มองในมุมของนักกฏหมายมั่งนะครับ(เป็นความเห็นส่วนตัว)
โดยหลักจะเกิดเป็นสัญญาซื้อขายได้จะต้องมีคำเสนอ คำสนอง ถูกต้องตรงกัน ทั้งของผู้ซื้อและผู้ขาย เมื่อเกิดเป็นสัญญาแล้ว จะบังคับให้เป็นไปตามข้อสัญญาได้หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งผมไม่ขอกล่าว ณ ที่นี้
ณ ที่นี้ขอพูดเรื่องการเกิดสัญญาอย่างเดียวนะครับ
อะไรเป็นคำเสนอ อะไรเป็นคำสนอง
ในที่นี้ขอพูดแบบให้เข้าใจง่ายๆไม่ใช้ภาษาทางกฏหมายให้มากไป
คำเสนอนี้ หมายถึงการที่เราแสดงเจตนาอย่างใดออกไปให้กับอีกฝ่ายหรือแก่คนทั่วๆไป โดยข้อความที่แสดงต้องมีความชัดเจนแน่นอน ไม่ต้องมีการตีความ คำเสนอนี้จึงมีได้ทั้ง เสนอซื้อ หรือเสนอขาย
การที่ผู้ขายลงประมูล มีความชัดเจนไหม ตอบว่าไม่ชัดเจนสมบูรณ์อย่างเพียงพอเพราะไม่ได้แสดงราคาไว้อย่างชัดเจนเพียงพอให้ผู้ซื้อได้ทราบราคาทันที การลงประมูลจึงไม่ถือเป็นคำเสนอ แต่เป็นเพียงคำเชื้อเชิญให้กับคนทั่วๆไปเท่านั้น ไม่มีผลทางกฏหมายแต่อย่างใด
มาดูด้านผู้ซื้อ แสดงเจตนาชัดเจนเพียงพอเป็นคำเสนอไหม ตอบว่าชัดเจน เพราะมีการแสดงเจตนาจะซื้อวัตถุมงคล และมีราคาระบุไว้อย่างชัดเจน กรณีนี้ จึงเกิดเป็นคำเสนอของผู้ซื้อตอนคีย์คอมฯแล้ว
แต่แม้จะเป็นคำเสนอ สัญญาก็ยังไม่เกิด จะต้องมีคำสนองรับของผู้ขายก่อน ว่าตกลงขาย ( ในราคานั้นราคานี้) คำสนองรับนี้ ผู้ขายได้ตั้งราคาไว้โดยออโต้ในคอมไว้ หากราคาต้องตรงกันทั้งของผู้ซื้อและผู้ขาย เครื่องคอมก็จะแสดงเจตนาของผู้ขายออกมา ว่าสนองรับในราคาที่ผู้ซื้อได้เสนอราคามา สัญญาการซื้อขายก็จะเกิดขึ้นทันที
ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อคำเสนอของผู้ซื้อไม่ตรงกับราคาที่ผู้ขายตั้งไว้หละจะมีผลอย่างไร
โดยหลักทางกฏหมายต้องตีความโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้เสนอราคา รวมทั้งต้องตีความเข้าข้างผู้เสียในมูลหนี้ คือผู้ต้องจ่ายเงินเป็นสำคัญ
เจตนาของผู้ซื้อเป็นอย่างไร
เมื่อผู้ซื้อได้ทราบอยู่แล้วว่า มีราคาที่ซ่อนไว้จากผู้ขาย จึงต้องการให้ผู้ขายสนองรับทันทีที่ราคาเสนอของผู้ซื้อตรงกับราคาของผู้ขาย เมื่อราคาไม่ตรงกัน ก็ต้องตีความเข้าข้างผู้เสียในมูลหนี้(ผู้จะจ่ายเงินคือผู้ซื้อ)ว่า ผู้ขายไม่ตกลงขายในราคาที่ผู้เสนอได้เสนอราคามา(คือคอมไม่ได้แสดงข้อความว่าการแสดงเจตนาตรงกันด้านราคาของผู้ซื้อและผู้ขาย) คำเสนอของผู้ซื้อจึงย่อมสิ้นผลไปในตัว ( หากผู้ขายต้องการขายในราคานั้น ก็ต้องเสนอราคาให้ผู้ซื้อใหม่ หากผู้ซื้อตกลงสนองรับ ถึงจะเกิดเป็นสัญญาซื้อขาย)
แล้วกรณีที่ราคาไม่ต้องตรงกัน และผู้ซื้อลงเบอร์โทรไว้หละ จะเป็นอย่างไร
การที่ผู้ซื้อได้ลงเบอร์โทรไว้อย่างชัดเจน แสดงว่าผู้ซื้อได้ทราบอยู่แล้วว่า ราคาที่เสนอไป อาจไม่ตรงกับราคาที่ผู้ขายตั้งไว้ แต่ก็ไม่ต้องการให้คำเสนอนั้นสิ้นผล โดยการแสดงเจตนาไว้อย่างชัดแจ้งถึงได้ลงเบอร์โทรไว้(เพื่อให้ผู้ขายติดต่อสนองรับมา) ในกรณีนี้ คำเสนอย่อมไม่สิ้นผล เพราะไม่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุดไว้ว่าจะผูกพันถึงวันไหน ส่งผลให้คำเสนอนั้นยังคงมีและผูกพันผู้เสนออยู่ตลอดไปแม้จะนานเท่านานเพียงใดก็ตาม เมื่อผู้ขายเปลี่ยนราคามาตรงกับราคาที่เสนอซื้อ เท่ากับผู้ขายได้สนองรับแล้ว กรณีนี้ย่อมเกิดเป็นสัญญาซื้อขายเช่นกัน
เช่นนี้ผู้ซื้อจะไม่เสียเปรียบหรือ ไม่เสียเปรียบครับ ตราบใดที่ยังไม่มีการสนองรับจากผู้ขาย ผู้ซื่อย่อมแสดงเจตนายกเลิกคำเสนอของตนได้ โดยบอกกล่าวโดยคีย์คอมๆบอกฝ่ายผู้ขายขอยกเลิกคำเสนอนั้นนะ เป็นต้น
เอาเท่านี้นะ เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของนักกฏหมายคนหนึ่งเท่านั้นนะครับ อาจไม่ถูกใจหรือเป็นการขัดใจกับใคร ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
|