ประวัตินางสุชาดาที่ถวายข้าวมธุปายาสให้พระพุทธเจ้า
นางสุชาดาเป็นธิดาของเสนียะ ( เสนานิกุฏุมพี) ผู้มีทรัพย์ซึ่งเป็นนายใหญ่แห่งชาวบ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยสาวนางได้ทำพิธีบวงสรวงต่อเทพยดาที่สิงสถิต ณ ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งใกล้บ้านของนาง โดยได้ตั้งปณิธาน ความปรารถนาไว้ ๒ ประการ คือ:- ๑. ขอให้ข้าพเจ้าได้สามีที่มีบุญ มีทรัพย์สมบัติ และมีชาติสกุลเสมอกัน ๒. ขอให้ข้าพเจ้ามีบุตรคนแรกเป็นชาย
ถ้าความปรารถนาของข้าพเจ้าทั้ง ๒ ประการ สำเร็จสมบูรณ์แล้ว ข้าพเจ้าจะทำพลีกรรม แก่ท่านด้วยของอันมีค่าหนึ่งแสนหกปณะ ครั้นการต่อมา ความปรารถนาของนางสำเร็จทั้งสองประการ โดยได้สามีเป็นเศรษฐีมีฐานะเสมอกัน และได้บุตรคนแรกเป็นชายนามว่า “ ยสะ ” นางได้ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนลูกชายแต่งงานแล้ว จึงปรารภที่จะทำพลีกรรมบวงสรวงสังเวยเทพยดาด้วยข้าวมธุปายาส ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ โดยนางได้ประกอบพิธีหุงข้าวมธุปายาสแล้วให้นางทาสีสาวให้ไปปัดกวาดทำความสะอาดบริเวณโคนต้นไทรนั้น
ในอดีตกาล ครั้งพระพุทธเจ้านามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดใน เรือนสกุล กรุงหังสวดี ต่อมา นางฟังธรรมกถาของพระศาสดา เห็นพระศาสดา ทรงสถาปนาอุบาสิกาผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถึงสรณะก่อนอุบาสิกาทั้งปวง จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น
นางเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป บังเกิดในครอบครัวของกุฎุมพีชื่อเสนียะ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ก่อนพระศาสดา ของเราบังเกิด เจริญวัยแล้วได้ทำความปรารถนาไว้ ณ ต้นไทรต้นหนึ่งว่า
ถ้านางไปมีเหย้าเรือนกะคนที่เสมอๆ กัน ได้บุตรชายในท้องแรกจักทำพลีกรรมประจำปี ความปรารถนาของนางก็สำเร็จ
เมื่อพระมหาสัตว์ทรงทำทุกรกิริยาครบปีที่ ๖ ในวันวิสาขปุณณมี นางมีความประสงค์จะทำพลีกรรมในวันเพ็ญเดือน ๖ และก่อนหน้า นั้นแหละ ได้ปล่อยแม่โคนมพันตัวให้เที่ยวไปในป่าชะเอม ให้แม่โคนม ๕๐๐ ตัว ดื่มน้ำนมของแม่โคนม ๑ ,๐๐๐ ตัวนั้น แล้วให้แม่โคนม ๒๕๐ ตัว ดื่มน้ำนมของแม่โคนม ๕๐๐ ตัวนั้นรวมความว่า นางต้องการความข้นความหวาน และความมีโอชะของน้ำนมจึงได้กระทำการ หมุนเวียนไป จนกระทั่งแม่โคนม ๘ ตัวดื่มน้ำนมของแม่โคนม ๑๖ ตัว ด้วยประการฉะนี้ ในวันเพ็ญเดือน ๖ นางคิดว่า จักทำพลีกรรม ตั้งแต่เช้าตรู่ จึงลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่งของราตรี แล้วให้รีดนมแม่โคนม ๘ ตัวนั้น ลูกโคทั้งหลายยังไม่ทันมาใกล้เต้านมของแม่โคนม แต่เมื่อพอนำภาชนะใหม่เข้าไปที่ใกล้เต้านม ธารน้ำนมก็ไหลออกโดยธรรมดาของตน
นางสุชาดาเห็นความอัศจรรย์ดังนั้น จึงตักน้ำนมด้วยมือของตนเองใส่ลงในภาชนะใหม่ แล้วรีบก่อไฟด้วยมือของตนเอง เมื่อนางกำลัง หุงข้าวปายาสนั้นอยู่ ฟองใหญ่ๆ ผุดขึ้นไหลวนเป็นทักษิณาวัฏ น้ำนมแม้จะแตกออกสักหยาดเดียว ก็ไม่กระเด็นออกไปข้างนอก ควันไฟ แม้มีประมาณน้อยก็ไม่ตั้งขึ้นจากเตาไฟ
