พระล้านนาดอทคอม แหล่งรวมพระเครื่องเมืองเหนือ
อู้ได้ซะป๊ะเรื่อง

กำลังร้อนแรงมากๆ จึงขอนำบทความปริศนาแห่งเกศาครูบาศรีวิชัย มาให้อ่านกัน


กำลังร้อนแรงมากๆ จึงขอนำบทความปริศนาแห่งเกศาครูบาศรีวิชัย มาให้อ่านกัน

   
 

เนืองจากผมได้อ่านบางกระทู้ ทำให้เกิดความไม่สบายใจ  เกรงจะก่อให้เกิดการเข้าใจผิดและอาจจะเป็นที่เสียหายแก่วงการพระเครื่องขึ้นได้  ว่า เกศาครูบาศรีวิชัยที่ลงรัก ปิดทอง ร่องชาด มีจริงหรือไม่

จึงขอนำท่านไปยังบทความของ ท่านอาจารย์    วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ ฉบับเดือนเมษายน 2545 (ที่เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ อย่างจริงๆ ในเรื่อง เกศาครูบาศรีวิชัย)

  

ปริศนาแห่งพระเกศาครูบาเจ้าศรีวิไชย

โดย วิลักษณ์ ศรีป่าซาง

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ ฉบับเดือนเมษายน 2545

http://www.lannaworld.com/story/narrative/narrative20.php

--------------------------------------------------------------------------------

-  บรรยากาศปีใหม่สงกรานต์ รุกรานอยู่ทุกอณูของแผ่นดินทิพย์ล้านนา เดือนชีปีใหม่ได้กลับไปบ้านเกิด พบความอุ่นเนื้อเย็นใจเติมพลังให้แก่ชีวิตอีกครั้ง นั่งอู้นั่งคุยเรื่องเก่าเรื่องหลังเมื่อยังเป็นละอ่อนกับแม่กับอุ๊ยสุขใจแท้ โดนใจบางเรื่องก็เอามาเล่าต่อ ดังเช่นเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ แล

 

พระเกศาครูบาเจ้าศรีวิชัย พิมพ์พระเปิม
ขยายให้ดูเส้นเกศา

-  ลมแล้งลอดล้วงทุกขุนดอย น่าแปลกคือยามแล้งร้ายเช่นนี้ ใบไม้กลับป่งใหม่ใบเขียวอยู่พราวต้น ดอกไม้ยามแล้งงามแท้โดยเฉพาะไม้ตระกูลดอกช่อล่อหรืออินทนิล งามราวกับอินทร์แต่งแปลงหย้อง น้ำในคูเมืองเชียงใหม่ใสวาวราวกับแว่นกระจก แต้มกลีบดอกไม้ไหวเฟือนเมื่อลมต้อง งามแท้จนใคร่ร้องใคร่หุยก้องฟ้าเมืองพิงค์

-  เกริ่นนำเสียยกใหญ่ กะในใจว่าจะไขปริศนาค้นหาเสน่ห์พระเกศาครูบาเจ้าศรีวิชัยก็คงไม่จบในฉบับเดียวเป็นแน่ ที่จริงคงไขได้ไม่มากหรืออาจไม่ต้องไขเลยก็ได้ ด้วยว่าพี่น้องผองเพื่อนชาวล้านนาส่วนใหญ่ก็ทราบกันดีอยู่แล้ว อีกทั้งผู้เขียนเองก็เกิดไม่ทันยุคครูบาเจ้าฯ แต่ก็ขออาสาเขียนถึงด้วยความที่ชอบและเป็นพระเครื่องชนิดเดียวที่รู้จักตั้งแต่จำความได้ และที่สำคัญ ตำนานและการเล่าขานคือเสน่ห์ที่ชวนหลง

-  เมื่อเลยครึ่งพุทธศตวรรษมาสองปี ผู้เขียนเกิดในยุคนั้น ที่บ้านนาป่าดอยเขตอำเภอป่าซาง ถนนยังเป็นดินแดงฝุ่นมุก ไฟฟ้ายังไม่เข้า ท้ายหมู่บ้านยังเป็นป่าลึกดงหลวง อุ๊ยเล่าว่าตอนนั้นผู้เขียนอายุยังไม่ถึงสองเดือน พอบ่ายแก่ ๆ จะร้องไห้ไม่ยอมหยุดจนตัวเขียว คนสมัยนั้นเชื่อกันว่าน่าจะมีของไม่ดีไม่งามมากระทำให้เป็นไป ต้องขอให้พ่อเฒ่าประจำหมู่บ้านที่แม่นคาถาอาคม เอาหางปลาไม (ปลากระเบน) มาเฆี่ยนอู่ พ่อเฒ่าบอกว่าคนเกิดวันจันทร์ขวัญอ่อน ผีกละผีพรายมักจะกวนควี ให้เอาพระเกศาครูบาเจ้าฯ (พระเครื่องประเภทผงคลุกรักที่มีเส้นเกศาหรือเส้นผมของครูบาเจ้าศรีวิชัยบรรจุอยู่) ผูกไว้ที่อู่ แล้วอธิษฐานยกให้เป็นลูกครูบาเจ้าฯ เสีย อันที่เคยกวนก็จะร้างหาย อุ๊ยเล่าว่าตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ผู้เขียนก็กล้าแกร่งแข็งหาญบ่ไข้บ่ป่วยถึงแม้รูปร่างจะไม่สูงสง่าก็ตาม ส่วนพระเกศาองค์มัดอู่นั้นปัจจุบันยังอยู่กับผู้เขียน

 
     
โดย : ริมฝั่งวัง   [Feedback +19 -0] [+0 -0]   Mon 27, Feb 2012 20:51:09
 
 

 

