พระล้านนาดอทคอม แหล่งรวมพระเครื่องเมืองเหนือ
มีข่าวเอิ้นบอก

เชิญ นักศีลนักบุญ ร่วมสวดมนต์ข้ามปี ที่วัดร่ำเปิง(ตโปทาราม)


เชิญ นักศีลนักบุญ ร่วมสวดมนต์ข้ามปี ที่วัดร่ำเปิง(ตโปทาราม)


เชิญ นักศีลนักบุญ ร่วมสวดมนต์ข้ามปี ที่วัดร่ำเปิง(ตโปทาราม)

   
 

เชิญ นักศีลนักบุญ ร่วมสวดมนต์ข้ามปี ที่วัดร่ำเปิง(ตโปทาราม ) ทางวัดร่ำเปิง(ตโปทาราม) ใด้มีการสวดมนต์ข้ามปีทุกวันที่31-1 ที่ใกล้จะถึง มาตลอด 

ขออนุโมทนาบุญด้วย สาธุๆๆ

งานหลักของวัดร่ำเปิง

     1. อบรมวิปัสสนากรรมฐานแก่ประชาชนทั่วไปชาย – หญิง ตลอดปี

     2. อบรมวิปัสสนากรรมฐานแก่ชาวต่างประเทศชาย – หญิง ตลอดปี

     3. อบรมคุณธรรม จริยธรรม วิปัสสนากรรมฐานเบื้องต้นแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นหมู่คณะตลอดปี

     4. อบรมและสร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรมวิปัสสนากรรมฐานแก่ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงาน

  บริษัทเป็นหมู่คณะตลอดปี

     5. อบรมวิปัสสนากรรมฐานพระภิกษุ สามเณร โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ตลอดปี

     6. ส่งคณะวิทยากรไปอบรมวิปัสสนากรรมฐานนอกสถานที่ ยังหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดปี

           

         วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) สังกัดมหานิกาย สอนวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 ในมหาสติปัฏฐานสูตร ตั้งแต่ พ.ศ. 2516  โดยพระธรรมมังคลาจารย์ (พระอาจารย์ทอง  สิริมงฺคโล) จนถึงปี พ.ศ. 2534 ท่านได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร           พระสมุห์สุพันธ์  อาจิณฺณสีโล ปัจจุบันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท (วิ) ที่ พระครูภาวนาวิรัช เจ้าอาวาสวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม)

        รูปปัจจุบันผู้เป็นศิษย์ได้สืบทอดเจตนารมณ์และสืบสานงานวิปัสสนากรรมฐานมาจนถึงปัจจุบัน พัฒนาวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) ให้เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปทั้งชาวไทยและต่างประเทศว่าเป็นสำนักอบรมวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในภาคเหนือ 

 

ปัจจุบันวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) ได้รับคัดเลือกให้เป็น…

          - ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติฯ ประจำจังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2542

          - สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 2  ในปี พ.ศ. 2547

          - สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่น เฉลิมพระเกียรติ 83 พรรษา ประจำปีพุทธศักราช 2553

          นอกจากงานวิปัสสนากรรมฐานแล้ว วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) ยังเป็นสำนักเรียนพระอภิธรรมสาขาของอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตาราม และยังเป็นวัดที่รวบรวมและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาล้านนา

  

กิจกรรมประจำปีสืบสานพระพุทธศาสนา สืบทอดวัฒนธรรมไทย ประเพณีวัฒนธรรมล้านนา

งานบรรพชาอุปสมบทหมู่ พระภิกษุสามเณรภาคฤดูร้อน

 รดน้ำดำหัวปีใหม่เมือง คารวะพระเถระ

กิจกรรมเทศกาลเข้าพรรษา – ออกพรรษา ตักบาตรเทโวโรหนะ

อุปสมบทหมู่พระนวกะเข้าพรรษา

งานกฐินทานประจำปี

งานปริวาสกรรมก่อนเข้าพรรษาและหลังออกพรรษา

ประเพณียี่เป็ง – เทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก (ตั้งธรรมหลวง)

อุปสมบทหมู่เฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในวโรกาสมหามงคลต่าง ๆ

