เชื่อว่าหลายๆคนอาจมองข้ามไป ทั้งๆที่เป็นสาระสำคัญในการประกอบวิชาชีพต่าง
หวังว่าคลิปและบทความเหล่านี้คงเป็นประโยชน์สำหรับทุกๆคน
http://www.youtube.com/v/9u8P1mnH6OI?version=3&hl=th_TH
ทุกอาชีพต้องใช้ดุลยพินิจ..ที่ดี
ทุกอาชีพต้องมีดุลยพินิจ เช่น ชาวนาต้องใช้ดุลยพินิจในการใช้ปุ๋ย คนขับสองแถวต้องใช้ดุลยพินิจในระหว่างขับขี่ ครูต้องใช้ดุลยพินิจในการสื่อสารกับลูกศิษย์
การใช้ดุลยพินิจที่ไม่เหมาะสม เช่นเกินขอบเขตที่ควรจะเป็น แม้ไม่ทีใครลงโทษทางกฎหมายแก่ผู้ใช้ดุลยพินิจได้ แต่อาจถูกลงโทษทางสังคม หรืออาจเกิดผลกระทบโดยตรงต่อจิตวิญาณของผู้ใช้ดุลยพินิจได้
เช่น ชาวนา ใช้ดุลยพินิจในการใส่ปุ๋ยข้าวตอนที่ใกล้เก็บเกี่ยวแล้ว ตำรวจคงไม่ลากคอไปเข้าคุก ก็เขาซื้อด้วยเงินของเขา แต่สังคมอาจตราหน้าว่า เป็นชาวนาเพี้ยน ชาวนาผู้นี้อาจพะวงในการใช้ดุลยพินิจที่ไม่เหมาะสมอยู่เป็นเนืองนิจ ทำให้จิตหมองเศร้า
คนขับสองแถว ขับรถเร็วเกินสมควรในเขตชุมชน การใช้ดุลยพินิจดังกล่าว อาจถูกตำรวจจับได้ และอาจทำให้สังคง คือผู้ใช้บริการเลิกขึ้นรถคันนี้ก็ได้
ครูผู้ข่มขู่ศิษย์ เอาอามิสแลกเกรด แม้กฎหมายเอื้อมไม่ถึง การใช้ดุลยพินิจที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว หาความอิ่มเอิบใจในใจครูผู้นี้หาได้ไม่ มีแต่ความอิ่มท้อง แต่จิตวิณญาณของครูผู้นี้ขาดวิ่น เป็นคนไม่เต็มคน ศิษย์กราบไหว้โดยไม่สนิทใจนัก ครูก็รู้อยู่แก่ใจ ส่งผลต่อจิตวิญญาณของครู ตกนรกขุมเล็กๆเข้าจนได้
หมอ..ต้องใช้ดุลยพินิจในการรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุด การละเลย ไม่ใส่ใจในชีวิตผู้ป่วยอย่างถึงที่สุด เป็นดุลยพินิจที่ไม่เหมาะสม อาจติดคุก ถูกสังคมตราหน้า บางคลีนิกตกเป็นข่าว คนไข้หดหาย นี่แหละผลของกรรม
ตำรวจ ทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา ต้องใช้ดุลยพินิจในการใช้กฎหมายที่เหมาะสม การใช้ดุลยพินิจที่เหมาะสมคือ ไม่ตึง ไม่หย่อน ไม่หลวม ไม่คับจนเกินเหตุ การใช้ดุลยพินิจต้องไม่มีอคติ ไม่โชว์อำนาจของตน(ไม่กร่าง) ที่สำคัญ การใช้ดุลยพินิจ ต้องเป็นประโยชน์แก่ความถูกต้อง เป็นธรรม มีบรรทัดฐานที่ทำให้สังคมไม่คลางแคลงใจ
ตำรวจ ต้องใช้ดุลยพินิจในการใช้อำนาจ ตั้งข้อหาพอสมควรแก่พฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาก่อขึ้น เช่น ทำร้ายร่างกายกัน ก็ควรตั้งข้อหาทำร้ายร่างกาย มิใช่พยายามฆ่า
อัยการก็ต้องสั่งฟ้อง สั่งไม่ฟ้อง ไปตามสำนวนที่ปรากฎ การชั่งน้ำหนักพยาน ต้องมีบรรทัดฐานทางกฎหมาย มิใช่น้ำหนักถ้อยคำพยานเบาเหวงก็ยังฟ้อง ส่วนคดีที่พยานพอมีน้ำหนักอยู่บ้างกลับสั่งไม่ฟ้อง จะให้สังคมมองอย่างไร?