คนลำพูน โดยเฉพาะคนยองที่ป่าซาง หรือบ้านโฮ่งหล่งลี้ คุ้นเคยกับเรื่องครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นอย่างดี ดูเหมือนเป็นกระแสชีวิตสายหนึ่งเลยทีเดียว ยุคปี 2500 เรื่องเล่าขานเกี่ยวกับตัวท่านศักดิ์สิทธิ์และมีอำนาจลึกลับชวนพิศวงกว่าเรื่องใด ๆ จะมากกว่าการได้สัมผัสกับท่านด้วยตนเองเสียด้วยซ้ำ พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยหลายคนในหมู่บ้าน ยังเคยเข้าร่วมงานพระราชทานเพลิงศพครูบาเจ้าฯ ถึงแม้จะอยู่กันดารห่างไกล ต้องเดินเท้าจากหมู่บ้านออกมาปากทางไกลถึง 14 กิโลเมตร กว่าจะถึงถนนที่มีรถวิ่งเข้าเมืองลำพูน การได้เข้ามาร่วมงานบุญในวันนั้นเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ท่านเหล่านี้แหละที่เล่าขานตำนานครูบาเจ้าฯให้ผู้เขียนฟังเมื่อวัยเด็ก

 

เส้นเกศาครูบาเจ้าศรีวิชัย

-  เกี่ยวกับเรื่องการนับถือเส้นเกศานี้ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ผู้ที่สร้างพระเกศาครูบาเจ้าฯในยุคสมัยนั้น ได้แนวปฏิบัติมาจากไหน ด้วยว่าพระเครื่องที่มีเส้นเกศาผสมอยู่เท่าที่ปรากฏในล้านนา มีเฉพาะของครูบาเจ้าศรีวิชัยเท่านั้นที่เป็นที่รู้จัก ส่วนพระเกศาของพระสงฆ์รูปอื่นมักได้รับการบอกเล่าว่าสร้างขึ้นในตอนหลัง เช่นพระเกศาของครูบาขาวปี ศิษย์เอกของครูบาเจ้าฯ เป็นต้น พระเกศาของครูบาขาวปีมีรูปแบบต่างกับของครูบาเจ้าฯ ชัดเจน

-  การนับถือเส้นเกศานี้ ในตำนานปูชนียสถานปูชนียวัตถุในล้านนา มักกล่าวถึงการเสด็จมาของพระพุทธองค์ในดินแดนแถบนี้ เมื่อมาถึง จะทรงได้พบกับผู้คนในพื้นถิ่น ส่วนมากจะเป็นชาวลัวะ จากนั้นทรงมอบเส้นพระเกศาแก่ลัวะผู้นั้น ก่อนจะมีพุทธทำนายว่าในภายภาคหน้าดินแดนแห่งนี้จะก้านกุ่งรุ่งเรืองเป็นที่ตั้งแห่งรัตนตรัย เจ้าเมืองจะสร้างที่บรรจุเส้นพระเกศาและพระบรมสารีริกธาตุซึ่งจะมาเพิ่มในภายหลัง เมื่อชาวบ้านหรือลัวะผู้นั้นได้รับเส้นพระเกศาแล้วก็จะบรรจุในกระบอกไม้ไผ่แล้วนำไปฝังดิน ความวิจิตรพิศดารต่าง ๆ ในการบรรจุเส้นพระเกศานั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง พระธาตุเจดีย์หลายองค์ในล้านนามักมีตำนานกล่าวว่า เป็นที่บรรจุเส้นพระเกศาของพระพุทธเจ้า ความเชื่อในเรื่องนี้อาจเป็นมูลเหตุหนึ่งที่ผู้คนที่นับถือครูบาเจ้าฯ เก็บเส้นเกศาของท่านไว้บูชาก็เป็นได้ ส่วนการจะเก็บเส้นผมเปล่า ๆ ไว้ก็คงไม่สะดวกและอาจสูญหายจึงนำมาผสมกับมวลสารอื่น ๆ ปั้นเป็นรูปองค์พระ จะได้พกติดตัวได้สะดวก

-  เมื่อปี พ.ศ. 2536 - 2538 ผู้เขียนตามเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเขตอำเภอป่าซาง พบว่า ยังมีผู้เก็บเส้นเกศาของครูบาเจ้าฯ ไว้ในกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้ตรงตามแบบที่กล่าวไว้ในตำนานที่กล่าวไว้ข้างต้น บางท่านก็เก็บในภาชนะอื่น ๆ เช่นกระป๋องแป้งฝุ่นแบบโบราณ ตลับครีมใส่ผมตันโจ เป็นต้น ส่วนพระเกศาครูบาเจ้าฯนั้น ถ้าใครมีก็ถือเป็นของรักของหวงอย่างสุดยอด หวงยิ่งกว่าพระสกุลลำพูนเสียอีก ทั้ง ๆ ที่เทียบค่าด้านพุทธพาณิชย์ไม่ได้เลย บางท่านก็เก็บพระในกระบอกไม้ไผ่ แทนที่จะนำมาห้อยคออย่างเรา ๆ เขียนมาเสียยาว ยังไม่ถึงเป้าหมายสักที ขออุบปริศนาพระเกศาครูบาเจ้าฯไว้ก่อน ไว้ต่อในตอนหน้าก็แล้วกันขอจบดื้อ ๆ อย่างนี้แหละ ตะแล็มตะแล็ม.

