ดูภาพถ่ายและจิตรกรรมโบราณบันทึกภาพคน “เงี้ยว” หรือคน “ไทใหญ่”
สักขาสักแขน จนดำมืดมาก็มาก ขึ้นดอยไตแลงไปทำงานกับทหารไทใหญ่ก็หลายครั้ง
แต่ยังเหนียมๆ ว่าเราเป็นผู้หญิงอยู่บ้างเหมือนกัน ดังนั้น
จะไปขอถลกผ้าดูแขนขาของหนุ่มทหารคนไหนๆ มันคงไม่งาม
ทั้งที่อยากรู้อยากเห็นของจริงนักว่า “ลายสัก” มันเรียงตัวเป็นพืดยังไง
จึงทำให้ ท่อนแขน หรือกระทั่งแข้งขาหนุ่มไทใหญ่ดำ ดำ ดำ
เหมือนนุ่งกางเกงรัดรูปฟิตเปรี้ยะทันสมัยถึงอย่างนั้น
ทำได้ก็แต่แอบลอบมองลายสักบนแขน
บนข้อมือของหนุ่มเล็กหนุ่มใหญ่บนดอยไตแลง พยายามอ่าน ตัวอักษรโบราณยึกยัก
รูปตัวสิงห์ ตัวสัตว์ต่างๆ ที่มองไม่ค่อยออก หรอกว่าเป็นตัวอะไร
แต่สิ่งที่ปรากฏชัดเจนก็คือ รอยสักไม่ค่อยมีในทหารไทใหญ่อายุน้อยๆ
เพราะถึงบัดนี้ชายหญิงไทใหญ่รุ่นใหม่ไม่มีใครเขาสักเนื้อตัวกันอีกแล้ว
มาได้ประหลาดใจประหลาดตาอีกครั้งเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา
เข้าไปที่วัดหัวฝาย (วัดวาฬุการาม) บ้านหัวฝาย ตำบล โป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง
จังหวัดเชียงใหม่ ได้พบหลวงพ่อพระอธิการกอวิโท โกวิโท อายุ 82 ปี
ท่านชราภาพมากแล้ว แต่ยังแข็งแรงสดใส ท่านมี รอยสักดำมืดเต็มแขน
สืบทอดประเพณีสักตัวตามแบบฉบับชายไทใหญ่โบราณมาอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
และท่านยังเล่าเรื่องต่างๆ ได้สนุก ครื้นเครง
เต็มไปด้วยความรู้ทางวัฒนธรรมไทใหญ่อย่างน่าสนใจมากๆ ทำเอาเดินตามหลวงพ่อ
นั่งเฝ้าหลวงพ่อ ชวนท่านสนทนาไม่ยอมเลิก จดข้อมูลใส่สมุดมาเป็นปึก
ยังหวั่นๆ อยู่จนเดี๋ยวนี้
เพราะไม่รู้ว่าวันนั้นไปทำบาปขอท่านเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้ฟังซะจนท่าน
คอแห้งเสียงแหบไปเลยหรือเปล่า
มีเรื่องเล่าจากหลวงพ่อที่น่าสนใจ
อยู่มาก แปดสิบกว่าปี ของอายุ
ท่านเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทใหญ่หลายสมัย มาตั้งแต่
ที่ท่านเริ่มเล่าถึงประวัติชีวิตไว้ว่า“ผมเกิดที่เมืองปางยาง รัฐฉาน
ติดชายแดนจีน ปีกระต่าย เมื่อ วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2470
ช่วงที่เกิดยังมีเจ้าฟ้าปกครอง บ้านเมืองไทใหญ่ ของเราสงบสบาย
