ขอกราบไหว้สา ครูบาชุ่ม ในฐานะพระอริยสงฆ์แห่งลานนา และเป็นอาจารย์แห่งคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโก ผู้ให้ธรรม และแนวทางอาณาปณสติต่อจากหลวงปู่พรหม วัดช่องแค รวมถึงพระคุณที่ท่านเมตตาให้ ฉายา โพธิโก มาเป็นชื่อแห่งคณะฯ
ความตั้งใจและข้อมูลที่ผมได้ลงไป ขอท่านครูบาได้ทราบและอนุโมทนาให้พร แต่หากผมมีเจตนาที่ไม่ดีนำข้อมูลที่ผิดเพี้ยนมาลง เพื่อประโยชน์ส่วนตัวในทางการค้าหรือทางใดก็ดี ขอความวิบัติจงมีแก่ผมโดยพลัน และเช่นเดียวกันหากแม้มีใครนำข้อมูลที่ผิดเพี้ยนมาลงเพื่อประโยชน์หรือปกป้องผลประโยชน์อย่างใด อันทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนในวัตถุมงคลของครูบา ก็ขอให้ผู้นั้นได้รับผลกรรมที่ได้ทำไว้โดยพลันเช่นกัน
ขอขอบพระคุณ ผู้ให้ข้อมูล และหลักฐาน โดยเฉพาะข้อมูลจากบันทึกของอาจารย์หมอ สมสุข คงอุไร อาจารย์แห่งคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโก ที่ได้จากการสอบถามครูบาชุ่มด้วยตัวท่านเอง และเจ้าของตะกรุดทั้งหลายที่กรุณา เสียสละเวลา ถ่ายรูปตะกรุดของท่าน และส่งมา เพื่อเปรียบเทียบลักษณะและได้ร่วมให้ข้อมูลครั้งนี้โดยเฉพาะ
และขอบคุณทุกท่านที่ได้เข้ามาชมในกระทู้นี้ และขอบคุณหลายๆสายที่ได้โทรมายืนยันข้อมูลที่ตรงกันและให้กำลังใจ เดิมทีเดียวตั้งใจว่าจะยุติเรื่องนี้แล้วเพราะถือว่าได้ให้ข้อมูลไปแล้ว แต่มีผู้ที่เคารพนับถือ ขอให้สรุป ไว้หน่อย ก็เลยต้องขออนุญาตตั้งกระทู้นี้
ผมจึงขอสรุป เรื่องตะกรุด ครูบาชุ่ม ตามข้อมูลและพยานหลักฐาน ดังนี้ นะครับ
1. ตะกรุดหนังลูกควายตายพรายมีต้นตำรับสายวิชามาจากเมืองน่าน ซึ่งในยุคนั้น โซนจังหวัดน่านมีผู้ก่อการร้ายชุกชุม(พื้นที่สีแดง) ครูบาอาจารย์สมัยนั้น จึงเน้นสร้างเครื่องรางของขลัง ที่เกี่ยวกับ มหาอุด คงกระพัน โดยตะกรุดหนังฯ เป็นตะกรุดที่นิยมสร้างกันมากในเขต แพร่ น่าน โดยในยุคนั้น ผู้ที่มีชื่อเสียงที่สุดถือว่าเป็นดั่งปรมาจารย์ทางวิปัสสนา และพระเวทย์(เปรียบเสมือน อ. ทองเฒ่า แห่งสำนักเขาอ้อ) อยู่ทาง จ.แพร่ เป็นสหธรรมิก ของครูบาเจ้าศรีวิชัยและวิชาที่โดดเด่น คือการทำตะกรุดหนังลูกควายตายพราย คือ พระมหาเมธังกร วัดน้ำคือ จ.แพร่ ครูบาชุ่มท่านได้ทราบชื่อเสียงของ พระมหาเมธังกร(หลวงปู่หมา)ในคราวที่ตามครูบาเจ้าศรีวิชัย มาบูรณะวัดพระธาตุช่อแฮ พระธาตุประจำปีเกิดครูบาเจ้า ศรีวิชัย จนเมื่อปลงพระศพสรีระครูบาเจ้าศรีวิชัยแล้ว ครูบาชุ่มท่านเดินทางมาศึกษาวิชากับหลวงปู่พระมหาเมธังกรเป็นเวลา 2ปี