 
โดย : ริมฝั่งวัง    [Feedback +19 -0] [+0 -0]   [ 1 ] Mon 27, Feb 2012 20:52:35

 

 

ปริศนาแห่งพระเกศาครูบาเจ้าศรีวิชัย (ตอนที่ 2 )

-  ตะวันยามแลง สีแดงเหมือนแตงโมเดือนเจ็ดผ่าครึ่งก่อนจะลับดอยสุเทพ ยามนี้เป็นฤดูไข่มดส้มไข่แมงมันหน่วยหลวง เอาไว้แกงใส่ผักหวานผักหละลำอร่อยลิ้น ยามนี้อีกเช่นกันที่เป็นฤดูเดือนเหงา คนเฒ่าว่าห้ามร้างเมียหรือผิดหัวกับเพื่อนรักเสี่ยวแพงเด็ดขาด เพราะจะทนคิดถึงไม่ไหว ต้องเสียเหลี่ยมไปตามง้อ ก็มัวแต่เกริ่นเรื่องง่อมเรื่องเหงาเป็นบ่าวเฒ่าเมียห่างอย่างนี้ กว่าจะไขปริศนาพระเกศาครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สำเร็จจึงต้องยืดมาเสียหลายตอน และยังไม่แน่ใจว่าจะจบหรือเปล่าก็ไม่รู้ เข้าเรื่องเลยดีกว่า

-  ปริศนาแห่งพระเครื่องประเภทนี้เสน่ห์น่าจะอยู่ที่การเล่าขานเกี่ยวกับการสร้าง เท่าที่ค้นคว้ามา ผู้เขียนยังไม่พบเอกสารที่บ่งชี้ถึงการสร้างเลยสักรุ่น มีแต่เพียงคำเล่าต่อปากถึงวิธีการสร้างว่าทำกันอย่างไร อันที่จะบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์ว่ามีกี่พิมพ์ จำนวนเท่าใด หรือใครเป็นผู้สร้างผู้ปลุกเสกอย่างที่ทำกันในปัจจุบันนี้ก็ไม่ปรากฏหลักฐาน เราทราบแต่เพียงว่าบรรดาลูกศิษย์ที่นับถือครูบาเจ้าฯ สร้างด้วยความเคารพนบไหว้ตนบุญองค์วิเศษท่านนี้ ทุกครั้งที่ท่านปลงเกศา หลับตาจินตนาการเห็นบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายนั่งอยู่รายล้อม เอาใบบัวเอาผ้าขาวมาคอยรับเส้นเกศา ด้วยว่าเส้นเกศาครูบาเจ้าฯ คือตัวแทนความวิเศษนั้น จึงพากันเก็บรักษาเสมอของมีค่าควรเมือง ภาพจินตนาการของผู้เขียนไม่ไกลจากความเป็นจริงเลย หากท่านผู้อ่านได้สัมผัสกับผู้คนเขตอำเภอทางตอนใต้ของลำพูนในยุคปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้แหละที่ผู้เขียนให้ชื่อหัวข้อบทความยาวยืดนี้ว่า ปริศนาแห่งพระเกศาฯ

-  ในวงการนิยมพระเครื่อง มักแบ่งยุคการสร้างพระเกศาครูบาเจ้าฯ อย่างคร่าว ๆ คือ ทันยุคครูบาฯ หรือ ยุคต้น หมายถึงการสร้างตั้งแต่ครั้งครูบายังมีชีวิตอยู่ และ ยุคหลัง ซึ่งหมายถึงผู้ที่เก็บเส้นเกศาไว้แล้วนำมาสร้างพระเครื่องในตอนหลัง ซึ่งอาจหมายถึงพระเครื่องที่เพิ่งสร้างขึ้นไม่กี่วันมานี้เอง ส่วนการจะสังเกตว่าสร้างในยุคไหนนั้น อันนี้อธิบายได้ไม่ยาก แต่จะให้เข้าใจได้อย่างถูกต้องนั้นกลับยากยิ่ง ปริศนานี้น่าจะเป็นมนต์เสน่ห์ของผู้ที่ใฝ่ศึกษาและต้องได้สัมผัสด้วยตนเองเท่านั้นถึงจะเข้าใจ เนื้อพระเกศาครูบาเจ้าฯ ที่นิยมกันมี 2 เนื้อ คือ เนื้อแก่ผงใบลาน กับ เนื้อแก่ว่านเกสรดอกไม้ เนื้อครั่งเนื้อดินผสมอยู่ก็มีบ้าง พบไม่บ่อยนักและมักจะสร้างขึ้นในยุคหลัง และทั้งหมดทั้งมวลต้องมีเส้นเกศาครูบาเจ้าฯบรรจุอยู่ โดยมีรักเป็นตัวประสาน บางองค์ชุบรักหรือปิดทองร่องชาดงดงาม

 

พระอาจารย์ผดุง พุทธสโร

-  ดังได้กล่าวแล้วว่า เราท่านทราบวิธีการสร้างพระเกศาจากการเล่าขานต่อปากกันมามากกว่าการได้พบเห็นกันจริง ๆ ถ้าเราสรุปว่านี่คือพระเกศาครูบาเจ้าฯ ยุคต้น เรามักเชื่อเช่นนั้นโดยการอนุโลมว่าได้ยินได้ฟังมา หนึ่ง ประมาณเอาจากประสบการณ์ หนึ่ง ส่วนวิธีการสร้างจริง ๆ นั้น ผู้เขียนมีโอกาสได้สัมภาษณ์ พระอาจารย์ผดุง พุทธสโร เกจิอาจารย์ล้านนารูปหนึ่งแห่งวัดล้านตอง ตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ท่านมีความเคารพนับถือครูบาเจ้าฯ เป็นอย่างมาก ท่านได้สร้างเกศาครูบาขึ้นรุ่นหนึ่ง ดังมีรายละเอียดการสร้าง ดังนี้

-  เมื่อปี พ.ศ. 2540 ท่านได้เดินทางไปพบกับผ้าขาวดวงต๋า ปัญญาเจริญ ที่บ้านห้วยไซ ตำบลบ้านธิ จังหวัดลำพูน ผู้เคยเป็นลูกศิษย์ของครูบาเจ้าฯ ผ้าขาวดวงต๋าได้เก็บเส้นเกศาครูบาเจ้าฯไว้จำนวนหนึ่ง ใส่กระบอกไม้ไผ่เฮี้ยมีฝาปิดลงรักงดงาม แล้วถวายเส้นเกศาดังกล่าวเพื่อให้นำไปสร้างพระเครื่อง จากนั้นในปีเดียวกันจึงนำมาสร้างพระเกศาครูบาเจ้าฯ ตามเจตนาของเจ้าของ จำนวนมากเป็นพันองค์ มี 3 พิมพ์ คือ พิมพ์พระรอด พิมพ์พระลือโขง และพิมพ์รูปเหมือน โดยมีวิธีการทำดังนี้