พ่อแม่ทำไร่ทำสวน นาไม่ค่อยมีเพราะบ้านเราอยู่บนภูเขา
คนทำสวนแถวนั้นเป็นสวนฝิ่น ไร่ฝิ่นซะมาก เราใช้ฝิ่นเป็นยาดี
แก้โรคได้หลายอย่าง คนไอไม่หยุด สูบฝิ่น ดมควันฝิ่น จะหยุดไอได้ชะงัด
คนเกิดมาร่างกายเป็นตุ่มพุพอง เจ็บอ่อนเพลีย เอาฝิ่นผสมยาให้กินทีละ น้อย
หรือเผาฝิ่นใส่ผสมยากิน ตุ่มต่างๆ จะยุบเลย ฝิ่นเป็นยาดี จะเป็นไข้ ปวดหัว
ปวดท้องใช้ยาฝิ่นรักษาได้ทั้งนั้น คนปลูกฝิ่นยุคนั้นจะขายให้พวก(จีน)ฮ่อ
พวกฮ่อเอาม้าต่างจากไทยไปซื้อฝิ่น ช่วงนั้นยังไม่มีใครห้ามซื้อขายฝิ่น
ยิ่งหลังสงครามญี่ปุ่น การค้าขายฝิ่นรุ่งเรืองเป็น อย่างดี”
ครั้น
ถึงปีพ.ศ.2481 นับเป็นปีที่หลวงพ่อจำได้แม่นยำ เพราะท่าน อายุเพียง 11
ปีเมื่อตัดสินใจบวชเณร
ด้วยเหตุที่ไม่อยากอยู่บ้านเนื่องจากได้พบประสบการณ์ทำให้อึดอัดใจอย่างสุดๆ
ที่ท่านเล่าว่า “ในบ้านผม ผู้หญิงคลอดลูกบ่อย ผมกลัว ผมเหม็นสาบเลือด
ไม่กล้ากินข้าวบ้าน ต้องไปอยู่วัดใกล้บ้าน ชื่อวัดบางแลม ผมไปบวชเณร
ที่นั่น ได้เรียนภาษาบาลีก็จากที่นั่น
จนบัดนี้ผมยังไม่รู้เลยว่าวัดบางแลมยังมีอยู่ไหมเพราะออกมาจากที่นั่นไม่เคย
กลับไปอีกเลยตั้งแต่ปีพ.ศ.2509”
การบวชครั้งนั้น
เณรน้อยได้เรียนวิชาใหม่ๆ มากมาย ทั้งตัว หนังสือไทใหญ่
ได้เรียนคาถาอาคมหลากหลาย แต่คาถาหนึ่งที่เรียนมาตั้งแต่ก่อนบวช
และจำได้แม่นยำคือ การปลุกเสกลูกหิน เพื่อเอาไปฝัง นอกบ้าน
ศัตรูจะไม่เข้ามารบกวน เวลาไปนอนป่า เอาลูกหินมาปลุกเสก
พวกเสือเย็นหรือเสือกินคนจะไม่เข้ามาวุ่นวาย เสือเย็นนั้นเทียบทางไทย
คงประมาณเสือสมิง อันหมายถึงคนที่กลายเป็นเสือ หากินทางไล่ล่า
มนุษย์เป็นอาหาร แต่ถ้าใครมีคาถาอาคมแข็งแกร่งจะป้องกันตัวได้ หากไม่มีคาถา
หรือคาถาไม่ดีพอจะกลายเป็นเหยื่อเสือเย็นไปง่ายๆ
คาถาที่หลวง
พ่อเล่าถึง เป็นคาถาปลุกเสกลูกหินแม่หินไว้ป้องกันอันตราย
คาถาเริ่มที่ตั้งนะโม 3 จบ แล้วสวด –วีตาส่าคุ คุส่าตาวี คูต๊ะคูภูภู
เมื่อปลุกเสกลูกหินเสร็จ ก็เอาลูกหินทิ้งทั้ง 4 ทิศ ทิศไหน ก่อนก็ได้
หลวงพ่อให้รายละเอียดว่า
คาถานี้อาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่งสอนมาตั้งแต่หลวงพ่อยังไม่บวชเณร
ถามว่าชายไทใหญ่คนอื่นๆ เขารู้จัก คาถาเดียวกันนี้บ้างไหม หลวงพ่อตอบว่า