2. ครูบาชุ่ม ท่านได้ เรียนวิชานี้ มาจาก พระมหาเมธังกร โดยมีศิษย์ร่วมเรียนกัน (ทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้อง ) ที่มีการค้นคว้ามาพอได้สังเขปคือ
1.ครูบา สิทจิ๊ ไจยา (เป็นพ่อครู ของครูบาอินสม วัดเมืองราม จ.น่าน)
2.ครูบา อินต๊ะวงค์ปู๋เผือก วัดแสงดาว จ.น่าน
3.ครูบา กั๋ญจ๊ะณะวงค์ วัดม่วงตึ๊ด
4.ครูบา ขัตติยะวงค์ วัดท่าล้อ จ.น่าน
5.ครูบา ญาณะ วัดสวนดอก ( ผู้เป็นพ่อครูบาอาจารย์ ของครูบา สุทธะวงค์(บุญทา) ใจเฉลียว หรือครูบาวัดดอนตัน ท่าวังผา จ.น่าน )
6.ครูบา สุทธะวงค์(บุญทา) ใจเฉลียว หลวงพ่อวัดดอนตัน ท่านก็ทำตะกรดหนังพอกครั่งเช่นกัน แต่ท่านสืบตำรามาจาก ครูบา ญาณะ วัดสวนดอก ไม่ได้สืบตำรากับพระมหาเมธังกรโดยตรง
7.ครูบา อาทะวงค์ วัดน้ำปั๊ว อ.สา จ.น่าน
8.ครูบา ธรรมจัย วัดศรีนาป่าน
9.ครูบา พรหมมา วัดบ้านก๋ง ท่าวังผา จ.น่าน (ครูบาวัดบ้านก๋ง ผู้เป็นอาจารย์ ของครูบา มนตรี วัดพระธาตุศรีสุโทนมงคลคีรี อ.เด่นชัย จ.แพร่ )
10.ครูบา อินสม วัดเมืองฮาม (เมืองราม)
11. ครูบา ปัญญา วัดซ้อ
12.ครูบา บุญเยี่ยม วัดเชียงของ อ.นาน้อย
13.ครูบา วงค์ วัดเชียงของ อ. นาน้อย
14.ครูบา อินต๊ะยศ วัดไทรหลวง
15.ครูบา อินหวัน วัดอภัยคีรี ( พ่อครูอาจารย์ของ ครูบา วัดศรีบุญเรือง)
16.ครูบา วัดศรีบุญเรือง จ.น่าน ท่านก็สร้างตะกรุดหนังและสืบตำรามาจาก ครูบา อินหวัน
ครูบาที่เอ่ยนามมานี้ท่านได้สร้างตะกรุดหนังมาเหมือนกัน รวมทั้งที่ยังไม่ได้เอ่ยนามอีกมาก ซึ่งในยุคนั้นเป็นยุคที่เก่าตรงสมัยกับ หลวงปู่มหาเมธังกร และหลวงปู่ ชุ่ม โพธิโก อีกด้วย
*********ตามข้อ 1-2 สามารถสอบถามข้อเท็จจริงได้จาก ผู้ที่ใช้นามปากกาว่า หนานบุญแห่งเมืองงาช้างดำ ผู้ศึกษาข้อมูลเรื่องราวเวทย์มนต์ เครื่องรางล้านนามาเป็นเวลาร่วม 30ปี และยังได้รับการขอร้องให้เขียนเรื่องอักขระเลขยันต์เครื่องรางสายล้านนาลงในหนังสือ อุณมิลิต. และยังเป็นผู้ที่ออกมาโต้แย้งเรื่อง ผ้ายันต์พระสิหิงค์หลวง