กิจกรรมวันสำคัญทางพุทธศาสนา

งานปฏิบัติธรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

กิจกรรมตลอดปี

รับสมัครผู้เข้าปฏิบัติธรรมชาวไทยชาย – หญิง ทุกวันตลอดปี

รับสมัครผู้เข้าปฏิบัติธรรมชาวต่างประเทศชาย – หญิง ทุกวันตลอดปี

รองรับกลุ่มปฏิบัติธรรมจากโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาต่าง ๆ หน่วยงานราชการ องค์กรเอกชนต่าง ๆ

รับสมัครบุคคลเข้าบรรพชาและอุปสมบทเพื่อปฏิบัติธรรมตลอดปี

เทศน์ทุกวันโกน วันพระ มีกิจกรรมเวียนเทียนทุกวันพระตลอดปี

ทำบุญตักบาตรทุกวัน เวลา 07.30 น.  วันพระ 08.00 น.

มีพระวิปัสสนาจารย์อบรมแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานทุกวัน เช้า สาย บ่าย เย็น

มีพระวิปัสสนาจารย์ ผู้ช่วยพระวิปัสสนาจารย์สอบอารมณ์กรรมฐานแก่ชาวไทยและต่างประเทศ

 

 

 
     
โดย : samran   [Feedback +121 -1] [+0 -0]   Fri 30, Dec 2011 19:34:19
 








 
 
โดย : samran    [Feedback +121 -1] [+0 -0]   [ 1 ] Fri 30, Dec 2011 19:35:04









 

พิธีเริ่ม  20.00 น.หลังเที่ยงคืนไป ทางโยคีและผุ้ปฎิบัติธรรม มีการ พักช่วง และแลกของขวัญ มูลค่าไม่ต่ำ 100 บาท ถ้ามีความประสงค์จะแลกของขวัญด้วย ให้เตรียมมาเอง และลงชื่อที่โต๊ะ ของขวัญกับ เจ้าหน้าที่ใด้ 

สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 2
วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
Northern Insight Meditation Centre  Wat Ram Poeng (Tapotaram)

          พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์วงศ์มังราย ครองเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 12 พ.ศ. 1984 – 2030 มีพระราชโอรสอันประสูติจากพระมเหสีเพียงพระองค์เดียว คือ ท้าวศรีบุญเรือง เมื่อท้าวศรีบุญเรืองพระชนม์ได้ 20 พรรษา มีคนเพ็ดทูลพระเจ้าติโลกราชว่า ท้าวศรีบุญเรืองเตรียมการจะคิดกบฏ ทำให้ทรงคลางแคลงพระทัย จึงทรงโปรดให้ไปครองเมืองเชียงแสนและเชียงราย ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านในขณะนั้น   ณ เมืองเชียงรายนี้เอง ได้เป็นที่ประสูติของพระเจ้ายอดเชียงราย และโดยเหตุที่ประสูติ บนยอดเขาสูงในเชียงราย (ยอดดอกบัว) ท้าวศรีบุญเรือง จึงประทานนามพระโอรสว่า “ยอดเชียงราย”    ต่อมา พระเจ้าติโลกราชถูกเพ็ดทูล จากนางหอมุขพระสนมเอกว่าท้าวศรีบุญเรืองเตรียมการก่อกบฏอีก จึงมีพระกระแสรับสั่งให้ปลงพระชนม์พระราชโอรสเสีย และหลังจากนั้นทรงโปรดให้  พระราชนัดดา คือ พระเจ้ายอดเชียงราย ครองเมืองเชียงรายสืบต่อมา

ครั้นถึง พ.ศ. 2030 พระเจ้าติโลกราชเสด็จสวรรคต ราษฎรได้พร้อมใจกันอัญเชิญพระเจ้า ยอดเชียงรายขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ หลังจากที่จัดการบ้านเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทรงดำเนินการสอบสวนหาผู้ที่เป็นต้นเหตุยุแหย่ให้ท้าวศรีบุญเรือง พระราชบิดาต้องสิ้นพระชนม์ จนทำให้พระราชมารดาของพระองค์ตรอมพระทัย ถึงกับเสียพระสติ พระองค์ทรงกำหนดโทษให้ประหารชีวิตแก่ผู้ที่เป็นต้นเหตุ แต่โดยที่พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ภายหลังที่ได้สั่งให้สำเร็จโทษผู้กระทำผิดได้แล้ว ทรงเกรงจะเป็นเวรกรรมจึงทรงดำริที่จะหาทางผ่อนคลายมิให้เป็นบาปกรรมต่อกันสืบต่อไป