คนชายไตถ้านับถือ ปฏิบัติขวนขวายหาคาถาต่างๆ ไว้ป้องกันตัวก็จะรู้ได้
แต่ถ้าไม่นับถือ ไม่ปฏิบัติคาถาก็ไม่อาจคงอยู่ได้หรอก
หลวงพ่อ
ยังบอกอีกว่า คนที่จะใช้คาถานี้มีข้อห้ามสำคัญไม่ให้คาถาเสื่อมคือ
คนใช้คาถาห้ามกินอาหารในงานศพโดยเด็ดขาด ถ้ากิน อาหารในงานศพ
คาถาเสกลูกหินแม่หินจะใช้ไม่ได้ผล คาถาไม่คง ใช้ไม่ได้ถามหลวงพ่ออีกว่า
ข้อห้ามของคนใช้คาถา รวมถึงเรื่องห้ามเอา เมียคนอื่นด้วยไหม หลวงพ่อตอบว่า
“ไม่” คนเอาเมียคนอื่นใช้คาถาก็ยังคงความขลัง และหลวงพ่อยังบอกอีกด้วยว่า
พอไม่ห้ามเอาเมียชาวบ้านด้วยนี่แหละ มันถึงยุ่งกันเยอะ
มีเรื่องยุ่งตามมาอีกเยอะ
ส่วนเรื่องคาถาใช้ได้จริงแค่ไหนนั้น
หลวงพ่อเล่าว่า ตอนหลวงพ่อ เป็นเณร เคยไปหาน้องสาว 2 คนในป่า
น้องสาวไปทำสวนฝิ่นในป่าลึกยังไม่กลับ เณรน้อยจึงต้องนอนคอยน้องกลางป่า
สบโอกาสได้บริกรรม คาถาใช้เสกลูกหินป้องกันเสือรบกวน คืนนั้นหลับสบาย
แต่เช้าขึ้นมา ออกไปดูรอบๆ
เห็นรอยตีนเสือรอยเบ้อเริ่มมาเดินวนเวียนอยู่หน้าลูกหิน
เข้ามารบกวนเณรน้อยไม่ได้ ดังนั้นคาถานี้จึงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า
ใช้ได้จริง หลวงพ่อเห็นมาจริงๆ ถ้าไม่มีคาถานี้ก็เป็นเหยื่อเสือไปแล้ว
เล่า
เรื่องคาถาเสร็จหลวงพ่อบอกว่า คาถานี้ท่านไม่เคยสอนใคร มาก่อน
หนูมาถามเป็นคนแรกเลยนะ ทีแรกนึกว่าคาถาจะตายไปกับหลวงพ่อ เพราะคนเดี๋ยวนี้
ไม่มีใครอยากรู้ ไม่มีใครนิยมฟังหลวงพ่อแล้วก็เห็นด้วยกับท่านที่ว่า
คนยุคนี้ไม่มีใครสนใจ คาถานี้หรอก เป็นเรื่องจริงแท้เลยล่ะ
ยิ่งในเมืองไทยแล้ว คาถาเสกลูกหิน ป้องกันเสือหมดประโยชน์โดยสิ้นเชิง
ป่าดิบรกทึบยังแทบไม่มีเหลือ แล้ว
จะไปหาเสือที่ไหนมายืนแกว่งหางร้องโฮกปี๊บ กระโจนกัดคนกินคนได้ อีกเล่า
มีก็แต่เสือในสวนสัตว์เท่านั้นแหละ นั่งหน้าหงอยๆ โทรมๆ แทบ
ไม่สมศักดิ์ศรีความเป็นเสือ ราชาเจ้าป่า ดังนั้นทุกวันนี้ใครอยากดูอยาก
เห็นเสือไม่ต้องใช้คาถาอะไรหรอก
ควักเงินไม่กี่บาทไปซื้อตั๋วเข้าชมได้ก็พอแล้ว
แต่ก็ยังมีคาถา
อื่นที่หลวงพ่อใช้ประจำเป็นพวกคาถาป้องกันตัว คาถาเมตตามหานิยม
หนุ่มไทใหญ่สมัยโบราณโดยมากจะขวนขวายสืบหาความรู้ บ้างเรียนวิชาอาวุธ