ที่มีเซียนบางคนบอกว่าเป็นยันต์ทัพหลวง แต่สุดท้ายก็จนด้วยพยานหลักฐานจนยอมรับว่าเป็นผ้ายันต์พานครู ตามที่ท่านโต้แย้งไว้ อีกทั้งท่านยังเป็นต้นทางข้อมูลและรังใหญ่เครื่องรางของขลัง ที่แม้แต่เซียนเครื่องรางใหญ่ในส่วนกลางและของลานนา ยังแวะเวียนไปขอความรู้และพยายามขอแบ่งของจากท่านเสมอ ( อภิมหาเซียนเครื่องรางล้านนาท่านหนึ่ง ลองไตร่ตรองนึกดูว่าได้เคยไปขอแบ่งผ้ายันต์พระสิหิงค์หลวงจากท่านบ้างหรือเปล่า) ท่านกรุณาให้เบอร์โทรไว้ คือ 082662519..สำหรับผู้ที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงวิธีการใช้ตะกรุดหนังฯ ตามตำราโบราณที่ท่านได้เก็บรักษาไว้ และถ้าโชคดีท่านอาจได้เห็นอักขระในตำราโบราณ ที่ตรงกันกับอักขระที่ลงในตะกรุดหนังฯ ครูบาชุ่ม ก็ได้
3. โปรดใช้วิจารณญาณไตร่ตรองว่า ตะกรุดหนังฯที่ทำในยุคนั้น โดยครูบาอาจารย์ท่านอื่นตามข้อ 2 นั้น ณ ปัจจุบัน จะมีอายุอานามเท่าไหร่ จะปรากฏ ธรรมชาติความเก่าหรือไม่
4. ในส่วนของครูบาชุ่ม หลังจากที่ได้ศึกษา วิชาการทำตะกรุดหนังฯ มาแล้ว ท่านยังไม่ได้ทำตะกรุด เพราะว่ายังไม่พบหนังลูกควายตายพรายตามตำรา จนมาเมื่อปี 248 กว่า และปี 2510 , 2518 , 2519 ท่านจึงได้สร้างตะกรุดหนังฯขึ้นมา เพราะได้หนังลูกควายตายพรายตามตำรามา ( ได้หนังฯมา 4 ครั้ง แต่ละครั้ง ได้หนังมาประมาณ ฟุตกว่า ๆ เพราะเป็นหนังลูกควายที่ตายขณะอยู่ในท้องนะครับ ตัวไม่โตนะครับ บางคนเข้าใจว่าเอาทั้งแม่และลูกควาย ขอย้ำ เอาเฉพาะลูกควายที่อยู่ในท้องแม่นะครับ และในปี 2519 ได้หนังลูกควายตายพรายมีลักษณะ 8 ขา 4 เขาและเป็นควายเผือกมา ) รวมทำทั้งหมดไม่เกิน 400 ดอก
***ในส่วนนี้ได้ข้อมูลจากพ่ออุ้ยปั๋น และบันทึกของอาจารย์หมอ สมสุข คงอุไร ที่ได้สอบถามจากครูบาชุ่ม ด้วยตัวเอง***
5. เพื่อให้ลักษณะของตะกรุด แตกต่างกับของ ครูบาอาจารย์ท่านอื่น ครูบาชุ่ม จึงได้ สร้างตะกรุดให้เป็นเอกลักษณ์ คือ ปิดทอง และ ทาทอง ( การปิดทองทำในยุคต้น ส่วนการทาทองทำในตระกรุดยุค 2518 ,2519 เพราะมีสีทองจากการบูรณะวิหารอยู่ ส่วนจะเอาไปแจกใคร จะตั้งชื่อรุ่นว่าอะไร เป็นเรื่องของคนยุคหลังที่กล่าวอ้างกันเอง ไม่เกี่ยวกับท่านครูบานะครับ) และลักษณะรูปทรงของตะกรุดจะเป็นเอกลักษณ์ วิธีการสร้างตะกรุดก็คือ.
