พระล้านนาดอทคอม แหล่งรวมพระเครื่องเมืองเหนือ
โชว์พระเกจิอาจารย์ล้านนา

เสื้อยันต์ รุ่นแรก และรุ่นเดียวของครูบาอิน


เสื้อยันต์ รุ่นแรก และรุ่นเดียวของครูบาอิน


เสื้อยันต์ รุ่นแรก และรุ่นเดียวของครูบาอิน

   
 

เสื้อยันต์ รุ่นแรก และรุ่นเดียวของหลวงปู่ครูบาอิน อินฺโท ครูบาฟ้าหลั่ง

หลวงปู่ครูบาอิน ท่านมีญาติ (มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้อง แต่คนเหนือเรานิยมเรียกว่าเป็นหลาน)
ของท่านอยู่คนหนึ่ง  ชื่อว่า พ่อหนานจันทร์ ไจยสิทธิ์
โดยที่พ่อหนานจันทร์จะเป็นผู้ที่คอยลงตะกรุด เขียนยันต์ต่างๆ ถวายครูบาอิน
ให้ท่านปลุกเสก ก่อนจะนำออกแจกจ่าย หรือให้บูชา
พ่อหนานจันทร์ ถือได้ว่าเป็นลูกศิษย์ (ฆาราวาส) ที่ได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาจากหลวงปู่มากที่สุด
ท่านทำหน้าที่เขียนยันต์ ลงตะกรุดให้หลวงปู่ตราบจนถึงแก่กรรมไปเมื่อหลายปีก่อน
ก่อนที่หลวงปู่ท่านจะละสังขารเสียอีกครับ

ในยุคนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ลงตะกรุดจะมีอยู่ สองสามท่าน
คือพ่อหนานจันทร์ พระอาจารย์ไพบูลย์ (ท่านพิณ) พระอุปัฏฐากหลวงปู่ที่วัดฟ้าหลั่ง
พระอาจารย์พรชัย (พระครูป๋า) เจ้าอาวาสวัดทุ่งปุย
และพระอาจารย์อินทร ลูกศิษย์ที่หลวงปู่บวชให้ และส่งไปสร้างวัดใหม่หนองหอย ตั้งแต่เมื่อยังเป็นเณร
หลักๆ ก็จะมีสามท่านนี้ครับ
ส่วนวัตถุมงคล “เฉพาะกิจ” อื่นๆ ที่จัดสร้างกันเองในหมู่ลูกศิษย์
ก็อาจจะมีบรรดาพระเณรที่หลวงปู่เคยสอนให้เป็นผู้ลงอักขระ
ส่วนใหญ่ทำน้อย แค่สองสามชิ้น แบ่งกันเฉพาะลูกศิษย์เท่านั้นครับ

พ่อหนานจันทร์ น่าจะเป็นผู้ที่ทำวัตถุมงคลถวายหลวงปู่มากที่สุด
อย่างเช่นผ้ายันทร์จั๊กกิ้มล้อมโลก (ยันต์จิ้งจก) พ่อหนานจันทร์ก็เป็นผู้ลงอักขระ
ตั้งแต่ยุคต้นๆ มาจนถึงรุ่นสุดท้ายเมื่อปี ๒๕๔๕ ตอนฉลองอายุ ๑๐๐ ปีหลวงปู่
เมื่อลงอักขระ และจัดพิมพ์เป็นผ้ายันต์ให้หลวงปู่ปลุกเสกแล้ว
หลวงปู่มักจะมอบให้พ่อหนานจันทร์จำนวนหนึ่งเสมอ
เพราะเมื่อตอนที่พ่อหนานจันทร์ยังมีชีวิตอยู่
ก็มักจะมีผู้คนแวะเวียนไปขอให้พ่อหนานจันทร์ “ทำของ” ให้บ่อยๆ
ของในที่นี้ หมายถึงวิชาที่ไม่เหมาะกับพระสงฆ์ เป็นผู้ทำ
หลวงปู่ก็จะแนะนำให้ไปขอความช่วยเหลือจากพ่อหนานจันทร์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดทุ่งปุย
บางครั้งพ่อหนานจันทร์ ก็เอาผ้ายันต์ ตะกรุด เหล่านี้ แจกให้ผู้มาขอความช่วยเหลือไปบ้าง
แบ่งให้บูชาทำบุญไปบ้าง