-  มวลสารที่ใช้สร้างประกอบด้วย ดอกไม้อุโบสถส่วนหนึ่ง ธรรมใบลานเก่าและพับหนังสา ส่วนหนึ่ง ใบสรี หรือใบโพ ที่เก็บได้จากต้นโพ จำนวน 108 ต้น ส่วนหนึ่ง นำมวลสารเหล่านี้มาสับให้เป็นชิ้น ๆ ตากให้แห้ง แล้วคั่วในกระทะใบใหญ่จนกรอบมีสีดำ จากนั้นนำมาตำให้ละเอียด ร่อนเอาเฉพาะผงถ่านนำมาผสมกับยางรักที่กรองแล้วคลุกเคล้าจนเหนียวพอปั้นเป็นองค์ได้ แม่พิมพ์ปั้นจากดินเหนียวเผาไฟจนแกร่ง เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็จะขัดราชวัตรแวดล้อมพร้อมตั้งเครื่องบวงสรวงพลีกรรมตามธรรมเนียมอย่างล้านนา เทเส้นเกสาครูบาเจ้าลงบนผ้าขาว แล้วปั้นสมุกคลุกรักให้พอองค์ นำมาแตะกับเส้นเกศาแล้วกดเป็นรูปพระตามแบบพิมพ์ ด้านหลังประทับตราเป็นรูปยันต์ฟ้าล้นหรือยันต์ฟ้าลั่นซึ่งผ้าขาวดวงต๋าเล่าว่า เป็นยันต์ที่ครูบาเจ้าฯ นิยมใช้ เมื่อเสร็จแล้วนำพระเกศาทั้งหมดผึ่งลมจนแห้งสนิทเป็นเวลาเดือนครึ่ง ก่อนจะนำเข้าพิธีปลุกเสกร่วมกับวัตถุมงคลของท่านครูบาน้อยแห่งวัดบ้านปง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ในปีเดียวกัน แล้วแบ่งพระเกศาที่สร้างในครั้งนี้ออกเป็นสามส่วนเท่า ๆ กัน ตนเองเก็บไว้เพียงส่วนเดียวเพื่อไว้แจกแก่ผู้ที่นับถือครูบาเจ้าฯ

-  วิธีการสร้างพระเกศา ตามที่ผู้เขียนได้เขียนเล่ามานี้ คงพอประมาณได้ว่าการสร้างพระเกศาในอดีตนั้นเป็นอย่างไร อาจไม่ตรงเสียทั้งหมด จึงได้ใช้คำว่า ประมาณเอา ส่วนการสร้างพระเกศารุ่นนี้อาจจะแปลกจากรุ่นอื่น ๆ ในอดีต กล่าวคือได้พระเกศาพิมพ์เดียวกันเป็นจำนวนมาก เพราะพระเกศาครูบาเจ้าฯ ในยุคต้นที่เราท่านพบส่วนมากไม่ซ้ำพิมพ์กัน

-  เขียนไปเขียนมาชักจะเข้าลึกเข้าดึกไปไหนต่อไหน ขอกราบอภัยท่านผู้อ่านที่แอบยืดข้อเขียนเรื่องนี้ต่อโดยบ่ได้ตั้งใจ สาธุไหว้สา ขอสูมาเต๊อะ ก่อนแล นายเหย..

 
โดย : ริมฝั่งวัง    [Feedback +19 -0] [+0 -0]   [ 2 ] Mon 27, Feb 2012 20:54:23

 

 

ปริศนาแห่งพระเกศาครูบาเจ้าศรีวิชัย (ตอนจบ)

-  ดังที่ได้ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พระเกศาครูบาเจ้าฯ มีจุดประสงค์หลักการสร้างเพื่อเก็บรักษาเส้นเกศา เส้นเกศาจึงเป็นมวลสารสำคัญสำหรับพระเครื่องดังกล่าวนี้ ดังนั้นปริศนาแรกที่ชวนไขคือ การสังเกตเส้นเกศาครูบาฯ

-  เส้นเกศาครูบาเจ้าฯที่บรรจุในองค์พระนั้น มักเป็นสีน้ำตาลใสคล้ายกับสีน้ำผึ้ง บางคนเปรียบเส้นเกศาครูบาเจ้าฯ เป็นสำนวนปัจจุบันว่า มีลักษณะคล้ายกับเส้นผมขาดการบำรุง ด้วยว่าครูบาเจ้าฯฉันมังสวิรัติ บ้างก็ว่าสีของเส้นเกศาที่กลายเป็นสีน้ำผึ้งนั้นอาจถูกมวลสารหรือรักกัดสีจนกลายเป็นสีใสในที่สุด มาตรฐานสีของเส้นเกศาดังกล่าวนี้ถือเป็นบรรทัดฐานส่วนหนึ่ง กล่าวคือพอส่องกล้องดูก็จะทราบโดยทันทีว่าใช่เลย ข้อสรุปนี้คงได้จากการสังเกตเห็นที่เหมือน ๆ กัน อีกทั้งบางองค์มีนามของท่านจารบนองค์พระ จึงเป็นเครื่องจำหมายว่าเป็นเส้นเกศาของท่าน การเทียบเคียงลักษณะเส้นเกศาจากองค์ที่มีนามครูบาเจ้าฯกับองค์ ๆ ถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อสรุปนี้