1.เมื่อได้หนังลูกควายตามตำราแล้วต้องมีการพลีเพื่อขอศพลูกควาย จากศพแม่ก่อน( ตำราต้นฉบับกล่าวไว้)แล้วนำหนัง มาฟอกล้างให้สะอาดแล้วนำมาผึ่งให้แห้ง
2.นำหนังมาวัดกะจำนวนปริมาณของดอกตะกรุดว่าจะได้สักกี่ดอก แล้วตัดหนัง เมื่อตัดแล้ว ลงอักขระที่หนังแต่ละดอกว่า “ พุทธังอัด ธัมมังอัด สังฆังอัด อุดธังอัดโธอัด ฆะขาขาขาขา ฆะพะสะจะ กะพะวะกะหะ”
พุทธังอัด ธัมมังอัด สังฆังอัด อุดธังอัดโธอัด( มหาอุตย์ หยุดปืน ปืนแตก )
ฆะขาขาขาขา (ข่าม เหนียว กันงูเงี้ยว เขี้ยวขอ กันเขา กันปืน กันมีด)
ฆะพะสะจะจะ ( หัวใจข่าม คงกระพัน สารพัดกัน )
กะพะวะกะ (หัวใจ ฟ้าฟี๊ก คลาดแคล้ว ปลอดภัย กันสิ่งไม่ดี)
3. นำทองแดงมาเป็นแกนกลางเพื่อจะได้พันหนังได้ง่ายไม่เสียรูปทรง เสร็จแล้วนำ เชือก เส้นในสายไฟ หรืออะไรก็ได้ ที่แทนเชือกได้มาพันให้แน่นกับทองแดง
4.นำครั่งมาพอกไว้เพื่อทำเป็นรูปทรงเดียวกัน(แบบหนำเลี๊ยบ)แล้วนำเชือกสีแดงหรือเหลืองมาร้อยไว้
******โปรดสังเกตตามหลักฐานภาพถ่าย ว่าตะกรุดตามภาพที่นำมาลง ลักษณะตะกรุดจะเป็นแบบเดียวกัน และที่สำคัญ จะไม่มีลูกคั่น หรือตะกรุดอื่นคั่นแต่อย่างใด*****
6. ตะกรุดอื่นที่ท่านสร้างคือ ตะกรุดปรอท, ตะกรุดเสื้อยันต์แบบ 12 ดอก , ตะกรุดยันต์แหนบ ยันต์หนีบ, ตะกรุดเด็ก , ตะกรุดแม่ยิง ส่วน ตะกรุด กาสะท้อน , ตะกรุดขาปิ่นโตพอกครั่ง, ตะกรุดลูกอมพอกครั่ง , ตะกรุดไม้ไผ่ต่าง วัวธนูพอกครั่ง หรือตะกรุดอื่นๆ ท่านไม่ได้สร้างนะครับ
*****ข้อสังเกต 1.ในปัจจุบัน นักค้าขายพระเครื่องที่ไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริง หรือมีเจตนาแอบแฝง พอพบเจอ ตะกรุดอะไรก็ตาม เพียงแต่มีลักษณะพอกครั่งเก่าๆก็ตีเป็นของครูบาชุ่ม เพื่อเหตุผลด้านราคา ทั้งๆที่ตะกรุดดอกนั้นอาจเป็นตะกรุดของครูบาอาจารย์ผู้มีวิทยาคมท่านอื่นในยุคเก่า ได้สร้างไว้ก็เป็นได้ และขอให้ข้อสังเกตเพิ่มว่าตะกรุดทั้งหลายที่กล่าวอ้างว่าเป็นของครูบาชุ่มนั้น หากลองเอาของหลายๆเจ้าที่ได้กล่าวอ้างว่าเป็นของครูบาชุ่ม มาวางเรียงกัน จะพบว่ามีลักษณะสัณฐานที่แตกต่างกันมากทีเดียว
ลองนึกเทียบกับเครื่องรางของขลังที่ส่วนกลางเขายอมรับ เช่น ตะกรุดหลวงปู่เอี่ยม เบี้ยแก้หลวงปู่รอด หรือเครื่องรางอื่นที่เป็นที่นิยมของวงการ ทำไมเขาถึงยึดลักษณะการถัก รวมถึงรูปพรรณสัณฐานที่เหมือนกันละครับ
