อู้ได้ซะป๊ะเรื่อง
"สวดพระ" เซียน...มีสิทธิ์กระอักเลือด !
คมชัดลึก :
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตฌช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) อธิบายความหมายไว้ในพจนานุกรม เพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ชุด "คำวัด" ได้ให้ความหมายของคำว่า "สวด" หมายถึง การว่าออกเสียงเป็นทำนอง, การว่าบทมนต์โดยออกเสียงที่เป็นภาษาบาลี อันมีมาในพระไตรปิฎกบ้าง แต่งขึ้นภายหลังโดยพระเถระผู้เป็นนักปราชญ์บ้าง เช่น เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน โดยเรียกรวมว่า สวดมนต์
ส่วน "สวด" ในคำไทยมักใช้เป็นสำนวนพูดในความหมายว่า นินทา บ่นว่า ดุด่า ว่ากล่าวตักเตือน เช่นใช้ว่า "วันนี้แต่งตัวไปโรงเรียนไม่เรียบร้อยเลย โดนครูสวดเสียพักใหญ่"
นอกจากนี้แล้ว สวดมีการแยกเรียกพิเศษต่างหาก คือ ถ้าสวดมนต์ในงานที่เป็นมงคล เรียกว่า เจริญพระพุทธมนต์ ในงานอวมงคล คือ งานที่เกี่ยวกับการตาย เรียกว่า สวดพระพุทธมนต์
ในขณะที่วงการพระเครื่อง ก็มีการใช้คำว่า "สวด" เช่นกัน แต่กลับมีความหมายไปอีกมุมหนึ่ง คือ "ใส่ร้ายคนอื่นว่า เป็นพระดูยาก" หรือว่า "เป็นพระเก๊ พระปลอม" นั่นเอง
การสวดพระในวงการเช่าซื้อพระเครื่องเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เซียนพระบางคนตั้งป้อมสวดพระของคนอื่น ทั้งๆ ที่ยังไม่เห็นองค์พระ
ในขณะที่เซียนพระหลายคน ไม่กินเส้นกัน หากใครไปเช่าก็จะสวดส่ง เพื่อทำลายเครดิตนอกจากนี้แล้ว เซียนพระจำนวนไม่น้อย สุ่มสวดเอาดื้อๆ โดยไม่มีความรู้เรื่องพระเครื่อรุ่นนั้นๆ เลย ประเด็นปัญหาที่ตามมา คือ เมื่อเร็วๆ นี้ เซียนพระกริ่งดันไปสวดพระเนื้อผง ผลที่ตามมา คือ
"เซียนคนดังกล่าวถึงกับกระอักเลือดเลยทีเดียว!"
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น ระหว่างเจ้าของพระ กับความเห็นของเซียนพระ ในวงการพระเครื่องจึงมีภาษาที่บัญญัติขึ้นเฉพาะ
คำศัพท์เหล่านี้ เป็นการพูดเล่นๆ กันก่อน จากนั้นก็พูดต่อๆ กันจนได้รับความนิยม โดยเฉพาะในหมวดของความหมายว่า "พระปลอม" มีมากที่สุด
และคำที่ถือว่า เก่าแก่ที่สุด คือ คำว่า ซาลูตู้ หมายถึง ใช้ไม่ได้ โง่ ไม่รู้เรื่อง หรือหมายถึง พระเก๊ คำนี้ปัจจุบันไม่ค่อยได้ยินพูดกัน
