http://www.youtube.com/v/WKv88plcuY0?version=3&hl=th_TH
พระลอตำนานรักอมตะ พระลอเป็นวรรณกรรมอมตะของชาติไทยที่มีต้นฉบับมาจากนิยายรักพื้นบ้านเมืองเหนือ ที่เชื่อกันว่าสถานที่เกิดเหตุ คือเมืองสรวง และเมืองสรองนั้นมีอาณาเขตส่วนหนึ่งอยู่ในจังหวัดแพร่ หรือเหตุเกิดขึ้นในเมืองแพร่นั่นเอง ดังนั้น เราจึงกล่าวได้ ว่า เรื่องพระลอคือนิยายรักของชาวเมืองแพร่ แรกเริ่มนิยายรักเรื่องพระลอนี้คงจะเป็นเพียงนิทานพื้นบ้านแต่่ในยุคสมัยต่อ ๆ มามากวีชาวเหนือได้รจนาขึ้นเป็นค่าว เป็นซอ หรือ เป็นบทกวีและลำนำเพลงขึ้นขับขานสืบต่อ กันไป จนในราวยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ก่อนยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงมีการนำเรื่องพระลอมาแต่งเป็นลิลิตสุภาพขึ้น โดยมีผู้แต่งช่วยกันแต่งหลายคน จากนั้นเรื่องพระลอจึงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น กระทั่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 6 โบราณคดีสโมสรแหล่งรวมนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายในยุคนั้นต่างก็ พร้อมใจกันยกเรื่อง ลิลิตพระลอนี้ขึ้นเป็นยอดของบทกวีประเภทลิลิตสุภาพของไทยและนับ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเรื่องพระลอจึงมิใช่นิยายรักพื้นบ้านเฉพาะของชาวแพร่ เท่านั้น หากแต่ยังเป็นวรรณกรรมอมตะชิ้นเอกของชาวไทยทั้งมวลด้วย
สำหรับความเกี่ยวพันในเรื่องสถานที่ระหว่างเมืองแพร่กับเรื่องพระลอนั้น เชื่อกันว่าเมืองสรวงก็คืออำเภอสองในปัจจุบัน โดยสืบค้นจากพงศาวดารโยนก กล่าว่า “ เจ้าฟ้าเมืองนายกับเจ้าฟ้าเมืองเชียงทองสองพี่น้อง ยกรี้พลมาตีฟ้าเมืองต่าง ๆ ได้เมืองเชียงราย เชียงแสน เมืองลอ เมืองพะเยา
ลุถึงเดือน 11 ขึ้น 2 ค่ำ ปีเดียวกันยกกองทัพจากแก่งเมืองพะเยาระยะทางแปดพันวา ไปแรมทางเมืองสะเอียบ ยกจากสะเอียบไปแรมป่าเลายกจากป่าเลาไปแรมเมืองสองระยะทางหมื่นวายกจากเมืองสองไปแรมป่าเสี้ยวยกจากป่าเสี้ยวไปแรมเมืองแพร่ “ ดังนั้น หากพิจารณาจากพงศาวดารนี้ เมืองสองจึงเป็นเมืองโบราณที่สร้างมานานนับพันปีทีเดียวนอกจากนั้นพงศวดารเมืองน่านยังกล่าวถึงเมืองสองไว้ว่า “จุลศักราช 789 พญาน่าน ตนชื่อ อุ่นเฮือน ได้กรี้พลลงมาตีเมืองเทิง เมืองสอง ได้ชัยชนะ กวาดต้อนผู้คนไปเป็นจำนวนมาก “
จากหลักฐานต่าง ๆ ดังกล่าว นักวรรณคดีจึงเชื่อว่าเมืองสรวง เมืองของพระลอ ก็คือเมืองสอง ในปัจจุบันได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง สาเหตุที่เชื่อเช่นนี้นั้น นอกจากความเป็นเมืองเก่าขนาดใหญ่ของเมืองสองแล่ว เมืองก็ยังมีโบราณวัตถุโบราณสถานเก่าแก่ ให้เห็นหลายประการ เช่นที่ตำบลบ้านกลาง มีร่องรอยเป็นตัวเมือง มีมูลดินถมเป็นกำแพงเมืองสามชั้นล้อมรอบเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่เศษ นอกจากนั้นยังมีสถานที่อื่น ๆ ทีมีชื่อพ้องกับเรื่องพระลออีกหลายแห่ง เช่น มีแม่น้ำ กาหลง เด่นนางฟ้อน ถ้ำปู่เขาสมิงพราย เป็นต้น และนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ พระธาตุพระลอ อยู่ห่างจากเมืองสองออกไปทางทิศเหนือ ที่เชื่อกันว่าก็มีเรื่องราวเกี่ยวพันกับเรื่องพระลอ จนทางจังหวัดได้จัดสร้างรูปปั้นพระลอ พระเพื่อน พระแพง ขึ้นไว้ในบริเวณวัดด้วยเช่นกัน