-  วิธีการบรรจุเส้นเกศาในองค์พระมีหลายวิธี เช่น การผสมกับมวลสารแล้วค่อยกดในแม่พิมพ์ การใส่เส้นเกศาในแม่พิมพ์ วิธีนี้จะพบเส้นเกศาด้านหน้าองค์พระ การใส่เส้นเกศาด้านหลังองค์พระ หรือห่อกระดาษฝังในองค์พระ วิธีแรกดูจะเป็นธรรมชาติที่สุด จะเห็นเส้นเกศาโผล่พ้นผิวเล็กน้อย ส่วนวิธีการต่อมาเหมือนการจงใจโชว์เส้นเกศาและเส้นเกศามักจะหลุดออก จะเห็นเพียงรอยเส้นทาบกับผิวองค์พระเท่านั้น องค์พระที่เห็นเส้นเกศาชัดเจนดังกล่าวนี้นิยมเรียกกันว่า เกศาลอย ที่ไม่ปรากฏเส้นเกศา เรียกว่า เกศาจม คนมักจะประมาณเอาว่า มี แต่ อยู่ข้างใน คนนิยมแบบเกศาลอยมากกว่าด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือ พระเกศาก็ต้องเห็นเส้นเกศา นั่นเอง

 

พระเกศาครูบาเจ้าศรีวิชัย
พิมพ์พระเนื้อดินรุ่นอัฐิหลังย่น

-  ปริศนาลำดับต่อมาคือ พิมพ์ทรงพระเกศา ส่วนมากจะเป็น พิมพ์พระสกุลลำพูน เช่นพระคง พระบาง พระรอด พระเปิม พระลือ พระเหลี้ยม พระลบ พระสาม พระสกุลลำพูนคงหาได้ง่ายในยุคนั้นอีกทั้งยังเป็นที่เคารพของผู้คนในพื้นถิ่น จึงนำมาเป็นต้นแบบการสร้าง ต้นแบบสวยพระเกศาองค์ที่ถอดแบบออกมาก็สวยตาม พิมพ์ต่อมาคือ พิมพ์รูปเหมือนครูบาเจ้าฯ ที่พบมากคือมีลักษณะคล้ายกับพระเนื้อดินรุ่นอัฐิหลังย่นคือเป็นรูปครูบาเจ้าฯ นั่งเต็มองค์ พิมพ์ทรงกลุ่มสุดท้ายคือ พิมพ์ทรงพระพุทธ มีอยู่หลายแบบหลายปางหลายขนาด เวลากำหนดประเภทพระเข้าประกวดมักไม่เป็นมาตรฐาน เช่น แบ่งเป็นพิมพ์รัศมีใหญ่ รัศมีกลาง รัศมีเล็ก นั่งบัว ฯลฯ ความหลากหลายนี้คือเสน่ห์ของพระเกศาฝีมือแบบชาวบ้านที่สะท้อนความเคารพนับถือในตัวครูบาฯ ใครอยากทำแบบพิมพ์อย่างไรก็แล้วแต่ใจศรัทธา ผู้เก็บสะสมจึงตื่นเต้นตามความหลากหลายนั้นอย่างไม่มีวันจบสิ้น ผู้เขียนแอบคิดนะว่า ถ้ามีคนสัก 500 คน ต่างได้เส้นเกศาครูบาเจ้าฯ กันทุกคน สมมติว่าได้จากมือเลยนะ คนทั้ง 500 อยากเก็บรักษาเส้นเกศาโดยสร้างเป็นองค์พระ ต่างคนก็สร้างพิมพ์ตามศิลปะที่ตนชอบ ก็จะได้พระเกศา 500 พิมพ์ไม่ซ้ำกัน และคงมีบ้างที่ใช้แม่พิมพ์เดียวกัน ส่วนใครมีรักมีชาดก็ลง ใครมีทองก็ปิด ครั้นจะร่วมกันทำเป็นพระเกศาครูบาเจ้าฯ รุ่นหนึ่งให้เอิกเกริก ในยุคกะโน้นคงทำได้ไม่ถนัด เนื่องจากการปลงผมทุกครึ่งเดือนนั้นคณะผู้ศรัทธามีจำนวนมาก ส่วนว่าบรรดาลูกศิษย์ชิดใกล้จะเก็บไว้คนเดียวคงเป็นไปได้ยาก อีกทั้งครูบาเจ้าฯ นั้น เกือบตลอดชีวิต ท่านกลายเป็นของต้องห้ามทั้งฝ่ายพุทธจักรจากส่วนกลางและอาณาจักร ดังนั้นจึงน่าจะต่างคนต่างสร้างหรือแอบทำแอบสร้างมากกว่า เป็นเรื่องที่รู้กันเฉพาะญาติพี่น้องแล้วสืบสายเป็นมรดกให้แก่ลูกหลาน ก่อนจะกระจายสู่แผงพระเครื่องในที่สุด

การพิจารณาเนื้อพระเกศาเพื่อกำหนดอายุนั้น อาศัยความเก่าความแห้งของมวลสารบวกกับประวัติที่ได้จากการเล่าต่อปาก ถ้าปิดทองล่องชาดก็สังเกตจากรัก ชาด ทองเก่า ด้วยว่าข้อตกลงเรื่องความเก่าความใหม่เหมือนเป็นมติร่วมกันที่เป็นมาตรฐาน มีพระเกศาครูบาเจ้าฯ องค์หนึ่งที่จารปีที่สร้างบนองค์พระ จึงสามารถเทียบเคียงเนื้อหาส่วนอื่น ๆ ประกอบอายุการสร้างได้

-  การปลอมแปลงเพื่อให้ได้ค่าเชิงพาณิชย์นั้น ส่วนมากจะใช้วิธี ตีเข้า ตามสำนวนของเซียนพระ หมายถึง การกล่าวเหมารวม เอาพระผงอื่น ๆ ให้เป็นพระเกศาครูบาเจ้าฯ ส่วนมากจะเป็นพระเนื้อผงของพม่า เพราะมวลสารหลัก ๆ เหมือนกัน คือ สมุก เกสรดอกไม้ และการคลุกรัก ยิ่งไม่พบเส้นเกศาก็ยิ่งพิจารณายากเข้าไปอีก ส่วนการตั้งใจปลอมหรือรู้แล้วว่าไม่ใช่ แต่อาศัยการตีเข้าดังกล่าวก็มีอยู่ไม่น้อย สบายใจตรงที่คนล้านนามีความเชื่อเรื่องเวรกรรมโดยเฉพาะกับครูบาเจ้าฯ จึงพอเบาใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปได้บ้าง เพราะใช้เวลาไม่นานความจริงก็ปรากฏ พูดแล้วขนฅิงลุกสามครั้ง ผู้เขียนขอไขปริศนาเรื่องพระเกศาครูบาศีลธรรมเจ้าด้วยความคำนบครพยำไว้แค่นี้ แล สาธุ.