ครั้งนั้นมีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาจากต่างเมือง ได้ปักกลดอยู่ที่เชิงดอยสุเทพ ที่ตั้งวัดร่ำเปิงในกาลบัดนี้ ได้ทูลพระเจ้ายอดเชียงรายว่า ณ ต้นมะเดื่อ ไม่ห่างจากที่ท่านปักกลดอยู่เท่าใดนัก ได้มีรัศมีพวยพุ่งขึ้นในยามราตรี สงสัยว่าจะมีพระธาตุประดิษฐานอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง พระเจ้ายอดเชียงรายจึงทรงช้าง พระที่นั่งอธิษฐานเสี่ยงทายว่า ถ้ามีพระบรมธาตุประดิษฐาน และพระองค์จะได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาสืบต่อไป แล้วก็ขอให้ช้างพระที่นั่งไปหยุด ณ ที่แห่งนั้น ทรงอธิษฐานแล้วก็ทรงช้างเสด็จไป ช้างนั้นก็ได้พาพระองค์มาหยุดอยู่ใต้ต้นมะเดื่อ พระองค์จึงให้ขุดรอบๆ ต้นมะเดื่อนั้นก็ทรงพบพระบรมธาตุพระเขี้ยวแก้วบรรจุอยู่ในผอบดินแบบเชียงแสน พระองค์จึงทรงทำพิธีสมโภช และอธิษฐานขอเห็นอภินิหารของพระบรมสารีริกธาตุนั้น จากนั้นจึงบรรจุลงในผอบทอง แล้วนำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ในบริเวณนั้น

พระองค์ได้จารึกประวัติการสร้างวัดนี้ลงในศิจารึก ซึ่งเรียกว่า ศิลาฝักขาม (ตัวหนังสือฝักขาม) ดังมีใจความว่า “สองพันสามสิบห้าปีจุลศักราชได้แปดร้อยห้าสิบสี่ตัวในปีเต๋าใจ๋ (เหนือ) เดือนวิสาขะไทยว่าเดือนเจ็ดออก(ขึ้น) สามค่ำวันศุกร์ไทย ได้ฤกษ์อันถ้วนสอง ได้โยคชื่ออายูสมะ ยามกลองงายแล้วสองลูกนาที” ซึ่งแปลเป็นภาษาปัจจุบันว่า “วันศุกร์ขึ้นสามค่ำเดือนเจ็ด ปีชวด พุทธศักราชสองพันสามสิบหาปี เวลา 08.20 น. ได้ฤกษ์ภรณี (ดาวงอนไถ) ได้โยคมหาอุจจ์” คือการก่อสร้างวัดได้ส่วนกันทั้งทางฝ่าย พุทธจักรและอาณาจักร โดยพระองค์ได้ทรงมีพระราชบัญชาให้พระมเหสีชื่อ พระนางอะตะปาเทวี เป็นผู้ดำเนินการสร้าง พระนางอะตะปาเทวี ได้ประชุมแต่งตั้ง กรรมการดังต่อไปนี้

 

รายนามพระมหาเถระ

 

1. พระมหาสามีญาณโพธิเจ้า

2. พระมหาเถระสุระสีมหาโพธิเจ้า

3. พระมหาเถระธรรมเสนาปติเจ้า

4. พระมหาเถระสัทธรรมฐิระประสาทเจ้า

5. พระมหาเถระญาณสาครอารามิตรเจ้า

(ในศิลาจารึกว่ามีประมาณ 100 รูป แต่ปรากฏชื่อเพียง 5 รูป)

 

รายพระนามและนามผู้สร้างฝ่ายอาณาจักร

 