ทนายความบางคน ก็ใช่ย่อย ฟ้องเขาเสียยับเยิน ฟ้องส่งเดช ปล่อยให้ศาลตัดสิน ทั้งๆที่ทนายเองก็ตัดสินใจได้ว่า คดีเช่นไรควรฟ้อง ไม่ควรฟ้อง บางคนถึงขนาดยุยงส่งเสริมให้ฟ้องคดี ทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจแล้วว่า คดีจะต้องแพ้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ที่ฟ้องมา ขอให้สะใจ หรือเพียงแต่อยากได้ค่าจ้างเท่านั้น การใช้ดุลยพินิจเช่นนี้ สังคมโดยส่วนรวมไม่ได้ประโยชน์
ผู้พิพากษา มีความสำคัญที่สุดในบรรดานักกฎหมาย เพราะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาท การใช้ดุลยพินิจของศาล จึงต้องหาความเหมาะสม ต้องไม่ขาด ไม่เกิน ไม่ตึง ไม่หย่อน ต้องพอดี สังคมโดยส่วนรวมได้ประโยชน์ ที่สำคัญมาตราฐานของศาลจะเป็นตัวชี้วัดความศักดิ์สิทธิ์ ความยุติธรรม ความมีเมตตาธรรม
ในบรรดาดุลยพินิจของศาล เท่าที่ผมเคยดูสำนวนต่างๆในฐานะทนายความ ผู้พิพากษา ถึง 90 เปอร์เช็นต์ ใช้ดุลยพินิจได้อย่างเหมาะสม ดีเยี่ยม มีความเป็นธรรม มีคุณธรรม มีเมตตาธรรม แต่ก็มีส่วนน้อยเช่นกัน ที่ใช่ดุลพินิจที่ตรงข้ามกับส่วนมาก อาจมาจากพื้นฐานทางครอบครัว และมาตรฐานทางจริยธรรมที่ต่างกัน
ที่น่าเป็นห่วง เป็นที่วิพากษณ์วิจารณ์กันลับๆ (เพราะต่อหน้าศาลไม่มีใครกล้าวิจารณ์) ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นคดีความในศาล นั้นคือ การใช้ดุลยพินิจในการปล่อยตัวชั่วคราว หรืออการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลย
มีหลายคดีที่จำเลยถูกศาลสั่งจำคุกแค่ 1-2 ปี ในระหว่างอุทธรณ์ ไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลที่เป็นอมตะว่า "เกรงจะหลบหนี"
แต่ก็มีหลายคดีเช่นกัน ที่ศาลสั่งจำคุก 20-25 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต แต่ก็ให้ประกันตัวไปโดยไม่หยิบยกเหตุผลดังกล่าวขึ้นมาอ้าง
ผมมีอาชีพทนายความ รักและเคารพในสถาบันศาล อยากถนอมไว้เป็นที่พึ่งพิงของประชาชนโดยเสมอภาคกัน แต่กริ่งเกรงว่า ผู้พิพากษาส่วนน้อย ดังกล่าวมาข้างต้น จะใช้ดุลยพินิจในเรื่องดังกล่าวกันอย่างลักลั่น ทำให้ประชาชนหวาดระแวงองค์กรศาล
เรื่องดุลยพินิจในการให้ประกันตัว แม้จะเป็นอำนาจและดุลยพินิจของศาล แต่มาตรวัดที่มีมาตรฐานดี ไม่ลักลั่นเท่านั้น ควรเป็นมาตรวัดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน
อย่าลืมว่า ความเป็นธรรม คือความเป็นธรรมะ และความเป็นธรรมชาติ มิใช่มาจากตัวเราแต่ประการใด.
เครดิตที่มา
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=446883
|