เรื่องพระลอเริ่มต้นขึ้นด้วยสงครามระหว่างสองเมือง คือเมืองสรวงของท้าวแมนสรวง และเมืองสรองของท้าวพิมพิสาคร ผลของการสงครามทำให้เมืองทั้งสองกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาต พระลอซึ่งภายหลังได้เป็นเจ้าเมืองสรอง เป็นชายหนุ่มรูปงาม ที่ความงามของพระองค์ได้รับการขับขานเป็นบทเพลงสรรเสริญที่ขจรขจายไปจนถึงหูของ พระเพื่อน พระแพง สองราชธิดาสาวของเมืองสรองด้วยวิบากกรรมแต่หนหลังทำให้สองพระธิดาเกิดมีใจปฏิพัทธ์ในพระลอทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยพบ จึงร่วมกับพี่เลี้ยงวางแผนให้กวีแต่งบทสรรเสริญความงามของทั้งสองออกขับขานไปบ้าง พร้อมกันนั้นพระพี่เลี้ยงของสองธิดายังไปขอความช่วยเหลือปู่เจ้าสมิงพราย ผู้วิเศษประจำเมือง ให้ใช้เวทมนตร์เรียกพระลอมาหา ด้วยอิทธิอำนาจแห่งปู่เจ้าสมิงพราย พระลอมิอาจทานอำนาจมนตร์อยู่ได้ แม้จะถูกทัดทานด้วยความรักจากทั้งแม่และเมีย ต้องเสด็จมายังเมืองสรองพร้อมด้วยนายแก้ว นายขวัญ สองพี่เลี้ยงระหว่างทาง พระลอเสด็จลงเสี่ยงน้ำที่แม่น้ำกาหลงผลการเสี่ยงบอกว่าพระลออาจต้องเสียพระชนม์หากยังเสด็จไป แต่กระนั้นด้วยความมานะ และอำนาจมนตร์แห่งปู่เจ้าสมิงพราย พระลอก็ยังคงเสด็จมุ่งหน้าไปยังเมืองสรองต่อไป
และในที่สุด พระลอก็สามารถเสด็จเข้าไปจนถึงสวนขวัญ อุทยานหลวงของเมืองสรองได้สำเร็จ ด้วยการชักนำของไก่แก้วที่ปู้เจ้าสมิงพรายเสกมา และพระเพื่อน พระแพง ก็ได้พบกับพระลอรักกัน และเป็นของกันและกันด้วยผลแห่งวิบากกรรมแต่หลังจากที่มีความสุขกันอย่างลับ ๆ ไม่นาน ความก็ทราบไปถึงพระราชบิดาแห่งพระเพื่อน พระแพง
พระองค์เสด็จมาลอบดูด้วยตนเอง ครั้นเห็นความงานสง่าของพระลอเข้าก็นึกรักและให้อภัยจึงเสด็จกลับ แต่พระเจ้าย่าของพระเพื่อน พระแพง ผู้ซึ่งสูญเสียสามีสุดที่รักไปในการสงครามกับเมืองสรวงกลับไม่ยอม พระเจ้าย่าส่งทหารเข้ามาล้อมสวนขวัญ พระลอ พระเพื่อน พระแพง ต่อสู้จนถูกลูกธนูที่ยิงมาดังห่าฝนติดเต็มร่าง ยืนตายอยู่เคียงกันในที่สุด
เมื่อพระราชบิดาของพระเพื่อน พระแพง ทรงทราบเรื่องจึงสั่งให้ประหารชีวิตพระเจ้าย่าเสียแล้วจึงส่งสารไปยังเมืองสรวง ทั้งสองเมืองจัดการพระศพของพระลอ พระเพื่อน พระแพง แล้วจึงสร้างเจดีย์เล็ก ๆ ขึ้น จากนั้นเมืองทั้งสองจึงคืนสู่ความเป็นไมตรีกันสืบมา
หากท่านผู้อ่านได้อ่านเรื่องพระลอตั้งแต่ต้นจนจบ ก็จะพบว่าเรื่องพระลอนั้นมิใช่เป็นเพียงเรื่องราวความรักของคนหนุ่มสาวเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเรื่องราวความรักของแม่กับลูก สามีกับภรรยา นายกับบ่าว ที่เจือปนไปด้วยเสียสละ เวทมนตร์อาถรรพ์ ความสนุกสนานตื่นเต้น ความทุกข์ยากความจากพราก อันล้วนเป็นเรื่องราวที่ซาบซึ้งตรึงใจตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งเมื่อรวมเข้ากับรูปแบบ การประพันธ์ด้วยสำนวนโวหารอันไพเราะสละสลวย จนถึงขนาดเป็นยอดแห่งวรรณคดีประเภทลิลิตแล้วพระลอจึงเป็นเรื่องที่น่าอ่านชวนติดตามยิ่งเล่มหนึ่ง
ที่มาสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่
http://www.youtube.com/v/WKv88plcuY0?version=3&hl=th_TH
|