 
โดย : ริมฝั่งวัง    [Feedback +19 -0] [+0 -0]   [ 3 ] Mon 27, Feb 2012 20:56:46





 

ที่มา เครดิต  จากเวป

 http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/kb-srivichai/kb-srivichai-hist-12.htm

ถึงตอนนี้ คงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ทั้งจากรูปที่ท่านอาจารย์นำมาลงให้ดูเป็นตัวอย่าง ก็เป็นพระเกศาครูบาศรีวิชัยที่มีการปิดทองร่องชาด  รวมทั้งในบทความก็อ้างถึงการมีอยู่ ของพระเกศาครูบาศรีวิชัย ที่มีการ ปิดทองร่องชาดเช่นกัน

หวังว่า กระทู้นี้คงมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยสำหรับทุกๆคนที่ชอบสะสมพระเกศาครูบาศรีวิชัย  เพื่อการเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน  จากผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญอย่างจริงๆ

ด้วยรัก

 

 
โดย : ริมฝั่งวัง    [Feedback +19 -0] [+0 -0]   [ 4 ] Mon 27, Feb 2012 21:04:06

 

ขอบพระคุณที่นำมาลงให้อ่านครับ.....และเห็นด้วยกับท่านอาจารย์วิลักษณ์ที่นำเสนอได้อย่างชัดเจนครับ...ผมก็สนใจเกศาครูบาด้วยเช่นกัน แต่ไม่อยากนำเสนอ เพราะเกศามีแนวทางไปตามบริบทเฉพาะประสบการณ์ของแต่ละคน....แต่ผมจะมาบอกว่าภาพพระพิมพ์พระเปิมที่ใช้ประกอบบทความนั้น  เป็นพระเก๊ครับผม ไม่มีเส้นเกศา อาจเป้นความพลั้งเผลอของคนลงภาพประกอบ หรืออาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่ตรงนั้น....ที่พูดแบบนี้เพราะพระองค์ในรูปอยู่ที่ผม และเช่ามาแบบเป็นพระเกศา พอส่งมาถึงแล้วกลับไม่ใช่ครับผม จึงเรียนมาเพื่อทราบ จะเอารูปลง พอดีในภาพมีชื่อของเจ้าของเดิมอยู่ครับ เลยไม่ขออนุญาตนำลงครับผม ...แต่อย่างไรผมก็กราบขอบพระคุณป่าริมฝั่งวังที่แนะนำบทความดีๆ และขอบคุรท่านอาจารย์วิลักษณ์ไว้ ณ ที่นี้ครับ

 
โดย : ขุนศึกแห่งลุ่มน้ำปิง    [Feedback +9 -3] [+1 -0]   [ 5 ] Mon 27, Feb 2012 23:55:12

 

???????????????????????

 
โดย : เอิร์น    [Feedback +2 -0] [+0 -0]   [ 6 ] Tue 28, Feb 2012 11:30:10

 

emo_10 ยอดเยี่ยมครับ ท่านริมฝั่งวัง

 
โดย : เฮงเฮงเฮง    [Feedback +3 -0] [+0 -0]   [ 7 ] Tue 28, Feb 2012 14:44:41

 

emo_2

 
โดย : samran    [Feedback +121 -1] [+0 -0]   [ 8 ] Tue 28, Feb 2012 21:22:05









 
 
โดย : p.som    [Feedback +42 -0] [+1 -0]   [ 9 ] Wed 29, Feb 2012 08:12:50

 

 

ผมเคยเห็นอยุ่ครับ   เส้นเกษาครูบาที่  พระอาจารย์ผดุงได้มา   อยู่ในพระบอกไผ่สานลงรัก  และ ได้อัฐิฐาตุของครูบาศรีวิชัยมา  

ด้วย  ในตอนนั้น พระอาจารย์ยังได้เมตตาแบ่งเส้นเกษาให้ผมไวจำนวนหนึ่ง  และ  อัฐิธาตุของครูบามาด้วยทุกวันนี้ผมก็เก็บ

รักษา บูชาอยู่ครับ  ส่วนเส้นเกษาไม่ได้เก็บไว้เลยครับ   ผมได้มอบให้คนที่รู้จักไปทั้งหมดโดยไม่คิดอะไรเลยและตอนหลังเห็น

ว่านำไปสร้างล็อกเก็ต รุ่นดอยโง้มทั้งหมดครับ      ส่วนพระเกษาที่พระอาจารย์ผดุงสร้างนั้น น่าบูชามากครับ  ตอนนั้นผมเห็นท่าน

กว่าจะสร้างได้ใช้เวลาเตรียมมาลสารกว่าจะได้ครบยากมากครับ  เพราะพระอาจารย์ท่านให้ความสำคัญในการสร้างทุกขั้นตอนเลยครับ

 
โดย : ดุลย์รภา    [Feedback +11 -0] [+0 -0]   [ 10 ] Wed 29, Feb 2012 12:20:01

 

 ขอบพระคุณทุกๆท่านที่ให้เกียรติมาร่วมแจม

ในความเห็นส่วนตัว ผมว่า พระเกศาครูบาศรีวิชัย เป็นพระที่น่าเก็บสะสมเป็นอย่างมาก เหตุมีอัฐิธาตุของท่านครูบาศรีวิชัยและมีราคาหาบูชาที่ไม่แพงที่คนฐานะอย่างผมและคนส่วนมาก  ยังพอหาสะสมได้(แต่จะหาบูชารุ่นอื่นๆของท่านครูบาฯ คงไม่ไหว)