2. ในกรณีตะกรุดพอกครั่งเก่าๆ ผู้เขียนเชื่อว่า น่าจะเป็นของครูบาอาจารย์ตาม ข้อ2. ที่ได้เรียนวิชาทำตะกรุดมาก่อน ,มาพร้อม,หรือภายหลังท่านครูบาชุ่ม ดังนั้นจึงน่าจะมีพุทธคุณตามตำราที่ได้ระบุไว้ ทั้งนี้เพราะเป็นการสร้างด้วยเจตนาบริสุทธิ์ของพระอริยสงฆ์
3.ในกรณีตะกรุดปรอท ผู้เขียนให้ให้ข้อมูลไปในกระทู้..โชว์พระเกจิลานนา.กระทู้ที่.20699...และในครั้งนี้ได้ลงภาพถ่ายในขณะครูบาชุ่มคล้องตะกรุดปรอทให้แก่ลูกศิษย์มาด้วย แบบนี้หรือเปล่าที่เซียนเรียกว่า รับมากับมือ และโปรดสังเกตุลักษณะของตะกรุดปรอทให้ดีนะครับท่านจะเห็นความจริง
7. ถามว่ามีเกจิอาจารย์ท่านอื่น หรือแม้แต่ลุงปั๋น ซึ่งเป็นหลานครูบาชุ่มได้สร้างตะกรุดในลักษณะคล้าย ของครูบาชุ่ม ( คือมีลักษณะสัณฐาน และการลงทองปิดทอง) หรือไม่ ตอบว่ามี แล้วถามว่าจะดูยังไง ก็ตอบว่า ขอให้ท่านได้เห็นตะกรุดหนังฯครูบาชุ่มเพื่อเป็นดอกครู ไวๆ แล้วพิจารณาตะกรุดที่พบเจอหรือจะเช่าด้วยปัญญา ซึ่งก็ขอให้ความโชคดีจงมีแด่ท่าน
8. ผมไม่มีตะกรุดหนังฯ หรอกนะครับ ไม่ต้องโทรมาถามบูชา
9. ผมไม่ใช่เซียนเครื่องราง หรือรู้จักเซียนขายเครื่องรางใดๆ เป็นการส่วนตัว และผมก็ตระหนักดีครับว่า การลงข้อมูลในครั้งนี้ ไม่มี ได้ หรือ เสมอตัวหรอกครับ มีแต่เปลืองตัว แต่ที่ผมต้องลงข้อมูล ก็เพราะเคารพศรัทธาในครูบาชุ่ม วันนี้หรือวันไหนที่ผมได้ระลึกถึงท่านครูบา หรือแม้ขณะมองภาพถ่ายของครูบา ผมก็ภูมิใจครับว่า ยังได้ทำอะไรเพื่อถวายท่านบ้าง
10.ผมนำประวัติเครื่องรางครูบาชุ่มมาลงให้ทราบเป็น ก็เพราะแหล่งข้อมูลที่ได้มา มีพยานหลักฐานเป็นที่น่าเชื่อถือได้ เช่น
**ข้อมูลจากบันทึกอาจารย์หมอสมสุข คงอุไร ซึ่งได้บันทึกเกี่ยวกับการสร้างวัตถุมงคลของครูบาชุ่ม ซึ่งได้สอบถามจากครูบาชุ่มด้วยตัวท่านเอง ครั้งเมื่อครูบาชุ่มได้มาพักที่บ้านอาจารย์ หมอ ฯ ที่บ้านสะพานเหลือง (ปรากฏหลักฐานตามภาพถ่ายครูบาชุ่มที่ได้ลงไว้ด้านล่าง) อย่างนี้ จะเรียกว่าเป็นข้อมูลชั้นต้นได้หรือไม่ หรือการที่ได้สอบถามจากครูบาชุ่มด้วยตัวเองแล้วมีบันทึกไว้นี้ เป็นแค่พยานบอกเล่าต่อๆกันมา อันทำให้ขาดน้ำหนักแห่งพยานหลักฐานไป
ที่อาจารย์หมอ ฯได้บันทึกไว้นี้ ก็เป็นบันทึกอย่างเดียวกันกับ ที่ท่านได้บันทึกถึงการที่หลวงปู่พรหม วัดช่องแคผม อนุญาตให้ท่านสร้างวัตถุมงคลชุดทองระฆังของหลวงปู่ รวมถึงชุดเนื้อผงต่างๆ ตั้งแต่ปี 2514 ทั้งชนิด จำนวน และการสร้าง ซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้นิยมพระทั่วทั้งประเทศ
**.หลักฐานตามภาพถ่ายที่ปรากฎ ท่านย่อมเห็นว่าเป็นรูปถ่ายที่แท้จริง มิได้เป็นการตัดต่อ และขอเรียนว่าภาพทุกภาพ เพิ่งออกสู่สายตาประชาชน ใน เวปพระลานนาแห่งนี้เป็นที่แรก ในบางภาพท่านจะสามารถเห็นได้ถึงลักษณะของวัตถุมงคลครูครูบาชุ่มได้อย่างชัดเจน เรียกว่า เห็นอยู่ในมือครูบาท่าน จะๆ
**นอกจากนี้ ในสายท่านเจ้ากรมเสริม ซอย สายลม ซึ่งเป็นศิษย์สายท่าซุง ก็ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างวัตถุมงคลของครูบาชุ่ม ถูกต้องตรงกัน ตามที่ได้มาลงให้ท่านทราบนี้ ( เมื่อครูบาชุ่มท่านลงมา กทม. ท่านจะพักอยู่สองที่ คือบ้านสะพานเหลือง ของอาจารย์หมอสมสุข ฯ และบ้านเจ้ากรมเสริม ฯ นี่แหละครับ)
และที่สำคัญ ทุกๆท่านที่ให้ข้อมูล ต่างยินดี และอนุโมทนาที่ได้นำข้อมูลนี้มาลง ข้อมูลที่ถูกต้องอันเป็นการรักษาเกียรติของท่านครูบาชุ่ม อีกทางหนึ่ง
เหนือสิ่งอื่นใดผมทราบดีว่าการลงครั้งนี้ไม่อาจทำให้ท่านกลับมาเชื่อในวันเดียวได้ เพราะในวงการเครื่องรางลานนา เขาเล่นแบบนี้ และเชื่อแบบนี้มานานมาก
11. ในส่วนของท่านผู้อ่านไม่มีใครไปบังคับท่านได้หรอกครับว่าจะให้เชื่อในทางไหน ทุกท่านย่อมมีวิจารณญาณของตัวเอง เงินเป็นของท่านเองจะใช้จ่ายไปทางไหนก็แล้วแต่ท่าน จะเช่าหา ก็เพราะ คำขึ้นต้นว่า กาลครั้งหนึ่ง.....(นิทาน) ก็ตามแต่ท่าน หรือชอบที่จะเล่นเอาเฉพาะความเก่า แล้วเป็นขุนหลวงหาวัด หรือจะเอาแบบประเภทที่เซียนเขาบอกว่า “แบบนี้ขายได้ แต่เอาใช้ไม่ได้” ก็ตามแต่ท่าน
ท้ายนี้ขอบารมีครูบาชุ่ม จงปกปักรักษาท่าน ให้พ้นจากบ่วงมารทั้งปวง หากแม้มีจิตศรัทธา ในตะกรุด ของท่านครูบา ขอท่านได้สมปรารถนาโดยเร็ว
*****
ธันชนก
วันพระ 15 มี.ค. 2555
|