นอกจากนี้แล้ว ยังมีคำที่มีความหมายว่าพระปลอมอีกหลายคำ เช่น ชุกซัว ดุ๊ย พระไม่มีพุทธคุณ พระดูยาก ไม่ถึงยุค และไม่ถนัด
"เหตุผล ที่ต้องมีภาษาเซียนนั้น น่าจะเป็นการพูดเพื่อป้องกันความปลอดภัยของตัวเซียนพระ โดยเฉพาะในหมวดของคำที่เกี่ยวข้องกับ พระเก๊ หรือ พระปลอม จะมีการคิดคำแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้นมามากที่สุด การจะบอกว่า พระองค์ใดองค์หนึ่งว่าเป็น พระปลอม จะทำให้เจ้าของพระโกรธ เพราะพระบางองค์เจ้าของได้รับการสืบทอดมาจากรุ่นทวด แต่เจ้าของพระลืมไปว่า การปลอมพระมีกันมาตั้งแต่รุ่นทวดเช่นกัน"
นี่คือ ความเห็นของนายสมศักดิ์ ศกุนตนาฏ ผู้อำนวยการ สำนักพิมพ์คเณศ์พร และ ประธานชมรมนักข่าวและช่างภาพพระเครื่อง ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการทำหนังสือ พระเครื่องมาหลายสิบปี
พร้อมกันนี้ นายสมศักดิ์ ยังบอกด้วยว่า นอกจากภาษาเซียนแล้ว วงการพระยังมีภาษามือด้วย โดยจะใช้นิ้วชี้แล้วงอนิ้วลงมา ซึ่งหมายถึงพระเก๊นั่นเอง หรืออาจจะพูดว่าหงิก แต่ใช้มือเป็นสัญลักษณ์แทน
ภาษาเซียน เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัย เมื่อเซียนพระรุ่นก่อนๆ ตกยุคไป ภาษาเซียนก็จะตกยุคตามไปด้วย เช่น คำว่า ซาลูตู้ หมายถึง ใช้ไม่ได้ โง่ ไม่รู้เรื่อง หรือหมายถึง พระเก๊ คำนี้ปัจจุบันไม่ค่อยได้ยินพูดกัน แต่ก็มีหลายคำ ที่ยังถูกนำมาใช้กันในหมู่เซียนพระ
ทางด้าน นายนิพนธ์ เฮ็งเส็ง หรือ นุ เพชรรัตน์ เซียนพระรุ่นใหม่ บอกว่า นอกจากนักเลงพระรุ่นก่อนได้คิดภาษาเซียนแล้ว นักเลงพระยังตั้งบัญญัติ "อย่า ๑๐ ประการ" เป็นคำกลอนสอนเซียนด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันนี้ ถ้าเซียนพระคนใดยึดปฏิบัติ วงการพระเครื่องก็น่าจะมีการพัฒนามากกว่านี้
"บัญญัติ อย่า ๑๐ ประการ"
ที่ว่า คือ
"อย่า...ทำตนไถพระเขาฟรี อย่า...อวดดีอย่างคางคก
อย่า...ฟูมฟกเมื่อเจอพระเก๊ อย่า...ทำเก๋ชักดาบเขา
อย่า...มัวเมาเล่นจนหลง อย่า...พะวงพระลาวตกรถ
อย่า...ใจคดทุบหม้อข้าว อย่า...เช่าพระใกล้พลบค่ำ
อย่า...ลูบคลำพระถูเหงื่อ อย่า...เชื่อหูแต่จงเชื่อตา"
การสวดอย่างมีเชิง...