จนกระทั่งพ่อหนานจันทร์ถึงแก่กรรมไป แม่อุ๊ยดีภรรยาของพ่อหนานจันทร์
ก็เก็บรักษาวัตถุมงคลที่เหลืออยู่ไว้เป็นอย่างดี
พอทราบว่าพระอาจารย์อินทร ท่านกำลังสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ครูบาอิน
แม่อุ๊ยดี (พร้อมทั้งลูกหลานของพ่อหนานจันทร์) ก็นำเอาผ้ายันต์เหล่านี้มาถวายให้
เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาของหลวงปู่ครูบาอินได้บูชา สมทบทุนสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์

จึงเป็นการ "แตกกรุ" วัตถุมงคลประเภท เสื้อยันต์ และผ้ายันต์ อีกครั้งหนึ่ง

วัตถุมงคลที่ว่านั้น มีอะไรบ้าง
เริ่มกันที่ “เสื้อยันต์” รุ่นแรกและรุ่นเดียวของหลวงปู่ครูบาอินครับ
เสื้อยันต์หลวงปู่ ฝีมือการวาดภาพและลงอักขระ แน่นอนว่าคงไม่พ้นพ่อหนานจันทร์
สร้างขึ้นเมื่อครั้งหลวงปู่มีอายุครบ ๑๐๐ ปี พ.ศ.๒๕๔๕
อันที่จริงสร้างก่อนหน้านั้น หลายเดือน (ปลายปี ๒๕๔๔) หลวงปู่เมตตาอธิษฐานจิตเดี่ยวหลายครั้ง
ก่อนนำเข้าพิธีพุทธาภิเษกใหญ่ ในวาระมงคลสืบชะตาหลวง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๕
พร้อมๆ กับผ้ายันต์กุณพระเจ้า และผ้ายันต์จั๊กกิ้มล้อมโลก
หลังเสร็จพิธีจึงได้นำออกแจกจ่าย ให้ผู้มาร่วมงานบูชากันไป
ส่วนที่เหลือก็ออกให้บูชาเรื่อยมา และมาหมดเอาตอนงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ
จำได้ว่าตอนนั้นทางวัดทุ่งปุยออกให้บูชาผืนละห้าร้อยกว่าบาท
ลูกศิษย์ลูกหาที่มาร่วมงานกันคับคั่ง แย่งกันบูชาไปจนหมดตั้งแต่งานวันแรกๆ
วันสุดท้ายของงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ วัตถุมงคลแทบหมดตู้
และก็เพราะเงินบูชาวัตถุมงคลส่วนนี้ด้วย ที่สามารถนำมาซื้อที่ดินติดวัด
ที่ใช้สร้างกุฏิให้หลวงปู่ ซึ่งตอนสร้างเจ้าของที่ได้อนุโมทนาออกปากว่าจะขายให้ถูกๆ
ให้สร้างกุฏิไปก่อนเลย ทางวัดมีเงินเมื่อไหร่ค่อยเอามาให้...
แล้วก็เป็นเงินบูชาวัตถุมงคลนี้ สมทบกับเงินที่มีผู้ร่วมทำบุญบริจาค
สามารถซื้อที่ดินให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์

 
     
โดย : เทพวรารักษ์   [Feedback +0 -0] [+0 -0]   Tue 1, Jun 2010 10:32:52
 








 

ผ้ายันต์นางกวักและผ้ายันต์พรหมสี่หน้าสร้างมาแล้วนานมากครับ
ตั้งแต่เมื่อครั้งหลวงปู่ยังจำพรรษาอยู่ที่วัดฟ้าหลั่ง ประมาณปี ๓๐ กว่าๆ
ผ้ายันต์นี้หมดไปจากวัดนานมากแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้ายันต์นางกวัก เป็นผ้ายันต์ที่ขึ้นชื่อมาก
เพราะลูกศิษย์ลูกหาที่ทำมาค้าขาย หรือร้านค้าต่างๆ ระแวกนั้น
มีติดร้าน ติดบ้านกัน ถ้วนหน้า และมีคำบอกเล่าถึงการทำมาค้าขึ้น มาเล่าสู่กันฟังอยู่เสมอๆ

