วัตถุมงคล"ครูบาศรีวิชัย" เพื่ออนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่
วัดพระธาตุดอยกู่ คณะสงฆ์อำเภอดอยสะเก็ด
คณะสงฆ์เชียงใหม่ ศิษยานุศิษย์และคณะศรัทธา
พร้อมใจกันจัด "โครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยในอิริยาบถยืนมองดูเมืองเชียงใหม่" ขนาดความสูง 18 เมตร รวมทั้งฐานสูง 27.99 เมตร ประดิษฐาน ณ บริเวณวัดพระธาตุดอยกู่ ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
ในการนี้ จึงจัดสร้าง "วัตถุมงคล รุ่นพุทธบารมี" ออกให้ร่วมบุญบูชาเพื่อเป็นการระดมทุนก่อสร้างและเปิดโอกาสให้ผู้เลื่อมใสศรัทธาในครูบาศรีวิชัยได้ร่วมสร้างบุญใหญ่ในครั้งนี้
กล่าวสำหรับ "ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย" ท่านเป็นพระอริยสงฆ์ที่รู้จักกันทั่วไป โดยเฉพาะในดินแดนล้านนาว่าเป็น "ตนบุญ" หรือ "นักบุญ" มีความหมายเชิงยกย่องว่าเป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ
ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้ที่มีศีลาจารวัตรงดงามและเคร่งครัด โดยที่ท่านงดการเสพหมาก เมี่ยง บุหรี่โดยสิ้นเชิง อีกทั้งงดฉันเนื้อสัตว์เมื่ออายุ 26 ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ท่านมีธรรมเนียมที่ยึดถือคือ การนุ่งห่มที่เรียกว่า กุมผ้าแบบรัดอก สวมหมวก แขวนลูกประคำ ถือไม้เท้าและพัด ทั้งนี้ ท่านมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมีที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า "ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว" และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าวในตอนท้ายของคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง ตลอดชีวิตของท่าน ไม่ว่าเดินทางไปหนแห่งใดก็มีศรัทธาสาธุชนเคารพศรัทธา จากที่ได้ธุดงค์ไปทั่วแผ่นดินล้านนาได้พบเห็นโบราณสถาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเก่าแก่ทรุดโทรมลงเป็นอันมาก จึงได้ร่วมกับศรัทธาสาธุชนบูรณปฏิสังขรณ์ ซ่อมแซมวัดวาอาราม โบราณสถานทั่วแผ่นดินล้านนาไว้มากมาย ทั้งนี้ ผลงานชิ้นอมตะที่สร้างชื่อเสียงก็คือ การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ที่มีศรัทธาสาธุชนมาร่วมสร้างถนนวันละไม่ต่ำกว่า 5,000 คน แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนตามสัจจะวาจา ตรงกับปี พ.ศ.2478
ครูบาศรีวิชัย มรณภาพเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2481 ที่วัดบ้านปาง สิริอายุ 60 ปี ตั้งศพไว้ที่วัดแห่งนี้เป็นเวลา 1 ปี ก่อนเคลื่อนศพมาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวี และจัดงานพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2489 อัฐิธาตุของท่านที่เจ้าหน้าที่รวบรวมได้ถูกแบ่งออกเป็น 7 ส่วน นำไปบรรจุตามสถานที่ต่างๆ ทั่วแผ่นดินล้านนา
นอกจากนี้ ยังได้มีการแบ่งอัฐิธาตุส่วนต่างๆ ไปบรรจุตามวัดที่มีความเกี่ยวพันกับท่าน หนึ่งในนั้นคือ วัดพระธาตุดอยกู่ (ศรีวิชัย) หมู่ที่ 1 ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งครูบาศรีวิชัยได้รับอาราธนามาช่วยบูรณะซ่อมแซมพระธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่ชำรุดทรุดโทรม เมื่อปี 2474 โดยการสร้างองค์พระบรมธาตุเจดีย์ใหม่ครอบ (ก๋วม) องค์เดิม ใช้เวลาเพียง 15 วันก็แล้วเสร็จ และให้ชื่อว่า "พระบรมธาตุศรีวิชัย"
โดยท่านได้แนะนำให้ศรัทธาประชาชนร่วมกันทำบุญสรงน้ำพระธาตุในวันเดือน 8 เหนือ แรม 8 ค่ำ (เดือน 6 แรม 8 ค่ำ) สืบทอดเป็นประเพณีสรงน้ำพระธาตุประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน เมื่อท่านมรณภาพวัดพระธาตุดอยกู่ได้รับอัฐิธาตุส่วนนิ้วมือ จึงนำมาบรรจุไว้ในกู่อัฐิธาตุครูบาเจ้าศรีวิชัย
สำหรับวัตถุมงคลที่จัดสร้างขึ้นในครั้งนี้ กำหนดพิธีมหาพุทธาภิเษกครั้งประวัติศาสตร์ 9 วาระ ณ 9 พระอารามศักดิ์สิทธิ์แห่งอาณาจักรล้านนาคือ
ครั้งที่ 1 วันที่ 14 พ.ค.2553 วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน
ครั้งที่ 2 วันที่ 20 พ.ค.2553 วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง
ครั้งที่ 3 วันที่ 8 มิ.ย.2553 วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
ครั้งที่ 4 วันที่ 14 มิ.ย.2553 วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
ครั้งที่ 5 วันที่ 22 มิ.ย.2553 วัดศรีโคมคำ จ.พะ เยา
ครั้งที่ 6 วันที่ 30 มิ.ย. 2553 วัดพระแก้ว จ.เชียงราย
ครั้งที่ 7 วันที่ 10 ก.ค. 2553 วัดพระธาตุดอยกองมู จ.แม่ ฮ่องสอน
ครั้งที่ 8 วันที่ 20 ก.ค.2553 วัดมณีบรรพตวรวิหาร จ.ตาก
ครั้งที่ 9 วันที่ 28 ก.ค.2553 วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
แต่ละพิธีได้นิมนต์สุดยอดพระดังแห่งเมืองล้านนา ทั้งระดับพระมหาเถระ พระเถระ พระเกจิอาจารย์ พระคณาจารย์ ครูบา พระวิปัสสนาจารย์สายป่า ร่วมกันอธิษฐานจิตปลุกเสก
วัตถุมงคลรุ่นพุทธบารมี รวมวัตถุมงคลดีที่บวงสรวงขอบารมีครูบาศรีวิชัยอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะรูปแบบของเหรียญย้อนยุค พิมพ์นิยมปี 2482 นับว่า ย้อนยุคได้งดงามและเหมือนของเดิมไม่ผิดเพี้ยน ซึ่งเหรียญพิมพ์นี้วงการพระนิยมเรียกกันว่า "เหรียญตาย" สร้างภายหลังจากท่านมรณภาพ แต่มีราคาค่านิยมสูงในวงการพระเครื่องเมืองไทย
สอบถามสั่งจองได้ที่สำนักงานสัสดีจังหวัด 9 จังหวัด โทร.0-5386-5911, 08-4481-7601, 08-9682-6665
|