บ้างหาคาถาไว้ป้องกันตัวอย่างเป็นปกติ
เพราะสมัยก่อนหนุ่มไทใหญ่มักรวมกลุ่มกันเป็นขบวนวัวต่างม้าต่าง
หลายร้อยคนเลยก็มี เดินทางร่อนเร่ไปค้าขายในที่ไกลแสนไกล ไปกันทั่ว
คาถาและวิชาอาวุธจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ป้องกันตัว
ป้องกันทรัพย์สินไม่ให้ใครมาดักปล้นเอาไปได้
สำหรับหลวงพ่อที่
บวชเณรแต่เด็กนั้น เมื่อถึงช่วงสงครามญี่ปุ่น (พ.ศ.2484 -2488)
หลวงพ่อเล่าว่า “ฝ่ายพันธมิตรเข้ามาเกณฑ์ทหารใน หมู่บ้าน
ผมโดนเกณฑ์ด้วยแต่ไม่ได้ไป พ่อเอาเงินใส่ทดแทนให้ เพื่อนรุ่น
เดียวกันที่ถูกส่งไปรบกับญี่ปุ่นเขาไปรบแถวน้ำจ๋าง
มีเรื่องหนึ่งผมยังจำได้พวกทหารญี่ปุ่น เอาข้าว มัน น้ำมัน
ใส่หม้อคลุกรวมกันหมด ผมกิน ไม่ได้ ใคร่ฮาก (อ้วกแตก) ตอนสงครามญี่ปุ่น
ผมถูกสักเป็นเครื่องหมายว่าโดนเกณฑ์ทหารผมจึงแก้ไขด้วยการสักทับรอยสักนั้น
ไปเลย จะไปลบรอยสักออก มันทำไม่ได้ เชื่อว่าลบแล้วจะตาย
แต่สักยาโบราณทับไปจะช่วยให้แข็งแกร่ง ยิงไม่เข้า ป้องกันตัวได้
คนไทใหญ่ถึงนิยมสักกันมาก”
หลวงพ่อยังอยู่ที่วัดบางแลม
เมืองปางยาง รัฐฉาน เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2509 อายุได้ 39 ปี
ก็ได้ออกมาอยู่ที่ฝาง ด้วยมูลเหตุที่ท่านเล่าว่า
“ผมส่งพระลูกศิษย์เดินทางไปมัณฑะเลย์ ไปย่างกุ้ง ที่นั่นเขาได้พบพระจาก
ฝางจำพรรษาอยู่ คุ้นเคยกัน พระจากฝางบอกจะกลับเมืองไทย อยากให้ พวกเขามาส่ง
ลูกศิษย์ผมทั้ง 5 รูปเลยได้ตามมาส่งกันถึงเมืองฝาง ผมรู้ข่าวตลอด
และออกจากวัดบางแหลมมาเยี่ยมลูกศิษย์ที่ฝาง เลยอยู่ยาวมา ถึงเดี๋ยวนี้
ตอนแรกปี พ.ศ.2509 ผมมาอยู่ที่วัดเวียงหวาย มาบวชเณรให้ ทางเวียงหวายไป 2
ชุด พอปี พ.ศ. 2515 ผมเดินทางไปอยู่ที่จังหวัดไพลิน ประเทศกัมพูชา
ที่ไพลินมีวัดไต (ไทใหญ่) อยู่ 7 วัด เป็นวัดของพวกกุลา คนกุลาคือคนไทใหญ่
ผมอยู่ไพลินได้ 1 ปี เขมรเริ่มวุ่นวายทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ผมจึง
ต้องออกจากไพลินเมื่อปี พ.ศ.2516 หลังจากนั้นไม่เคยกลับไปที่ไพลินอีกเลย
ตอนเขมรแดงยึดประเทศกัมพูชา(ปี พ.ศ.2518) พระกุลาหนีออกมา
อยู่เมืองไทยแถวจันทบุรี พอสงครามสงบ พระบางรูปกลับไปไพลินใหม่”
คำ