ส่วนผ้ายันต์พรหมสี่หน้า มีอักขระ ที่เป็นคาถา ที่หลวงปู่จะใช้สอนลูกศิษย์ (พระสงฆ์)
ลูกศิษย์ยุคเก่าๆ ที่ทันได้เรียนกับท่าน (หลังๆ ท่านอ่อนแรงตามอายุขัย เลยไม่ค่อยได้สอน)
น่าจะจดจำคาถาบทนี้กันได้

ประเด็นนี้พระอาจารย์อินทร ท่านกล่าวยืนยันตรงกับท่านพระครูป๋า ว่า
หลวงปู่เคยสอนให้เอาไว้ใช้โปรดญาติโยมอยู่เป็นประจำ... คาถามีอยู่ว่า

“ถานังธะนังสะเหน่ห์หัง อาคะโตสัพพะสะเหน่ห์หัง
อัทธังสวาหูม โอมสุวัณณะพรหมมารัตตังสิเหน่ห์หัง สะตังมะมะ
นะพรหมมารัตตังอิตถียังหะสัตถัง โอมสวาหูมติด”

เป็นคาถาด้านเมตตา เอาไปใช้ได้ครับ...

ส่วนอักขระคาถาอื่น ก็มีคาถาดอกไม้สวรรค์ คาถาเวสสุวัณ ผูกรวมกัน
ล้วนเป็นคาถาทางด้านเมตตามหานิยมทั้งสิ้นครับ
สรุปความว่า หากปรารถนาทางด้านเมตตามหานิยม ทำมาค้าขาย

พูดเรื่องผ้ายันต์พรหมสี่หน้าแล้วผมนึกได้
หลังจากหลวงปู่ย้ายมาอยู่ที่วัดทุ่งปุยได้พักหนึ่ง
ทางวัดก็ได้จัดสร้างผ้ายันต์พรหมสี่หน้าแบบ “ย้อนยุค” ขึ้นมาครั้งหนึ่ง
อักขระเดียวกัน แต่รูปภาพ และอักขระ จะเป็นระเบียบเรียบร้อย มากกว่ารุ่นเก่า
ที่คงความสวยคลาสสิคแบบเดิมๆ ไว้ อีกอย่างผ้ายันต์รุ่นใหม่ที่สร้างจะป็นสีเหลือง
ในขณะที่ผ้ายันต์ยุคต้นนี้จะเป็นสีแดง จึงไม่สับสนแน่นอนครับ

จำนวนการสร้าง ผ้ายันต์ไม่ได้บันทึกไว้ ผมจึงไม่สามารถนำมาแจ้งได้ครับ
ถามท่านพระครูป๋า เจ้าอาวาสวัดทุ่งปุย ท่านก็บอกว่าจำไม่ได้
แต่คาดว่าเสื้อยันต์น่าจะประมาณ ๓๐๐ ผืนเท่านั้น
เพราะต้องพิมพ์ผ้าผืนใหญ่แล้วนำมาตัดเป็นเสื้อ เย็บสายผูกข้างลำตัว
เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลาพอสมควร จึงทำได้ไม่มากนัก

ท่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามได้ที่
พระครูสังวรยติกิจ (พระอาจารย์อินทร  จิตตสังวโร) เจ้าอาวาสวัดใหม่หนองหอย
หมู่ที่ ๖ ต.สันติสุข อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ๕๐๑๖๐
โทร. ๐๘-๑๙๙๒-๐๔๐๗ โทรสาร. ๐-๕๓๓๖-๗๙๗๑

 
โดย : เทพวรารักษ์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 1 ] Tue 1, Jun 2010 10:44:30

 
เสื้อยันต์ รุ่นแรก และรุ่นเดียวของครูบาอิน : พระล้านนา.คอม เว็บ พระเครื่อง พระบูชา อันดับหนึ่ง ของภาคเหนือ ออกแบบเว็บไซต์โดย 2WinWeb design บริการรับทำเว็บไซต์
Copyright Pralanna.com All right reserved. © สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดย บริษัท พระล้านนาดอทคอม จำกัด.