กำวิธีการสร้างเสื้อยันต์
ครั้นเมื่อหลวงพ่อคงเสร็จเรื่องราวเกี่ยวกับศิษย์ผู้กลายเป็นเสือแล้ว ท่านก็ปรารภกับกรรมการวัดตลอดจนกำนันผู้ใหญ่บ้านว่า จะเลิกสร้างเสื้อยันต์เพราะหากตกอยู่กับมือคนร้ายใจอกุศลแล้วละก็ จะลำบากในการปราบปรามเป็นอันมาก แต่บรรดาคนเหล่านั้นตลอดจนศิษย์รุ่นใหญ่ได้กราบขอร้องว่า หากไม่สร้างแล้วศิษย์รุ่นหลังจะเสียใจ ขอให้ได้เลือกผู้ที่จะประสิทธิ์ให้ก็แล้วกัน หลวงพ่อจึงมีข้อแม้ว่า ใครจะให้ท่านสร้างเสื้อยันต์นี้ให้จะต้องสาบานตนและเข้าพิธีทำสัตย์ปฏิญาณตนกับท่าน ว่าจะไม่เอาไปใช้ในทางที่ไม่ดีหากผิดคำสาบานให้มีอันเป็นไปต่างๆนานา ถึงแก่ความตายด้วยความน่าสะพรึงกลัวเสื้อยันต์วิรุนจำบังจึงได้รับการสร้างสืบต่อมา ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
1.ผู้ที่ต้องการเสื้อจะต้องเข้าไปกราบขอกับท่านด้วยตัวเองพร้อมทำพิธีสาบานให้เรียบร้อย ท่านอนุญาตให้แล้วจึงให้ไปทำเสื้อมาให้ท่าน
2.ให้ไปว่าจ้างช่างตัดเสื้อทำเสื้อกั๊กไม่มีแขน เม็ดกระดุม 5 เม็ด ตามขนาดตัวผู้เป็นเจ้าของ ด้านนอกทำด้วยผ้าสีดำ ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นผ้าสักหลาด ส่วนด้านในให้บุซับในด้วยผ้าต่วนสีขาวหรือผ้าขาวให้เรียบร้อย
3.เมื่อได้เสื้อกั๊กมาแล้วก็ให้นำมามอบให้ท่านเพื่อทำพิธีลงเลขยันต์ ท่านจะหาฤกษ์หายามดีตามกรรมวิธีของท่าน กล่าวกันว่าครั้งหนึ่งๆจะมีเสื้อเป็นจำนวนนับสิบๆตัว รอให้หลวงพ่อลงท่านจะลงด้วยหมึกจีนสีดำด้านในเสื้อเป็นอักขระว่า
นะโมพุทธายะ พระเจ้าห้าพระองค์
จะภะกะสะ หัวใจกรณี
อะสังวิสุโลปุสะภุพะ นวหรคุณหรือพระพุทธคุณนามเก้า
กะระมะทะ หัวใจสี่เกลอ
อิติอุนินะมามิหัง หัวใจคุ้มครองป้องกันสารพัด
เสริมด้วยนะปิดล้อม มหาอุดและกำบังตา
การวางยันต์ของท่านสวยงามมากและมีตำแหน่งที่ไม่ค่อยจะคงที่นัก คงจะเนื่องด้วยความสะดวกในการลงของท่านนั่นเอง เมื่อเกิดมหาสงครามโลกครั้งที่สอง เสื้อยันต์ของท่านก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ท่านได้ครอบให้ศิษย์ช่วยกันลงเพื่อความรวดเร็ว และได้เพิ่มยันต์เกราะแก้วว่า พุทธัง เพชรคงคัง อิมังพันธนังอธิษฐานมิ เข้าไปด้วย ท่านบอกว่าเพื่อกันระเบิด
เมื่อท่านลงได้ครบสูตรสำเร็จแล้วจะทำพิธีสอดกระดุมด้วยการกลัดกระดุมจากเม็ดล่างไปหาเม็ดบนภาวนาไปทีละเม็ดๆจนถึงเม็ดบนสุดจึงจะว่า คาถามหากำบังแล้วกลัดกระดุมเข้าที่นำมาปลุกเสกรวมอีกทีหนึ่ง เพื่อป้องกันการสับสนท่านได้ให้เจ้าของเสื้อใช้ดินสอดำเขียนชื่อของตนเอาไว้ด้วย