1. พระนางอะตะปาเทวี ประธานกรรมการออกแบบดำเนินการสร้าง

2. เจ้าเมืองญี่ เจ้าเมืองเชียงราย ผู้เป็นพระราชปิตุลา

3. เจ้าอติวิสุทธ เจ้าหมื่นเมืองตินเชียง

4. เจ้าหมื่นคำพร้ากลาง

5. เจ้าหมื่นธรรมเสนาปติ เมืองจา

6. เจ้าหมื่นหนังสือวิมลกิรติสิงหราชมนตรี

7. เจ้าพันเชิงคดีรัตนปัญโญ

8. เจ้าหมื่นโสม ราชภัณฑ์คริก

ในประวัติไม่ได้บอกชัดว่าใช้เวลาสร้างนานเท่าใด กล่าวแต่ว่าสำเร็จแล้วทุกประการ พร้อมทั้งสร้างพระพุทธรูปเป็นพระประธาน และพระพุทธรูปตามซุ้มที่พระธาตุเจดีย์กับได้สร้างพระไตรปิฎกและพระราชทานทรัพย์ (นา) เงิน (เบี้ย) ดังปรากฏในศิลาจารึกว่า “มีราชเขตทั้งหลายอันกฎหมายไว้กับอารามนี้นาสามล้านห้าหมื่นพัน ไว้กับเจดีย์สี่ด้าน สี่แสนเบี้ยไว้กับพระเจ้า (พระประธาน) ในวิหาร ห้าแสนเบี้ยไว้กับอุโบสถ สี่แสนเบี้ยไว้เป็นจังหัน (ค่าภัตตาหาร) ล้านห้าแสนห้าหมื่นพันเบี้ยไว้ให้ผู้รักษากิน สองแสนเบี้ยให้ชาวบ้านยี่สิบครัวเรือนไว้เป็นผู้ดูแลและอุปัฏฐากรักษาวัด”

  

วัดร่ำเปิงหรือวัดตโปทาราม ได้อยู่ในสภาพวัดร้างมาหลายยุคหลายสมัยและเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง กองทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาครอบครองใช้เป็นที่ปฏิบัติการ ปรากฏว่าได้มีผู้ลักลอบขุดพระธาตุเจดีย์ ได้นำเอาพระพุทธรูปและวัตถุโบราณต่าง ๆ ไป อุโบสถและวิหารที่พระเจ้ายอดเชียงรายและพระมเหสีทรงสร้างขึ้นพร้อมกับวัด ได้ชำรุดทรุดโทรมแตกปรักหักพังจนสภาพต่าง ๆ แทบไม่หลงเหลืออยู่เลย

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงแล้ว พวกชาวบ้านที่อพยพหลบภัยไปอยู่ที่อื่น ก็ทยอยกันกลับมา สภาพวัดก็ยังขาดการบำรุงรักษาบางครั้งขาดพระจำพรรษา หรือถ้ามีก็เพียงรูปเดียว ต่อมาในปี พ.ศ.2512 เริ่มมีการก่อสร้างวิหารขึ้นใหม่ แล้วจึงได้อาราธนาพระภิกษุชาวบ้านร่ำเปิงรูปหนึ่งชื่อ หลวงปู่จันทร์สม หรือ ครูบาสม มาปกครองดูแลวัดได้ระยะหนึ่ง ทำให้วิหารแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2516 ต่อมา ท่านถึงแก่มรณภาพ วัดก็ขาดพระจำพรรษาไปจนถึงปลายปี พ.ศ. 2517

  

อุโบสถที่มีอยู่ในเวลานี้ได้สร้างขึ้นใหม่บนฐานอุโบสถเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2519 โดยมีผู้มีจิตศรัทธาช่วยซ่อมให้ได้ใช้ในการปฏิบัติสังฆกรรมมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับพระพุทธรูปพระประธานนั้นพระเศียรเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่มีอายุประมาณ 700-800 ปี เป็นศิลาศิลปะอู่ทองอยุธยา ได้สร้างองค์พระรองรับขนาดหน้าตักกว้าง 30 นิ้ว สูง 47 นิ้วโดย จ.ส.ต ประยุทธ ไตรเพียร และคณะ ได้นำถวายไว้เป็นสมบัติของวัดร่ำเปิง เมื่อวันเสาร์ ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2518 และมีชื่อว่า หลวงพ่อศรีอโยธยา