พระปลอม หรือ เก๊ ซึ่งส่วนใหญ่เซียนพระ จะใช้พูดเพื่อรักษาน้ำใจเจ้าของพระ เซียนพระบางท่านอาจจะใช้ คำว่า "อายุไม่ถึง" ในขณะที่บางคนอาจจะใช้คำว่า "ไม่ถนัด" อย่างกับกรณีของ พยัพ คำพันธุ์ นายกสมาคมพระเครื่องและพระบูชาไทย นายพิศาล เตชะวิภาค หรือ ต้อย เมืองนนท์ อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยคนที่ ๑ หรือแม้กระทั่ง นายกิติ ธรรมจรัส หรือ กวง ท่าพระจันทร์ อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยท่านที่ ๒ รวมทั้งเซียนพระชุดเบญจภาคีท่านอื่นๆ เมื่อใครนำพระสมเด็จ รวมทั้งพระองค์อื่นในชุดเบญจภาคีมาให้ดู อย่างกรณีพระสมเด็จกรุขุนอินทรประมูล บุคคลเหล่านี้จะใช้คำว่า "อายุไม่ถึง" หรือ "ไม่ทันสมเด็จโตสร้าง"
แต่ถ้าเป็นคนกันเอง ที่รู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี บุคคลเหล่านี้ก็จะตอบแบบฟันธงกันตรงๆ
ต้อย เมืองนนท์ บอกว่า การจะบอกว่า พระชุดเบญจภาคีของใครคนใดคนหนึ่งนั้นว่า เป็นพระแท้หรือพระปลอมนั้นต่างกันมาก เพราะใครๆ ก็อยากได้ยินคำตอบว่า พระชุดเบญจะที่ให้ดูนั้นเป็นของแท้ เพราะฉะนั้น หมายถึงราคาที่เช่าหาจะสูงตามไปด้วย
แต่ถ้าตอบว่าเป็นพระปลอม พระที่เช่ามาในราคาหลักล้าน อาจจะเหลือเพียงหลักสิบเท่านั้น ทุกครั้งที่เห็นว่า เป็นพระปลอมจะใช้คำว่า อายุไม่ถึง เนื้อไม่ถูกต้อง หรือ พิมพ์ทรงไม่ใช่
อย่างกรณีพระที่มีลักษณะคล้ายกับสมเด็จวัดระฆัง ที่เชื่อว่าทุกวัดมีการสร้างขึ้นมา พระที่สร้างมาและออกโดยระบุว่าวัดหรือพระรูปใดสร้างนั้น ถือว่าเป็นพระสมเด็จของแท้ แต่ถ้ามาบอกว่า เป็นพระที่สมเด็จโตสร้างนั้น จะกลายเป็นพระปลอมไปทันที
ในขณะที่ นายวันชัย สอนมีทอง ประธานฝ่ายประสานงานด้านสื่อมวลชน ของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย แนะนำว่า เพื่อหาข้อยุติว่า พระที่อยู่ในความครอบครองนั้นเป็นของแท้หรือปลอม มีใบประกาศนียบัตร หรือที่เรียกกันว่า ใบเซอร์พระ (Certificate) ถือเป็นใบรับรองพระแท้ ที่สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ออกให้พระแต่ละองค์ ที่ให้ทางสมาคมพิจารณา ทั้งนี้ได้รับความเชื่อถือจากวงการพระโดยทั่วไปมากกว่า ใบประกาศนียบัตรจากงานประกวดพระ
ประเภทพระที่จะเปิดรับการตรวจสอบ (พระแท้ พระปลอม) ได้แก่ พระชุดเบญจภาคี ทุกพิมพ์ พระเนื้อดิน พระเนื้อผง พระเนื้อชิน ฯลฯ โดยมีค่าบริการองค์ละ ๕๐๐ บาท สำหรับพระชุดเบญจภาคี และ ๓๐๐ บาท สำหรับพระเนื้อดิน ทั้งนี้จะมีการออกใบเซอร์พระอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง โดยครั้งล่าสุดออกไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
"การจะบอกว่า พระองค์ใดองค์หนึ่งว่าเป็น พระปลอม จะทำให้เจ้าของพระโกรธ เพราะพระบางองค์เจ้าของได้รับการสืบทอดมาจากรุ่นทวด แต่เจ้าของพระลืมไปว่า การปลอมพระมีกันมาตั้งแต่รุ่นทวดเช่นกัน"
เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"
หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
โดย :
กันต์ห้าแยก
[
Feedback
+21
-0
] [
+1
-0
]
Tue 10, Nov 2009 20:40:29
โดย :
โต้งพะเยา
[
Feedback
+6
-0
] [
+1
-0
]
[ 1 ] Fri 20, Nov 2009 09:04:38
"สวดพระ" เซียน...มีสิทธิ์กระอักเลือด ! : พระล้านนา.คอม เว็บ พระเครื่อง พระบูชา อันดับหนึ่ง ของภาคเหนือ
ออกแบบเว็บไซต์โดย 2WinWeb design บริการรับทำเว็บไซต์
www.Stats.in.th
Copyright
Pralanna.com
All right reserved. © สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดย
บริษัท พระล้านนาดอทคอม จำกัด
.