สมัยนั้น ท้าวจตุโลกบาลมาถือการอารักขาที่เตาไฟ ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร ท้าวสักกะทรงนำดุ้นฟืนมาใส่ไฟให้ลุกโพลงอยู่ เทวดาทั้งหลายรวบรวมเอาโอชะ ที่สำเร็จแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายในทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวารมาใส่ลงใน ข้าวปายาสนั้น ด้วยเทวานุภาพของตนๆ เสมือนคั้นรวงผึ้งซึ่งติดอยู่ที่ท่อนไม้ถือเอาต้นน้ำหวานฉะนั้น
จริงอยู่ ในเวลาอื่นๆ เทวดาทั้งหลายใส่โอชะในทุกๆ คำข้าว แต่ในวันบรรลุพระสัมโพธิญาณ และวันปรินิพพานใส่ลงในหม้อเลยทีเดียว นางสุชาดาได้เห็นความอัศจรรย์มิใช่น้อย ซึ่งปรากฏแก่ตนณ ที่นั้น ในวันเดียวเท่านั้น จึงเรียกนางปุณณาทาสีมาพูดว่า
นี่แน่ะแม่ปุณณา วันนี้เทวดาของพวกเราน่าเลื่อมใส่ยิ่งนัก เพราะว่าเราไม่เคยเห็นความอัศจรรย์เห็นปานนี้ ในเวลามีประมาณเท่านี้ เธอจงรีบไปปัดกวาดเทวสถานโดยเร็ว นางปุณณาทาสีรับคำของนางแล้วรีบด่วนไปยังโคนไม้ ในตอนกลางคืนวันนั้น แม้พระโพธิสัตว ์ก็ได้ทรงเห็นมหาสุบิน ๕ ประการ เมื่อทรงใคร่ครวญดู จึงทรงกระทำสันนิษฐานว่า วันนี้ เราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย เมื่อราตรีนั้นล่วงไป จึงทรงกระทำการปฏิบัติพระสรีระ ทรงคอยเวลาภิกขาจาร
พอเช้าตรู่ จึงเสด็จมาประทับนั่งที่โคนไม้นั้น ยังโคนไม้ทั้งสิ้นให้สว่างไสวด้วยพระรัศมีของพระองค์
ลำดับนั้น นางปุณณาทาสีนั้นมาได้เห็นพระโพธิสัตว์ประทับนั่งที่โคนไม้ มองดูโลกธาตุด้านทิศตะวันออกอยู่ และต้นไม้ทั้งสิ้น มีวรรณดุจทองคำ เพราะพระรัศมีอันซ่านออกจากพระสรีระของพระองค์ นางปุณณาทาสีนั้นได้เห็นแล้วจึงมีความคิดดังนี้ว่า วันนี้ เทวดา ของเราเห็นจะลงจากต้นไม้มานั่งเพื่อคอยรับพลีกรรมด้วยมือของตนเอง จึงเป็นผู้มีความตื่นเต้น รีบมาบอกเนื้อความนั้นแก่สุชาดา
นางสุชาดาได้ฟังคำของนางปุณณาทาสีนั้นแล้วมีใจยินดีพูดว่า ตั้งแต่วันนี้ไป เจ้าจงตั้งอยู่ในฐานะเป็นธิดาคนโตของเรา แล้วได้ให้ เครื่องอลังการทั้งปวงอันสมควรแก่ธิดา ก็เพราะเหตุที่ในวันจะได้บรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า ควรจะได้ถาดทองใบหนึ่งซึ่งมีราคาหนึ่งแสน ฉะนั้นนางสุชาดานั้นจึงทำความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักใส่ข้าวปายาสในถาดทองนางมีความประสงค์จะให้นำถาดทองราคาหนึ่งแสนมาเพื่อ ใส่ข้าวปายาสในถาดทองนั้น จึงรำพึงถึงโภชนะที่สุกแล้ว ข้าวปายาสทั้งหมดได้กลิ้งมาตั้งอยู่เฉพาะในถาด เหมือนน้ำกลิ้งมาจากใบปทุม ฉะนั้น ข้าวปายาสนั้นได้มีปริมาณเต็มถาดหนึ่งพอดี
นางจึงเอาถาดใบอื่นครอบถาดใบนั้นแล้วเอาผ้าขาวพันห่อไว้ ส่วนตนประดับประดาร่างกายด้วยเครื่องประดับทุกอย่างเสร็จแล้ว ทูนถาดนั้นบนศีรษะของตนไปยังโคนต้นไทรด้วยอานุภาพใหญ่ เห็นพระโพธิสัตว์แล้วเกิดความโสมนัสเป็นกำลัง สำคัญว่าเป็นรุกขเทวดา จึงโน้มตัวเดินไปตั้งแต่ที่ที่ได้เห็น ปลงถาดลงจากศีรษะแล้วเปิด (ผ้าคลุม) ออก เอาสุวรรณภิงคาร คนโทน้ำทองคำ ตักน้ำที่อบด้วย ดอกไม้หอมแล้วได้เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ยืนอยู่