เนื่องจากผมพอจะดูความเก่าของพระเนื้อผงได้   เหตุเริ่มสะสมพระเนื้อผงมาตั้งแต่เด็กๆ จริงบ้าง(พระรุ่นใหม่ที่ออกมาจากวัด)   ปลอมบ้าง(พระตามแผงลอย) ปะปนกันไป ยิ่งช่วงเป็นวัยรุ่น ว่างจากเรียนเป็นต้องไปเดินในสนามพระ ทั้งท่าพระจันทร์ วัดราชนัดดา ฯลฯ   ไปหาอะไรหรือครับ   หาพระสมเด็จวัดระฆัง หรือพระกรุบางขุนพรหม หลงๆ  เผื่อเจอแบบฟรุ๊คๆ  ตามคำล่ำลือต่างๆนาๆของคนสมัยนั้น  เจอเนื้อหาเก่าหน่อย  ก็เช่าเก็บสะสมเรื่อยๆมา  จนเมื่อ เมื่อเริ่มเข้า ประมาณ สิบปีขึ้ไปช่วงนี้เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน  มีโอกาสได้เห็นของจริงๆบ่อยขึ้น   ก็เริ่มอยู่ตัว มองออกได้ด้วยตาเปล่า ( เว้นแต่เจออย่างฝีมือจริงๆ  ) ถึงความเก่าตามอายุของพระเนื้อผง   และได้สัจธรรมอย่างหนึ่ง  การจะเจอพระสมเด็จแบบฟรุ๊คๆเหมือนงมเข็มในมหาสมุทรนั่นเอง (ไม่มีทางเป็นไปได้) อิ อิ

 

ก่อนเริ่มสะสมพระเกศาครูบาศรีวิชัย   ก็ดูไปเรื่อยๆ  สงสัยนะทำไมมีหลายเนื้อ หลายทรงพิมพ์  ความเก่าทำไมแตกต่างกันไป  บางองค์ดูเก่ามาก  บางองค์ดูยังใหม่ๆอยู่  ทำไมมีลงรัก ปิดทอง ล่องชาด  จนมาเจอบทความของท่านอาจารย์วิลักษณ์   ศรีป่าซาง   จึงเข้าใจและรู้ถึงเหตุผลทั้งหมด

เริ่มแรก ก็เก็บสะสมเนื้อหาที่ดูใหม่หน่อย  เหตุราคาถูก  เมื่อเริ่มมั่นใจมากขึ้น  ก็เริ่มหาที่เนื้อหาเก่าๆ ที่ราคาเริ่มแพงมากขึ้น   แต่ราคาที่แพงๆนั้น  ก็หาเช่าบูชาแบบที่มีใบรับรองการประกวดแนบมาด้วย( เป็นยันต์กันผี)  และนำทั้งหมดมาเปรียบเทียบความเก่าใหม่  ประมาณอายุของวัตถุมงคล

 

แม้จะเก่าเพียงไร  ก็ยังเลือกเก็บเฉพาะที่มีใบประกวดพระติดมาด้วย  แต่หากมีเหตุอันทำให้ใบประกาศฯเป็นอันใช้ไม่ได้  ไม่ว่าด้วยเหตุผลอันใด  (เว้นแต่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าสมควรจะเป็นเช่นนั้นจริงๆอย่างไม่ขัดสายตาของคนหมู่มากที่มีใจอย่างเป็นธรรมไม่เอนเอียง)  ความน่าเชื่อถือของพระเกศาจะลดลง  และส่งผลให้การเก็บสะสมลดลงไปด้วยเช่นกัน

ทำไมใบประกวดฯของพระเกศาจึงมีความสำคัญ    ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า  พระเกศาฯ มีความหลากหลายมาก  คนเก็บสะสมต้องมีใจที่เปิดกว้างยอมรับถึงความหลากหลายให้ได้  (สำหรับคนที่ดูความเก่าของพระเนื้อผงออก คงไม่กระทบอะไรมาก  แต่ที่กระทบอย่างแน่นอนคือ มูลค่าเพิ่มของสินทรัพย์ตามกาลเวลาจะไม่มี  ส่วนคนที่ดูความเก่าไม่ออก  เกิดปัญหามากแน่ๆ)  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใช้อำนาจในการชี้ขาด ต้องจูนเข้าหากัน  เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน  คนใช้อำนาจใหม่ มีแนวคิดใหม่  ต้องค้นหาและเรียนรู้ถึงแนวคิดเก่าว่าเป็นอย่างไร  ถูกต้องหรือไม่  ข้อเท็จจริงต่างๆที่มีอยู่  ย่อมจะเลือนลางสูญหายไปตามกาลเวลา  ยิ่งนานมาก  ก็เท็จจริงก็ยิ่งหายไปมาก  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใช้อำนาจต้องพยายามเก็บข้อเท็จจริงจากผู้ใช้อำนาจเก่ามาให้หมด  เก็บรวบรวมมาวิเคราะห์หาเหตุผล  หาข้อสรุปอย่างไม่เข้าข้างตนเอง  เป็นที่ยอมรับได้จากคนส่วนมาก

เมื่อข้อมูลจูนเข้าหากันได้   ความนิ่งก็จะตามมา เมื่อมีความนิ่ง ความน่าเชื่อถือก็ยังคงมีอยู่ตลอดไปไม่สูญสิ้น  สูญหาย  เสียไป  ก่อให้เกิดผลแต่ในด้านดีๆ เรื่องดีๆ  ตลอดไปอย่างมั่นคง  ยั่งยืน   สมกับเป็นวัตถุมงคลที่ใกล้ชิดที่สุดแห่งคนบุญล้านนา  พระเกจิอันดับหนึ่งของชาวภาคเหนือแห่งเรา  เมื่อเป็นของดีก็ต้องให้คนชื่นชมเก็บรักษา     แต่หากเป็นของดีแต่ไม่มีคนสนใจ  ไม่มีคนรู้จัก   ก็ไม่ก่อประโยชน์อันใด   ถึงตอนนี้แล้วก็ให้นึกถึงเพลงบัวกลางบึง 