พระครูพิพัฒน์คณาภิบาล (ทอง สิริมงฺคโล) เป็นเจ้าอาวาสวัดเมืองมางและเป็นอาจารย์ใหญ่ ฝ่ายวิปัสสนาธุระประจำสำนักวัดเมืองมาง ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ให้เข้ามาพัฒนาวัดร่ำเปิงเป็นสำนักปฏิบัติธรรม โดยวางโครงการที่จะขยายงานวิปัสสนากรรมฐานขึ้นอีกแห่งหนึ่ง จึงได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดร่ำเปิง หรือ ตโปทารามแห่งนี้ แล้วชักชวนชาวบ้านในท้องถิ่น ตลอดถึงผู้ใจบุญทั้งหลาย ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์ฟื้นฟูขึ้นและได้เปิดป้ายสำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดร่ำเปิง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2518 ตรงกับวันเสาร์ขึ้น 11 ค่ำ ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในปี พ.ศ. 2531 และได้พัฒนาก่อสร้างถาวรวัตถุ ตลอดจนซ่อมแซมบูรณะถาวรวัตถุภายในวัดให้เจริญรุ่งเรือง

ในปี พ.ศ. 2533 พระครูพิพัฒน์คณาภิบาลได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษเป็นพระราชคณะที่ “พระสุพรหมยานเถร” และในปี พ.ศ. 2534 ถัดมาท่านเจ้าพระคุณพระสุพรหมยานเถรได้รับบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ณ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พระสุพรหมยานเถร จึงได้เสนอให้เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ แต่งตั้งให้พระสมุห์สุพันธ์ อาจิณฺณสีโล รักษาการแทนเจ้าอาวาส ในปี พ.ศ. 2537

ในปี พ.ศ. 2539 เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ ได้เสนอให้เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ แต่งตั้งให้พระปลัดสุพันธ์ อาจิณฺณสีโล เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งเจ้าอาวาสรูปใหม่นี้ ได้เป็นลูกศิษย์ที่สืบทอดเจตนารมณ์ ของพระสุพรหมยานเถร อดีตเจ้าอาวาสทุกประการ

พระปลัดสุพันธ์ อาจิณฺณสีโล หรือพระครูภาวนาวิรัชองค์ปัจจุบัน ได้ส่งเสริมทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ด้วยการสร้างอาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรมสูง 3 ชั้น จำนวน 1 หลัง เพื่อการเรียนนักธรรมบาลีพระอภิธรรม และสร้างอาคารศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติสูง 4 ชั้น จำนวน 1 หลัง เพื่อการปฏิบัติธรรมกลุ่มใหญ่ของคณะนักเรียน นิสิต นักศึกษา ข้าราชการ และประชาชน สร้างกุฏิที่พักสงฆ์ 3 หลัง จำนวน 51 ห้อง กุฏิกรรมฐานฝ่ายสงฆ์ ฆราวาสชาย 38 หลัง จำนวน 50 ห้อง อาคารวิปัสสนาฝ่ายหญิง 2 หลัง จำนวน 36 ห้อง กุฏิวิปัสสนาฝ่ายหญิง 54 หลัง จำนวน 83 ห้อง

วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) เป็นวัดวิปัสสนากรรมฐานทางภาคเหนือ ที่ทำการอบรมพระกรรมฐานในแนวสติปัฏฐาน 4 ที่ปัจจุบันมีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ารับการอบรมปฏิบัติต่อเนื่องกันตลอดปีไม่ขาดสาย เป็นวัดแห่งแรก ที่มีพระไตรปิฎกฉบับล้านนา และได้ชื่อว่าเป็นวัดที่มีพระไตรปิฎกฉบับภาษาต่าง ๆ มากที่สุด วัดหนึ่งในเมืองไทย

 

 

 
โดย : samran    [Feedback +121 -1] [+0 -0]   [ 2 ] Fri 30, Dec 2011 19:49:08

 
เชิญ นักศีลนักบุญ ร่วมสวดมนต์ข้ามปี ที่วัดร่ำเปิง(ตโปทาราม) : พระล้านนา.คอม เว็บ พระเครื่อง พระบูชา อันดับหนึ่ง ของภาคเหนือ ออกแบบเว็บไซต์โดย 2WinWeb design บริการรับทำเว็บไซต์
Copyright Pralanna.com All right reserved. © สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดย บริษัท พระล้านนาดอทคอม จำกัด.