บาตรดินที่ฆฏิการมหาพรหมถวาย ไม่ได้ห่างพระโพธิสัตว์มาตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ ขณะนั้นได้หายไปพระโพธิสัตว์ไม่ทรงเห็นบาตร จึงเหยียดพระหัตถ์ขวาออกรับน้ำ นางสุชาดาจึงวางข้าวปายาสพร้อมทั้งถาดลงบนพระหัตถ์ของพระมหาบุรุษๆ ทรงแลดูนางสุชาดาๆ กำหนดพระอาการได้ทูลว่า
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ดิฉันบริจาคแก่ท่านแล้ว ท่านจงถือเอาถาดนั้นไปกระทำตามความขอบใจเถิด ถวายบังคมแล้วทูลว่า มโนรถของดิฉันสำเร็จแล้ว ฉันใด แม้มโนรถของท่านก็จงสำเร็จ ฉันนั้น นางบริจาคถาดทองซึ่งมีราคาตั้งหนึ่งแสน เหมือนบริจาคใบไม้เก่า ไม่เสียดายเลย แล้วหลีกไป
พระโพธิสัตว์เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงวางถาดทองไว้ริมฝั่ง ลงสรงสนานแล้วเสด็จขึ้น ทรงปั้นเป็นก้อนได้ ๔๙ ก้อน เสวยข้าวมธุปยาสแล้ว ทรงลอยถาดทองลงในแม่น้ำ เสด็จขึ้นสู่โพธิมัณฑสถานตามลำดับ ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ประทับ ณ โพธิมัณฑสถานล่วงไป ๗ สัปดาห์ ทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐโปรดแก่ปัญจวัคคีย์แล้ว ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ทรงเห็น อุปนิสัยของเด็กชื่อ ยสะ บุตรของนางสุชาดา จึงเสด็จไปประทับนั่ง ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง
ไม่ไกลจากป่าอิสิปตนมฤคทายวันมากนัก ตระกูลครอบครัวของนางสุชาดา ได้ตั้งอยู่บริเวณนั้น เพราะเป็นตระกูลเศรษฐีมีทรัพย์ สมบัติมาก แต่มีบุตรชายเพียงคนเดียว จึงเอาอกเอาใจบำรุงบำเรอบุตรด้วยกามคุณ ๕ อย่าง พร้อมสรรพ ด้วยหวังจะให้บุตรชายเป็น ทายาทสืบสกุล ได้สร้างปราสาท ๓ หลัง สำหรับเป็นที่อยู่ใน ๓ ฤดู อีกทั้งมีสาวงามคอยขับร้องประโคมดนตรีขับกล่อมตลอดเวลา คืนหนึ่ง ยสะนอนหลับก่อนบริวารและสาวขับร้อง ท่ามกลางแสงประทีปส่องสว่างอยู่ บรรดาหญิงนักขับร้องประโคมดนตรีทั้งหลาย เห็นยสะนอนหลับแล้วจึงคิดว่า บัดนี้เจ้านายก็หลับแล้วพวกเราจะขับร้องประโคมดนตรีกันไปเพื่อประโยชน์อะไร จึงพากันเอนกายลงนอน หลับใหลไม่ได้สติ สยะตื่นขึ้นมายามดึกเห็นอาการอันวิปริตต่าง ๆ ของหญิงนักดนตรีเหล่านั้นนอนกันไม่เป็นระเบียบ บ้างก็นอนบ่น ละเมอเพ้อพึมพำ บ้างก็นอนกรน ดังดูจเสียงกา บ้างก็นอนเปิดร่างในลำดับต่อจากครึ่งราตรี บ้างก็อ้าปากน้ำลายไหล ฯลฯ ไม่เป็นที่เจริญจิต เจริญใจดังแต่ก่อน ภาพเหล่านี้ปรากฏแก่ ยสะดุจซากศพ ในป่าช้าผีดิบ เกิดความรู้สึกสลดรันทดใจ พูดว่า วุ่นวายหนอ ขัดข้องหนอ และเบื่อหน่ายรำคาญเป็นที่สุด จึงเดินออกจากห้องเดินพลางบ่นพลางออกจากห้องลงบันไดเดิน ไปอย่างไม่มีจุดหมาย บังเอิญได้เดิน ไปทาง ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์ เสด็จเดินจงกรมอยู่ ได้สดับเสียงของยสะเดินบ่นมาเช่นนั้น จึงตรัสว่า"ที่นี่ไม ่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัด ข้อง เธอจงเข้ามาที่นี่เราจะแสดงธรรมให้ฟัง"ยสะจึงถอดรองเท้าแล้วเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ได้สดับ พระธรรมเทศนา อนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ จบแล้วได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน
ฝ่ายทางบ้าน พอรู้ว่าลูกชายหายไปจึงรีบส่งคนออกติดตามทั่วทุกทิศ บิดาเองก็ออกติด ตามด้วยและบังเอิญเดินไปทาง ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เห็นรองเท้าลูกชายก็จำได้จึงเข้าไปกราบ ทูลถามพระพุทธองค์ว่าเห็นลูกชายมาทางนี้บ้างหรือไม่ พระพุทธองค์ทรงดำริว่า “ ถ้าพ่อลูกได้ เห็นหน้ากันก็จะเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรม” จึงทรงบันดาลด้วยฤทธิ์มิให้พ่อลูกเห็นกัน ตรัสแก่เศรษฐีว่า “ ท่านจงนั่งลงก่อนแล้วท่านจะได้เห็นลูกชายของท่าน” แล้วทรงแสดง อนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ให้ท่านเศรษฐี ฟัง ส่วน ยสะก็ได้ฟังอีกครั้งหนึ่ง เมื่อจบลงเศรษฐีได้ บรรลุพระโสดาบัน ส่วนยสะได้บรรลุพระอรหัตผล พระพุทธองค์ทรงทราบว่า ยสะได้บรรลุ พระอรหัต ไม่หวนกลับไปครองเพศฆราวาสอีกต่อไปแล้ว จึงทรงคลายฤทธิ์ให้พ่อลูกได้เห็นกัน เศรษฐีเห็น ยสะลูกชายก็ดีใจ อ้นวอนให้ กลับบ้าน ด้วยคำว่า “ ยสะ มารดาของเจ้าเศร้าโศกยิ่งนัก เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าด้วยเถิด” แต่พอทราบว่ายสะบรรลุพระอรหัตแล้ว ก็อนุโมทนา และขอแสดงคนเป็นอุบาสก ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก ตลอดชีวิต ได้ชื่อว่า “ เป็น อุบาสกคนแรก ที่ถึงพระรัตนตรัย” แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยยสะให้ไปรับอาหารบิณฑบาตที่เรือนของตนในเช้าวันนั้น และเมื่อทราบว่าพระพุทธองค์ทรง รับอาราธนาแล้ว จึงกราบทูลลากลับบ้านแจ้งแก่ภรรยาและบริวารในบ้านให้จัดเตรียมอาหาร เพื่อถวายพระ บรมศาสดาและ ยสะ ฝ่ายยสะ เมื่อบิดากลับไปแล้วกราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรง ประทานด้วยพระดำรัสว่า
“ เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้วเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” โดยไม่มีคำว่า “ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ” เหมือนกับที่ประทานแก่พระปัญจวัคคีย์ เพราะว่ายสะได้สำเร็จเป็น พระอรหันต์ ตั้งแต่ก่อนบวชนั่นเอง การอุปสมบทแบบนี้เรียกว่า “ เอหิภิกขุอุปสัมปทา” เช้าวันนั้น พระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระยสะเสด็จไปยังเรือนของเศรษฐีตามคำอาราธนา ประทับ บนอาสนะ ที่จัดเตรียมไว้ มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะได้ช่วยกันถวาย ภัตตาหาร เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว พระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ให้สตรีทั้งสองฟัง เมื่อจบลงเธอทั้งสองก็ได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบันในพระพุทธศาสนา แสดง ตนเป็น อุบาสิกา ขอถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต เธอทั้งสองได้ชื่อว่า “ เป็นอุบาสิกาคนแรกหรือรุ่นแรกที่ถึงพระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนา” ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องนางสุชาดา (มารดาของพระยสะ) ในตำแหน่งเอตทัคคะ ว่าเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกา ทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้ถึงพระรัตนตรัยก่อนอุบาสิกาทั้งปวง ผู้ถึงสรณะ แล
|