บอกเล่าจากหลวงพ่อช่วยยืนยันข้อมูลที่รู้มานานแล้วว่า เมืองไพลิน
ประเทศกัมพูชาเป็นถิ่นที่อยู่ชุมชนขนาดใหญ่ของคนไทใหญ่
ที่ชาวบ้านอีสานและคนเขมรสูงหรือคนเขมรที่อยู่ในไทย เรียกพวกเขาว่า คน
“กุลา”
ในสมัยโบราณนั้นคนกุลาเดินทางออกจากรัฐฉานด้วยขบวนวัว
ต่าง ม้าต่าง ค้าขายสินค้าซึ่งส่วนใหญ่คือเพชรพลอย ของกินของใช้ ต่างๆ
พวกเขาพักมาเรื่อยตามรายทาง
ตามบ้านเครือญาติที่มีชุมชมชนคนเงี้ยวกุลาตั้งถิ่นฐาน
พวกเขาเดินผ่านทุ่งแล้งภาคอีสานแถวจังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม
สุรินทร์อย่างทรหดอดทน ท้องทุ่งนั้นแดดร้อนเปรี้ยง
ดินแตกระแหงอัตคัดแหล่งน้ำอย่างยิ่ง ลำบากลำบนจนคนกุลาที่ว่าทรหด ยิ่งนัก
ยังทนแทบไม่ไหว จนได้ชื่อ “ทุ่งกุลาร้องไห้”
ติดมาเป็นหลักฐานถึงขบวนคาราวานคนไทใหญ่
ที่เคยสัญจรค้าขายผ่านทุ่งกว้างแห่งนั้น และไปไกลถึงเมืองไพลิน
ประเทศกัมพูชา ตั้งเป็นชุมชนคนไทใหญ่อยู่กัน ที่นั่น
เนื่องจากคนกุลามีความชำนาญอย่างยิ่งในการขุดหาเพชรพลอย อัญมณีต่างๆ
และเมืองไพลินนั้นคือแหล่งสายแร่อัญมณีสำคัญของกัมพูชามาแต่โบราณ
เรื่อง
ของพวก “กุลา” เมืองไพลิน เมืองแห่งบ่อพลอยเลื่องชื่อของ เขมรนี้
ยังมีบันทึกอยู่ในงานเขียน “ไปถ่ายทำภาพยนตร์กับ “ยาขอบ”
ที่บ่อพลอยไพลินของเขมร” ผู้เขียนคือ “มนัส จรรยงค์” (พ.ศ.2500-2508)
ราชาเรื่องสั้นของไทย
ที่บันทึกความทรงจำตั้งแต่สมัยเริ่มมีการสร้างภาพยนตร์ไทยขาวดำขนาด 16 มิลฯ
ใหม่ๆ คุณมนัสเดินทางไปกับทีมสร้าง ภาพยนตร์ชุดนั้นและเล่าไว้ว่า
วันที่ไปถึงอากาศยามค่ำคืนของเมืองไพลินเย็นจัดมาก
“คนพื้น
บ้านคือพวกกุหล่าเอง ก็ต้องใช้สังกะสีใหญ่ๆเจาะรูใส่ถ่านไฟ
แล้วแขวนไว้ให้อากาศอบอุ่น ใครหนาวจัดก็กลิ้งซุกไปใกล้สังกะสี”
และคุณมนัสยังเล่าไว้อีกด้วยว่า คืนนั้นหลังจากออกไปส่อง ไฟหาสัตว์กันแล้ว
“เราเดินทางกลับโดยแวะบ้านพวกกุหล่า พวกเผ่าไทย เหล่านี้พูดไทยได้ทุกคน
แต่งตัวด้วยชุดดำ เกล้าผมสวย ผิวขาว เขาว่าเป็น
เผ่าไทยผสมพม่าหรืออะไรก็ไม่รู้
ข้าพเจ้าไม่ได้เอาใจใส่ถึงพงศ์เผ่าเหล่ากอของพวกเขา”
และเมื่อ
ว่างจากการถ่ายทำภาพยนตร์ คุณมนัสก็ได้ไปชมบ่อพลอยเมืองไพลิน ซึ่ง
“พวกกุหล่าที่กำลังร่อนพลอยอยู่ในบ่อพลอยอันกว้าง
