆ น่าจะเกิดจากการใช้งานของบล็อกเพราะต้องปั๊มเหรียญเป็นจำนวนมาก (ลักษณะตามภาพ) และ 3.บล็อกวงเดือน บล็อกนี้สังเกตองค์หลวงปู่และเนื้อของเหรียญจะต่างจากบล็อกอื่นๆ โดยเฉพาะเส้นเกสา และจมูกของหลวงปู่จะมีความนูนหนามากกว่า ผิวเหรียญจะแก่ทองแดงมากกว่า สภาพสวยๆ จะมีสีแดงเข้ม ด้านหลังมีเส้นเป็นวงกลึง กล่าวถึงลักษณะของรูปแบบเหรียญ เป็นการแกะบล็อกจากภาพที่หลวงปู่เมตตาอนุญาตให้ถ่ายภาพได้ ซึ่งหลวงปู่อนุญาตให้ถ่ายได้เพียงภาพเดียวเท่านั้น โดยถ่ายขณะหลวงปู่เข้าประทับทรงพระอาจารย์ขาว เจ้าอาวาสในขณะนั้น และไม่มีภาพอื่นที่สามารถถ่ายติดได้อีก แม้แต่หลังจากที่หลวงปู่ไม่ได้มาประทับทรงแล้วเป็นเวลา 3-4 ปี มีผู้ศรัทธาพระอาจารย์ขาวขออนุญาตนิมนต์ท่านไปถ่ายรูปนอกสถานที่เพื่อนำภาพมาบูชา หลังจากถ่ายเสร็จนำฟิล์มมาล้างก็ไม่ติดภาพพระอาจารย์ขาว มีแต่พระอาจารย์ท่านอื่น ถ่าย 2-3 ครั้ง ก็ไม่ปรากฎภาพท่าน จนต้องเอาภาพเก่าๆที่ท่านเคยถ่ายไว้สมัยที่หลวงปู่ยังไม่มาประทับทรงไปบูชาแทน ซึ่งภาพที่ถ่ายหลวงปู่สีมั่นติดมีลักษณะเป็นดังภาพในเหรียญ จึงเป็นที่มาของรูปแบบเหรียญดังกล่าว ส่วนยันต์หลังเหรียญก็เป็นยันต์ที่หลวงปู่ได้เมตตามอบไว้แก่ศิษย์ มี 2 แบบ แต่ได้อันเชิญมา 1 แบบตามหลังเหรียญ ซึ่งยันต์ดังกล่าวเป็นสิ่งหนึ่งที่หลวงปู่ได้ใช้เป็นการพิสูจน์ขณะมาประทับทรง เนื่องจากมีผู้แอบอ้างหลอกลวงว่าเป็นหลวงปู่มาประทับทรงแล้วหลอกลวงชาวบ้านหาผลประโยชน์ หลวงปู่จึงกำหนดว่าหากเป็นองค์หลวงปู่จริงให้เอามือลูบมาที่องค์หลวงปู่ขณะประทับทรงพระอาจารย์ขาวบริเวณใดก็ได้ 3 ครั้ง จะต้องปรากฏยันต์ขึ้นมา ณ จุด ที่เอามือลูบ หากไม่มีแสดงว่าเป็นการหลอกลวง
|