 

เอาหละ พูดเท่านี้แหละ  ยิ่งพูดมาก  คนก็เกลียดมาก  บางคนมองเห็นความตั้งใจจริง หรือเจตนาที่ดีของเราก็ดีไป  แต่ย่อมต้องมีบ้างที่ไม่เห็นเจตนาดี  ก็ตกเป็นขี้ปาก  ไป

http://www.youtube.com/v/HUH6PavKfvU?version=3&hl=th_TH

 

 
โดย : ริมฝั่งวัง    [Feedback +19 -0] [+0 -0]   [ 11 ] Wed 29, Feb 2012 14:23:45

 

บัวกลางบึงเถา

http://www.youtube.com/v/uFY1GmyxdX8?version=3&hl=th_TH

 

 
โดย : ริมฝั่งวัง    [Feedback +19 -0] [+0 -0]   [ 12 ] Wed 29, Feb 2012 14:47:51

 

  เรื่องเกศาครูบาเจ้าศรีวิไชย ผู้ที่สนใจหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก หนังสือ "ตนบุญล้านนา ประวัติครูบาฉบับอ่านม่วน 2 " ของ อ.วิลักษณ์ ศรีป่าซาง  พ.ศ.2553 หน้า 62 - 72 หนังสือเล่มนี้บอกถึงประวัติการสร้างพระเกศาครูบา ละเอียดและมีภาพประกอบด้วยครับ   emo_3

 
โดย : พระธนบดี    [Feedback +67 -0] [+0 -0]   [ 13 ] Wed 29, Feb 2012 18:30:42





 

เป็นกำลังใจให้พี่คมสันริมฝั่งวังตวยเน้อเจ้า เป็นกำลังใจ๋ฮื้อทุกท่านที่ศรัทธาบ่ว่าจะเป็นเกศาพิมพ์แต่ละพิมพ์อัฐิครูบาแต่ละยุคแต่ละสมัยเอากำกล่าวของครูบาเจ้าสู้กะหมู่มาร

"มารบ่มีบารมีบ่เกิด"

"อย่าสงสัยในสิ่งที่เราศรัทธา สิ่งที่เราควรศรัทธาและไม่ควรศรัทธา คือ ตัวเราเอง"สู้เจ้าขอบคุณที่เอาความรู้มาสู่เฮาและนำมาพิจารณาในกระทู้ที่กะลังดุเดือด หยังใดหากบ่ามีเกณฑ์ในการพิจารณาก่อคงบ่ามีค่า อะหยังกับการพินิจพิเคราะห์

 

 
โดย : หละอ่อนหละปูน    [Feedback +36 -0] [+4 -0]   [ 14 ] Wed 29, Feb 2012 20:12:09

 

ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งครับพี่ใหญ่(พระธนบดี  สำหรับแหล่งข้อมูลที่ดีๆในการศึกษาค้นคว้า

และขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ญาดา(อาจารย์ที่เป็นนักบริหารและเป็นผู้นำ  "หละอ่อนหละปูน" ) สำหรับกำลังใจที่ให้มาครับ

ท้ายนี้ได้นึกถึงข้อคิดอย่างหนึ่งที่มีมานานแสนนานแล้ว   กล่าวว่า

คนที่ทำงานไม่มีไม่ผิดพลาด   คนที่ไม่เคยผิดพลาด  คือคนที่ไม่ได้ทำงาน

การผิดพลาด จึงเป็นเรื่องธรรมดามาก สำหรับคนที่ทำงาน  ยิ่งทำงานมาก  ยิ่งผิดพลาดมาก 

การผิดพลาดจึงอยู่คู่กับการให้อภัยเสมอมา   และคงเป็นเช่นนี้ตลอดไปเพื่อให้สังคมอยู่ได้อย่างสงบสุข

http://www.youtube.com/v/bhn_PrMm8PU?version=3&hl=th_TH

 

 
โดย : ริมฝั่งวัง    [Feedback +19 -0] [+0 -0]   [ 15 ] Wed 29, Feb 2012 21:06:17

 

การให้อภัย  เห็นใจ ยอมรับกฏกติกา  ยอมถอย เพื่อก้าวต่อไป อย่างมั่นคง  เป็นสิ่งสำคัญเสมอครับ พี่คมสันต์  หวังว่าทุกอย่างจะจบลงด้วยดี  และขอให้เป็นอย่างนั้น จริง ๆครับ

 
โดย : Provision    [Feedback +61 -0] [+0 -0]   [ 16 ] Wed 29, Feb 2012 21:50:20





 
 
โดย : พระธนบดี    [Feedback +67 -0] [+0 -0]   [ 17 ] Wed 29, Feb 2012 21:52:05

 

ผมก็อยากให้เป็นไปเหมือนแนวความคิดของน้องเอกเช่นกันครับ

http://www.youtube.com/v/j6a9gnCxfQw?version=3&hl=th_TH

 

 
โดย : ริมฝั่งวัง    [Feedback +19 -0] [+0 -0]   [ 18 ] Wed 29, Feb 2012 22:13:23





 
 
โดย : papapa    [Feedback +3 -0] [+0 -0]   [ 19 ] Thu 1, Mar 2012 19:31:24





 

http://www.youtube.com/v/I_rGumorXyM?version=3&hl=th_TH

 

 
โดย : ริมฝั่งวัง    [Feedback +19 -0] [+0 -0]   [ 20 ] Fri 2, Mar 2012 23:02:57

 
กำลังร้อนแรงมากๆ จึงขอนำบทความปริศนาแห่งเกศาครูบาศรีวิชัย มาให้อ่านกัน : พระล้านนา.คอม เว็บ พระเครื่อง พระบูชา อันดับหนึ่ง ของภาคเหนือ ออกแบบเว็บไซต์โดย 2WinWeb design บริการรับทำเว็บไซต์
Copyright Pralanna.com All right reserved. © สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดย บริษัท พระล้านนาดอทคอม จำกัด.