เขย่าตะแกรงไปมาเพื่อให้ดินกระจายออกไปจากตะแกรง
ครั้นพบพลอยเข้าก็หยิบปุบใส่ปากหมับอมเข้าไว้ในปาก ช่างเป็นภาพที่ตรึงตา
ตรึงใจในธรรมชาติอันสวยงามนั้นเหลือเกิน เมื่อเราลองร่อนพลอยดูบ้าง
พอเห็นก้อนหินสีเขียวๆ ก็ดีใจ นึกว่าจะได้พลอยไปอวดคนข้างบ้าน
แต่ที่ไหนได้พอหยิบขึ้นมาอมเท่านั้นมันก็ละลายกลายเป็นดิน ตีหน้าเหยเก
ไปตามๆ กัน”
คนกุลาคงได้อยู่ในเมืองไพลินกันยาวนาน และสร้างบ้าน
แปงเมืองอยู่เป็นจำนวนมาก จึงสามารถตั้งวัดไทใหญ่ได้ถึง 7 วัด
ดังที่หลวงพ่อกอวิโทเล่าให้ฟังไว้
หลักฐานอีกอย่างอันบอกเล่าถึงวัฒนธรรมของคนกุลาในเขมรที่ชัดแจ้งมาก
เพิ่งได้ไปเห็นมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2552 นี้ก็คือ ภาพเขียนการรำนกยูง
และหนุ่มสาวเขมรที่รำนกยูงใน ขบวนพาเหรด ลีลาสะบัดปีกหาง
และเครื่องแต่งกายของพวกเขา คล้าย กันมากกับ “รำนก” กิงกะหร่า
และกินรีของคนไทใหญ่ เห็นภาพเขียนสีน้ำมันรำนกยูงเขมร
ทีแรกยังคิดว่าเป็นรำนกไทใหญ่ซะด้วยซ้ำไป
แต่ถึงบัดนี้หลัง
สงครามล้างเผ่าพันธุ์ในเขมรจบสิ้นไปหลายสิบปีแล้ว
จะยังเหลือคนกุลาหรือคนไทใหญ่อยู่ที่ไพลินบ้างหรือไม่ อยู่กัน มากแค่ไหน
อยู่กันตรงไหน ยังไม่ได้ตามไปสืบค้นอีกเลย สำหรับหลวงพ่อกอวิโทนั้น
เมื่อท่านกลับมาจากไพลินเมื่อ ปีพ.ศ.2516 แล้ว ก็ได้ไปอยู่ที่วัดดอน
ยานนาวา กรุงเทพ อีก 2 ปี ท่าน เล่าว่า ช่วงเกิดเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม
พ.ศ.2516 ท่านยังได้ไปดูเขายิงกัน ที่สนามหลวงกลางกรุงเทพ แต่
“เขายิงไม่ถึงเรา”
สำหรับวัดดอน ยานนาวานั้น หลวงพ่อบอกว่า
สร้างขึ้นด้วยแรง ศรัทธาของคนไทใหญ่
ที่นั่นมีทั้งพระไทใหญ่พระพม่าอยู่ด้วยกัน
และมีเหตุการณ์หนึ่งที่หลวงพ่อจำได้ไม่ลืมคือ ประมาณปี พ.ศ.2517
พระไทใหญ่และพระพม่าในวัดดอนตีกัน เอาไฟเผากัน
ที่วัดดอนนี้หลวงพ่อมีเพื่อนสนิทเป็นพระไทใหญ่
แต่ตอนนี้สึกไปเอาสาวน้ำคำนานแล้ว
ส่วนหลวงพ่อบวชยืนยาวมานั้นเพราะหลวงพ่อกลัวการคลอดลูก กลัวมาตั้งแต่เด็ก
เหม็นสาบคาวเลือด จนต้อง ออกจากบ้านมาบวชเณรถึงปีพ.ศ.2518
หลวงพ่อออกจากวัดดอนยานนาวามาอยู่ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และได้ธุดงค์ไป
“เมืองนอก” ซึ่งสำหรับคนไทใหญ่นั้นหมายถึงรัฐฉาน และได้กลับมาที่วัดหัวฝาย
เมืองฝาง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2423 สมัยรัชกาลที่ 5
วัดนี้มีวิหารอยู่แล้วเมื่อ หลวงพ่อมาอยู่
คนในชุมชนศรัทธาพากันมาสร้างโบสถ์ เอาช่างแปงจาก
ในหมู่บ้านระดมมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ
หลวงพ่ออยู่ที่วัดหัวฝาย
มาหลายสิบปีแล้ว ท่านเล่าว่าเมื่อ 2 ปี ก่อน เคยมีญาติพี่น้องจากปางยาง
รัฐฉาน มาเยี่ยมถึงวัด แต่จะให้ กลับไปปางยางนั้น หลวงพ่อบอกว่า
“ผมอยู่เมืองไทยไม่อยากกลับ ลูกศิษย์ลูกหาอยู่ที่นี่ ทางโน้นไม่มีใคร
มีแต่น้อง อยู่ทางนี้สนุกกว่า ทางโน้นขาดไฟ ผมไม่ได้ไปปางยางหลายสิบปีแล้ว
จะตายที่นี่ล่ะ” ถามหลวงพ่อว่าอายุ 82 ปี แล้วทำไมแข็งแรง
เดินได้คล่องแคล่วนัก ท่านตอบว่า เพราะท่านกินยา “แม่เน่าใน”
เริ่มกินมาตั้งแต่อายุ 30 ปี ที่มากินยานี้เพราะตอนอายุ 29 ปีนั้น
“ผมปวดตัวเหมือนจะตาย ได้ไปเจอพ่อเฒ่าสล่าบน ตอนนั้นสล่าอายุ 98-99 ปีแล้ว
ยังแข็งแรงเดินได้ ผมไปหาสล่า บ่นกับสล่าว่าปวดตัวเหลือเกิน
สล่าบอกให้กินแม่เน่าใน นี้แหละ เป็นสมุนไพรหาได้ในป่า
สล่าให้เอาต้น-รากมาใส่ผ้าห่อ ต้ม ในกระติก กินแล้วแข็งแรง
ไม่เป็นโรคความดัน เบาหวาน โรคตับ โรคไต ไม่เป็นทั้งนั้น ยาแก้ได้ทุกอย่าง
เป็นยารักษาไตดีที่สุด ผมอายุ 82 แล้ว ยังเดินคล่อง
ยานี้เป็นสีเน่าข้างในถึงเรียกแม่เน่าใน”
คุยกับหลวงพ่อซะหลาย
ชั่วโมง ได้รู้เรื่องแปลกๆ คาถาแปลกๆ มาหลายคาถา สนุกกับเรื่องเล่า
สนุกกับความรู้สารพัด จดบันทึกไว้ ซะเมื่อยมือ
เตรียมจะกราบลาหลวงพ่ออยู่แล้ว นึกได้ว่ายังไม่ได้ถาม คำถามสำคัญ
เดี๋ยวจะคาใจไปอีกนาน จึงรีบถามหลวงพ่อว่า แล้วกิจกรรม
ฮิตของผู้คนทุกชุมชนน่ะ ที่ทำให้คนขึ้นวัดขึ้นสำนักต่างๆ กันคึกๆ น่ะ
มีใครมากวนหลวงพ่อไหม? หลวงพ่อหัวเราะขำ ตาใสแป๋วเป็นประกายขณะตอบคำถามว่า
เรื่องขอเลขน่ะหรือ มีมาบ้าง หลวงพ่อตอบเขาว่า ไม่ให้
ถ้าหลวงพ่อเห็นจะใส่เอง หลวงพ่อก็มีโลภอยู่ และหลวงพ่อยังบอกอีกว่า
“ตอบอย่างนี้เขาไป เลยไม่กลับมาอีกเลย!”
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสารสาละวินโพสต์ ฉบับที่ 58 ( มีนาคม - เมษายน 2553) |